หน้าแรก Thai PBS เปิดมุมกฎหมาย “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” เลือก สว.-ยุบก้าวไกล

เปิดมุมกฎหมาย “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” เลือก สว.-ยุบก้าวไกล

114
0
เปิดมุมกฎหมาย-“ธีรยุทธ-สุวรรณเกษร”-เลือก-สว.-ยุบก้าวไกล

แม้เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง จะมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรกและฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.-15 พ.ค.67

และข้อ 11 (2) และ (3) ให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้ง 2 ฉบับไปแล้ว ตามที่มีผู้ร้องก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

โดยศาลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การทำหน้าที่ของ สว.ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ

อ่านข่าว : ศาลปกครองสั่งเพิกถอนระเบียบ กกต.แนะนำตัวเลือก สว. 3 ข้อ

คดียังไม่ถึงที่สุด คำร้องต้องรออีก 30 วัน

“ในส่วนของผม ที่ยื่นฟ้องไป 3 เรื่อง ศาลฯ มีคำสั่งตรงกับของผู้ร้องอื่นว่าด้วยเรื่อง การแนะนำตัวในการเลือก สว.ฉบับที่ 2 พ.ศ 2567 ข้อ 8 เรื่องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการหาเสียงเท่านั้น ยังต้องรอดูว่า ศาลปกครองจะว่าอย่างไร เพราะตามวิธีพิจารณาของศาลปกครอง ต้องรอให้ล่วงพ้นเวลาการอุทธรณ์ภายใน 30 วันก่อน จึงจะมีผลบังคับ”

ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ เปิดใจกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบดังกล่าว

ธีรยุทธ ยังบอกอีกว่า ในกรณีนี้ หากมีคู่ความฝ่ายใดใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ก็เท่ากับว่า คดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดการทุเลาการบังคับคดี มีผลให้คำสั่งยังไม่สามารถบังคับได้ หรือชะลอการบังคับไว้ก่อน จึงต้องรอดูว่า กกต.จะเอาอย่างไร

อ่านข่าว : ยอดสมัคร สว. 5 วัน รวม 48,117 คน ศรีสะเกษเยอะสุด – 2 อำเภอไร้ผู้สมัคร

ก่อนหน้านี้ ในฐานะทนายความอิสระ “ธีรยุทธ” ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต. 3 เรื่อง คือ ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ข้อ 91 ข้อ 3 ข้อ 6 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ฉบับที่ 2 พ.ศ 2567 ข้อ 8

โดยขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาระงับใช้ระเบียบดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และส่งความเห็น ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 212 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 มาตรา 36 มาตรา 41 และมาตรา 42 ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ด้วย

“สิ่งที่ต้องไปร้อง เพราะระเบียบที่ 1 พูดถึง เป็นการออกระเบียบมาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก ข้อที่ 40 ,41 อนุ 3 และข้อ 42 อนุ 3 ซึ่งมีคำสำคัญที่พบว่ามีปัญหา คือ ให้ผู้สมัคร สว.เลือกกันเอง และเลือกตนเองได้ ซึ่งทั้ง 3 อนุมาตรา ใช้คำเหมือนกัน”

ปิดช่องเลือก สว.”ทุนหนา-ล็อกเป้า”

ธีรยุทธ ขยายความว่า “เลือกตนเอง” หมายถึง ผู้ที่สมัครรับเลือกเป็นวุฒิสภาตามขั้นตอนที่ระบุไว้ จะต้องเลือกกันเอง และแต่ละคนจะมี 2 คะแนน ตรงนี้เป็นจุดที่เปิดช่องทำให้ผู้สมัครไม่ต้องเลือกตัวเองก็ได้ หรือยกทั้ง 2 คะแนนนี้ให้กับใครก็ได้

“แปลว่า เขาสมัครหรือชำระค่าธรรมเนียมเข้าไปเพื่อไปเลือกคนอื่น ให้เป็น สว.เป็นการเปิดช่องให้ “บุคคล” ที่มุ่งหมายจะให้คนของเขาได้รับเลือก และมีการขนคนเข้าไปสมัครเพื่อเอา 2 คะแนนนี้ ไปเลือกคนของเขา”

