วันนี้ (13 พ.ค.2567) น.ส.กมลทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีไฟโรงงานมาบตาพุด จ.ระยอง โดยกล่าวแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ และขอเป็นกำลังใจให้ พร้อมชื่นชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และนักผจญเพลิงที่ทุ่มเทระงับเหตุอย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้จะเจอปัญหาอุปสรรคหลายอย่างที่อาจเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ในทันท่วงที
ส่วนการแจ้งภาวะฉุกเฉิน การสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชน น.ส.กมลทรรศน์ มองว่า ค่อนข้างล่าช้า ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนกับประชาชนในพื้นที่ ที่ไม่รู้ว่าจะต้องป้องกันตัวเองอย่างไร มีชุมชนไหนบ้างที่ต้องอพยพ และไปอยู่ที่ไหน ไกลเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย สถานการณ์หน้างานไปถึงไหนแล้ว
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์ ไฟไหม้ “มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล”
น.ส.กมลทรรศน์ ยัง กล่าวถึง การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศของหน่วยงานที่ดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน ก็มีคำถามว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ การตรวจวัดสภาพอากาศเหมาะสมกับทิศทางลมหรือไม่ เพราะระหว่างเกิดเหตุมีประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งการระคายเคือง การแสบตา แสบคอ เวียนศีรษะ อาเจียน เนื่องจากได้รับควันจากบริเวณโดยรอบ
ทั้งนี้ มีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพจากสาธารณสุขของเทศบาลมาบตาพุด และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ กว่า 100 คน ซึ่งมีอาการหนักกว่า 60 คน ในขณะที่ช่วงสุดท้ายตัวเลขตรวจวัดคุณภาพอากาศ กลับบอกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็เป็นคำถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าใช้เกณฑ์ในการวัดคุณภาพอากาศอย่างไร
น.ส.กมลทรรศน์ ระบุ แม้ว่าบริษัทที่เกิดเหตุจะยินดีชดเชยเยียวยาผู้เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ต้องร่วมกันทบทวน คือ มาตรการ ไม่ว่าจะเป็นแผนการป้องกันเหตุ การประเมินความเสี่ยง แผนเผชิญเหตุต่าง ๆ แผนอพยพประชาชน แผนการสื่อสารกับประชาชน
อ่านข่าว : คพ.เกาะติดอีก 7 วันมลพิษไฟไหม้ “มาบตาพุดแทงค์”
รวมไปถึงการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนบริเวณโดยรอบของนิคมอุตสาหกรรม อาจต้องมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ซึ่ง จ.ระยอง เป็นจังหวัดที่ถูกประกาศให้อยู่ในพื้นที่เขตควบคุมตั้งแต่ปี 2552 แต่จำนวนของโรงงานเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ดังนั้น ศักยภาพในการเตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระดับจังหวัดควรจะต้องมีการทบทวนและปรับลดจำนวนโรงงานเพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมสร้างผลกระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ จ.ระยอง ต้องมีมาตรการของตัวเอง เช่น การสร้าง SMS เตือนภัย หรือข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินที่จะส่งตรงกับประชาชนในพื้นที่ ให้ได้รู้สถานการณ์ที่จะต้องเจอ เพื่อประเมินตัวเองและประเมินสถานการณ์ได้อย่างเร็ว
รวมถึงช่องทางที่หน่วยงานราชการส่วนกลางจะต้องสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ง่ายต่อการวางแผนบริหารจัดการเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ซึ่งอาจต้องสร้างโมเดลสื่อสารเพื่อรับมือกับเหตุดังกล่าว
อ่านข่าว : “สาธารณภัย” ต้องรุนแรงขั้นไหนถึงต้องประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน”
น.ส.กมลทรรศน์ กล่าวว่าจะนำข้อสังเกตปัญหาต่างๆ เข้าสู่กรรมาธิการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนิคมอุตสาหกรรม บริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และบริษัทที่เกิดเหตุ เข้ามาชี้แจงและหาแนวทางร่วมกันในการป้องกัน รับมือกับแผนเผชิญเหตุในอนาคตต่อไป
รวมถึง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะประชุมวันที่ 15 พ.ค. นี้ ซึ่งมีทั้งเรื่องกากแคดเมียม และเรื่องไฟไหม้ เพราะตอนนี้เกิดบ่อยมาก ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้เกิด 10 กว่าครั้ง
อ่านข่าว
ด่วน! ไฟไหม้มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล 2 ปีก่อนเคยระเบิด
วายร้าย VOCs อันตรายต่อร่างกาย ทำลายอวัยวะภายใน
ไทม์ไลน์ ไฟไหม้ “มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล”