กระเพื่อมสุดแรงหลังปรับ “คณะรัฐมนตรี” ในรัฐบาล “เศรษฐา 1/1” มา 2 สัปดาห์ ทั้งพรรคแกนนำหลักอย่างเพื่อไทยและพรรคร่วม พบมีรัฐมนตรีลาออกต่อเนื่อง เบอร์ 1 ที่ไร้วี่แววมาก่อน คือ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ลาออกจากตำแหน่ง “รมว.ต่างประเทศ” หลุดเก้าอี้ รองนายกฯ
ต่อมา เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง ก็ยื่นลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งมีผลในทันที แม้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะรั้งไว้ โดยให้เวลาไปคิด 1 คืน แต่ในที่สุด นายกฤษฎา พ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย ล่าสุดมีข่าวจ่อลาออกพ้นจากจากสมาชิก พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ภายในสัปดาห์นี้
ก่อนหน้าที่เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค รทสช. ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไปแล้ว
การลาออกจากตำแหน่งของนายกฤษฎา ตามนายสุพัฒนพงษ์ ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย เพราะนายกฤษฎา ถือว่าเป็นอดีตลูกหม้อของกระทรวงการคลัง มีความรู้ ความสามารถ เพราะเป็นถึงอดีตปลัดกระทรวงการคลังนอกจากนี้ยังมีความสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจกับกลุ่มทุนของพรรครวมไทยสร้างชาติในยุครัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น
ด้าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช. ตอบประเด็นนายกฤษฎา จะลาออกจากสมาชิกพรรค ว่า ไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้พูดคุยกัน ได้แต่ให้กำลังใจ เพราะรู้สึกว่าเสียดายบุคคลที่มีประสบการณ์ แต่หากจะลาออกจริงก็ถือเป็นสิทธิของท่านที่จะลาออกแล้วไปทำประโยชน์ให้กับสังคมในที่อื่น ๆ
พลิกปูม “กฤษฎา จีนะวิจารณะ “
หากเปิดดูประวัติ และประสบการณ์การทำงานของ นายกฤษฎา เป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลัง และผ่านงานในกระทรวงนี้มา “หลายกรม-หลายสำนัก” แล้วด้วย แต่เมื่อเป็นรัฐมนตรี กลับได้รับมอบหมายให้กำกับ ดูแล สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพียงสำนักเดียว จากเดิมใน “ครม.เศรษฐา 1” ปี 2566 ซึ่งเคยกำกับ-ดูแล ( 2 กรมกับ 1 สำนักงาน)
นายกฤษฎา เกิดเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2506 (ปัจจุบัน 2567 อายุ 61 ปี) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ ระดับปริญญาโท MBA จาก มหาวิทยาลัยนิวเฮเวน สหรัฐอเมริกา เคยสมรสกับ นางศิริมงคล โชติกเสถียร แต่ปัจจุบันหย่าขาดแล้ว
เมื่อจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา นายกฤษฎา เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง จนกระทั่งได้เป็น “รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง” ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน” (นายเศรษฐกร ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2554
ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ นายกฤษฎา ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง” แทนนายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร เมื่อปี 2557 จากนั้นในวันที่ 1 ต.ค.2560 มีการแต่งตั้ง นายกฤษฎา ให้เป็น “อธิบดีกรมสรรพสามิต” แทนนายสมชาย พูลสวัสดิ์ ที่เกษียณอายุราชการ
ในวันที่ 1 ต.ค.2561 นายกฤษฎา ดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมศุลกากร” ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 ที่ประชุมมีมติให้ นายกฤษฎา ดำรงตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงการคลัง” ต่อจาก นายประสงค์ พูนธเนศ ที่เกษียณอายุราชการ
ต่อมาในวันที่ 31 ส.ค.2566 นายกฤษฎาได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการเพื่อมารับตำแหน่ง “รมช.คลัง” ทำให้พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา ยังเคยเป็น อดีตเลขานุการเอก (ฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง) สำงานที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป ณ กรุงลอนดอน
นอกจากนี้ นายกฤษฎา ยังมีประสบการณ์ในการทำงานในหน่วยงานงานต่าง ๆ ด้วยดังนี้
- คณะกรรมการ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- คณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน)
- คณะกรรมการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
- อดีตคณะกรรมการ บริษัท บางจากปิโตเลียม จำกัด (มหาชน)
- อดีตคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
- อดีตคณะกรรมการปฏิรูปการขับเคลื่อนประเทศ
- อดีตคณะกรรมการบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย
- อดีตคณะกรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- อดีตคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ต่อมาภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรีในเดือน เม.ย.2567 ได้มีการแต่งตั้ง ” รมว.คลัง” คนใหม่ จึงมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งแบ่งงานให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ ส่งผลให้นายกฤษฎา ขอลาออกจากตำแหน่งซึ่งมีผลในทันที วันที่ 8 พ.ค.2567
อ่านข่าว : “พีระพันธุ์” นำทีม สส.ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เล็งแก้ปัญหา 3 ประเด็น
“ชัยชนะ” เร่งกำหนดครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ ฟื้น “รร.วิวัฒน์พลเมือง” ช่วยบำบัด