หลังพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. หรือสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2567 ทำกระบวนการเลือก “สว.ชุดใหม่” เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ
ประเทศไทยเดินหน้าสู่การได้มาซึ่ง “สว.ชุดที่ 13” จำนวน 200 คน ที่มาจากวิธีการคัดเลือกแบบ “เลือกกันเอง” ซึ่งใช้ระบบนี้เป็นครั้งแรก และไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก่อน
หากกางปฎิทินของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การรับสมัคร สว. ถูกกำหนดให้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.2567 ก่อนประเดิมเลือก “ระดับอำเภอ” 9 มิ.ย. จากนั้นจะเป็นการเลือก ระดับจังหวัด และ ระดับประเทศ และในเดือน กรกฎาคม คนไทยจะได้เห็นโฉมหน้า “สว.ชุดใหม่” 200 คน
อ่านข่าว : ที่มาตัวเลข “สว.ชุด 13” 200 คนจาก 20 อาชีพ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 กำหนดให้มี “สว.” ทั้งหมด จำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่ง “ได้คราวละ 5 ปี” เป็นได้ “วาระเดียว” ซึ่งอำนาจและหน้าที่ สว.ชุดใหม่นี้ ต่างจาก สว.ชุด คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ตามบทเฉพาะกาล ซึ่ง สว.ชุดใหม่ จะไม่มีอำนาจในการร่วมโหวต “นายกรัฐมนตรี”
อ่านข่าว : กางปฏิทิน “เลือก สว.” ชุดใหม่
ในส่วนของเงินเดือน สว. รวมถึงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ มีรายละเอียดอย่างไร
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ค่าตอบแทนขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประธานและรองประธานวุฒิสภา สว.รวมถึงกรรมาธิการ ต้องกำหนดเป็นกฎหมายมีแนวทางชัดเจนในการจ่ายเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนเพิ่ม
โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา 2555 เงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภาเพิ่ม กำหนดให้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2563 (ฉบับที่ 2)
สว.ได้รับเงินเดือนนับแต่วันที่ กกต. ประกาศผลเลือก
สำหรับเงินเดือน ของ สว. หรือ สมาชิกวุฒิสภา 1 คน จะได้รับรวม เป็นเดือนละ 113,560 บาท โดยเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,330 บาท
ส่วนประธานวุฒิสภา จะได้รับรวม เป็นเดือนละ 119,920 บาท โดยได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 74,420 บาทและได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 45,500 บาท
ขณะที่รองประธานวุฒิสภา จะได้รับรวม เป็นเดือนละ 115,740 บาท โดยได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีก เดือนละ 42,500 บาท
** สว.จะได้รับเงินจำตำแหน่งและเงินเพิ่มรายเดือน นับแต่วันที่เริ่มต้นมีสมาชิกภาพ หรือกรณีที่มี สว. คนก่อนสิ้นสมาชิกภาพ เช่น ลาออก เสียชีวิต คนที่เป็นตัวสำรอง จะถูกเลื่อนขึ้นมาแทน จะได้รับเงินประจำแหน่งถัดจากวันที่ประธานวุฒิสภาประกาศเลื่อนมาแทน
ทั้งนี้ สว. แต่ละคนยังสามารถมีผู้ช่วยทำงานได้อีก 8 คน โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้
- ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท (ทำหน้าที่ : ให้คำแนะนำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ สว.)
- ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน เงินเดือน 15,000 บาท รวม 30,000 บาท (ทำหน้าที่ : ศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวมรวมปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อจัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ สว.)
- ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว 5 คน เงินเดือน 15,000 บาท รวม 75,000 บาท (ทำหน้าที่ : รับผิดชอบตามที่ สว.กำหนด เช่น การพูดคุยรับฟังปัญหาประชาชน ติดต่อประสานกับหน่วยราชการ)
นอกจากเงินประจำที่ได้รับทุกเดือนแล้ว สว. ยังมีสิทธิสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ อื่น ๆ อีก มีอะไรบ้าง
ค่าเดินทางไปต่างประเทศ
- เบี้ยเลี้ยงกรณีเบิกเหมาจ่าย 3,100 บาท/วัน/คน
- กรณีไม่ได้เบิกเหมาจ่าย ค่าอาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม 4,500 บาท/วัน/คน
- ค่าทำความสะอาดเสื้อผ้า 500 บาท/วัน/คน
- ค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ด 500 บาท/วัน/คน
ค่าเดินทาง ในประเทศ
- เบี้ยเลี้ยง 270 บาท/วัน/คน
- ค่าที่พักกรณี : พักคนเดียว 2,500 บาท/วัน/คน (เบิกตามจริง), พักคู่ 1,400 บาท/วัน/คน (เบิกตามจริง), พักแบบเหมาจ่าย 1,200 บาท/วัน/คน
- ค่าเดินทางไป-กลับประชุมรัฐสภา เบิกตามระยะทางจริง
ค่ารักษาพยาบาล
ผู้ป่วยใน
- ค่าห้องและค่าอาหาร (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 4,000 บาท/วัน
- ค่าห้อง ICU/CCU (สูงสุดไม่เกิน 7 วัน/ครั้ง) 10,000 บาท/วัน
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 100,000 บาท/ครั้ง
- ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท/ครั้ง
- ค่าแพทย์ผ่าตัด 120,000 บาท/ครั้ง
- ค่าแพทย์เยี่ยมไข้ (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 1,000 บาท/วัน
- ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค 4,000 บาท/ครั้ง
- การรักษาทันตกรรม 5,000 บาท/ปี
- การคลอดบุตร
- คลอดธรรมชาติ 20,000 บาท
- คลอดโดยการผ่าตัด 40,000 บาท
ผู้ป่วยนอก
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 90,000 บาท/ปี
- อุบัติเหตุฉุกเฉิน 20,000 บาท/ครั้ง
ค่าการตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท/ปี
เบี้ยประชุมกรรมาธิการ
- เบี้ยประชุม กรรมาธิการในฐานะประธาน 1,500 บาท/ครั้ง
- ร่วมประชุมกรรมาธิการ 1,200 บาท/ครั้ง
- ประชุมอนุกรรมาธิการ 800 บาท/ครั้ง
อย่างไรด็ตาม ถึงแม้ว่า สว. ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเหมือนข้าราชการแต่ สว.เองก็มีทุนเลี้ยงชีพ หลังจากที่ไม่ได้เป็น สว.แล้วจาก “กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและเป็นทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ที่เคยเป็น สว.
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่อดีต สว. จะได้จาก กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จากระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานและการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ดังนี้
- การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล
- การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ
- การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ
- การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม
- การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร
- สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
นอกจากนี้ สว. สามารถขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ilaw
อ่านข่าว : “สุทิน” มั่นใจภรรยาถือหุ้น “ไม่ใช่จุดตาย” ยันเคยแจงแล้ว