‘บุ้ง เนติพร’ สมาชิกกลุ่มทะลุวัง เสียชีวิตระหว่างถูกขังในเรือนจำ จนท. ส่งร่างชันสูตร รพ.ธรรมศาสตร์
14 พ.ค. 2567 มีรายงานว่า เนติพร หรือ บุ้ง กลุ่มทะลุวัง วัย 28 ปี และเป็นผู้ต้องหาคดีทางการเมือง เสียชีวิตแล้วที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมา เนติพร เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินและส่งตัวรักษาต่อที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งร่างชันสูตรพลิกศพ
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ยืนยันว่าตอนนี้ ‘บุ้ง’ นติพร เสียชีวิตแล้ว ตอนนี้ร่างอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยบุ้งถูกส่งตัวมาเมื่อเช้านี้จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์
หลังจากที่เขาถูกจับแล้วต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แล้วเขาถูกถอนการประกันตัว บุ้งเขาอดอาหารมา 40 กว่าวัน แต่ในภายหลัง ทางครอบครัวก็ขอให้บุ้งรักษาชีวิตไว้ บุ้งเลยยอมรับสารบางอย่างไปช่วย อย่างพวกแคลเซียม ฯลฯ จนกระทั่งปัจจุบัน
“ผมรู้ข่าวตั้งแต่ตอนเช้า ตอนที่บุ้งอยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทาง ผอ. โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงตัดสินใจส่งต่อไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพราะตอนนั้นบุ้งไม่มีสัญญาณชีพแล้ว แล้วก็ต้องปั๊มหัวใจขึ้นมา จากนั้นก็ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ช่วงสายๆ”
“ล่าสุดที่ผมได้คุยกับบุ้ง ก็ประมาณเดือนที่แล้ว ช่วงที่บุ้งอยู่ในโรงพยาบาล และบุ้งก็มีคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรี แต่ก็มีทนายความของศูนย์ทนายฯ ไปเยี่ยมทุกวัน บุ้งเป็นคนแข็งแกร่งอยู่แล้ว ส่วนร่างกายมันมีอาการบวมที่ขา เจ็บปวดท้อง น่าจะเป็นผลจากการอดอาหาร แล้วก็มีอาการอ่อนเพลีย ผมจากการไม่ได้ทานข้าว ค่าเลือดก็ไม่ดี แต่จิตใจเขาตอนนั้นยังเข้มแข็งอยู่ ยังปฏิเสธทุกคดีเพื่อสู้คดีครับ
กฤษฎางค์ ระบุต่อว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ ต้องปรึกษากับครอบครัวและญาติๆ ของบุ้ง แต่ในส่วนของคดีความ ก็ถือว่าจบไป เพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เมื่อเสียชีวิตก็จบ
ทั้งนี้บุ้ง ถูกนำตัวเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 หลังจากถูกศาลสั่งฟ้องถอนสิทธิประกันตัวในคดี 112 กรณีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จว่า สร้างความเดือดร้อนหรือไม่ บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 และถูกศาลพิพากษาในคดีเมิดอำนาจศาลจากเหตุการณ์ทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล ของศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ วันที่ 19 ต.ค. 2566 โดยคดีนี้บุ้งถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือน
อย่างไรก็ตามแม้จะครบกำหนดโทษในคดีเมิดอำนาจศาลแล้ว แต่บุ้งยังคงติดหมายขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 กรณีการทำโพลขบวนเสด็จอยู่จำทำให้เธอยังไม่ได้รับอิสรภาพ
ทั้งนี้หลังจากถูกคุมขังเพียง 1 วัน(27 ม.ค. 2567) บุ้งได้ประกาศ อดอาหารและน้ำ โดยเสนอข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก
ต่อมาในวันที่ 3 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยว่า บุ้งได้เขียนพินัยกรรม ระบุว่า
1.ภายหลังจากที่ข้าพเจ้าถึงแก่ความตายแล้ว ทรัพย์สินที่เป็นเงินสด ของข้าพเจ้าที่มี เก็บรักษาไว้ และที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารพานิชย์ทุกแห่ง รวมทั้งทรัพย์สินคือ นาฬิกาข้อมือ ต่างหู และสัตว์เลี้ยงคือแมวชื่อโช จำนวนหนึ่งตัว ขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ หยก ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว
2. ทรัพย์สินของข้าพเจ้านอกจากที่ระบุไว้ในข้อหนึ่งข้างต้นอันรวมถึงที่ดิน สิทธิ์เรียกร้อง และสิทธิ์ตามมรดกใดที่ข้าพเจ้าพึงอยู่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะถึงแก่ความตายขอยกให้แก่ พี่สาวของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว
3. หลังจากที่ข้าพเจ้าถึงแก่ความตายแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบให้ทนายความของข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมนี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทุกประการ
ต่อมา 6 ก.พ. 2567 บุ้งกนำตัวส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากมีภาวะตับอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อ่อนแรงมากจนเดินไม่ไหว กระทั้งในวันที่ 8 มี.ค. 2567 บุ้งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี
30 มี.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า อาการของบุ้ง มีความดันโลหิตต่ำ ค่าโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ไม่ขับถ่ายอุจจาระเป็นระยะเวลาหนึ่ง ปัจจุบันบุ้งน้ำหนักตัวประมาณ 63 กก. ลดลงจากก่อนหน้านี้กว่า 20 กิโลกรัม
4 เม.ย. 2567 น.ส.เนติพรถูกย้ายกลับไปควบคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ พร้อมด้วย ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์