เนื่องจากสิ่งที่ถูกต้อง คือ ผู้สมัคร ควรจะเลือกตัวเอง 1 คะแนน ก่อนจากนั้นจึงไปเลือกคนอื่น ตรงนี้มีหลักการอยู่ใน พ.ร.ป.ว่า ถ้าปรากฏเหตุมีบุคคลที่ไม่เลือกตนเอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้ทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรมในมาตรา 94 ระบุไว้ชัด

ทนายความคนเดิม บอกว่า อีกประเด็นที่ทำให้มองว่า กกต.เปิดช่องเอื้อประโยชน์ในกลุ่มคนดังกล่าว เพราะมีการระบุว่า ลักษณะที่มีบุคคลซึ่งไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยให้สันนิษฐานว่าเกิดการสมยอม ดังนั้นเมื่อมีการสมยอม จึงหมายถึงมีบุคคลที่มีอำนาจ สามารถเข้าไป ครอบงำ ชี้นำ หรือ สั่งการเพื่อให้คะแนนไปหาบุคคลที่เขาอยากได้หรือล็อกตัวไว้แล้ว

เนื่องจากการตรวจสอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ว่า ด้วยการเลือกกันเองของวุฒิสมาชิกได้กำหนดไว้ชัดว่า จะต้องออกมาตรการอันจำเป็นเพื่อให้เกิดการป้องกันและหลีกเลี่ยงกับดักทางการเมือง หรือผลจากพวกที่จะเข้ามาทุจริต แต่ กกต.กลับปิดช่องตรงนี้ เท่ากับว่าออกระเบียบมาเพื่อขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน อันนี้คือระเบียบที่ 1

ส่วนระเบียบที่ 2 ว่าด้วย เรื่องการแนะนำตัวของผู้สมัคร หรือผู้เสนอตนไปสมัครรับเลือกตั้ง ระเบียบฉบับที่ 1 ข้อที่ 3 และข้อที่ 6 พูดถึงเรื่องผู้ช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว และหากนำไปเทียบกับผู้ช่วยหาเสียงของ สส.ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติแรกว่า บุคคลนี้จะต้องเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย จึงจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ห้ามลงสมัคร ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็จะถูกตัดออกเพราะไม่มีสิทธิ์

“แต่เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่าย สว.กลายเป็นว่า ไม่มีการจำกัดลักษณะนี้เลย เหมือนเปิดกว้าง ไม่ว่าใครจะเคยทำผิดพลาด หรือถูกลงโทษมาอย่างไร อนุญาตหมด การทำเช่นนี้ แสดงว่าทาง กกต.ออกระเบียบมาขัดแย้งกับเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ”

ประเด็นดังกล่าวมองได้ว่า หากมีบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมีอำนาจหรือมีพลังและเป็นที่นิยมของสังคม ก็แสดงว่าไปเอื้อให้คนประเภทนี้เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัคร สว.ใช่หรือไม่

และเมื่อตรวจสอบลึกลงไป ก็มีคำถามว่า เหตุใดจึงต้องกำหนดระเบียบเช่นนี้ จึงมีคำถามกลับว่า หากมีผู้ลงสมัครและไม่มีเงิน จะไปจ้างกลุ่มบุคคลให้ช่วยมาแนะนำตัวจะทำได้หรือไม่ อย่างไร

“การสร้างกับดักแบบนี้ เหมือนขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ กฎที่ออกมาต้องการทำลายผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ให้มีโอกาสได้รับเลือก เพราะไม่มีเงินไปจ้างคนให้มาช่วยแนะนำตัว พูดง่ายๆ คือ เอื้อให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์ได้รับเลือก แต่กีดกันผู้ที่ไม่มีเงินให้มีโอกาสได้รับเลือกน้อยลง”

หวั่นได้ สว.เก่ง “content” เป็นตัวแทน

ส่วนระเบียบที่ 3 ว่าด้วยเรื่องระเบียบการแนะนำตัวฉบับที่ 2 ข้อ 8 กำหนดว่าให้มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อโซเชียล ถ้าเปรียบเทียบกับการเลือก สส.จะเห็นได้ว่า กกต.จะจัดสื่อกลาง ไว้ให้ใช้ มีทีวี ระบบ social ผู้สมัครรับเลือกตั้งแจกเอกสาร ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50 ล้านคนทั่วประเทศได้

แต่ปรากฏว่า การเลือก สว. ครั้งนี้ ผู้สมัครจ่ายค่าธรรมเนียมไปแล้วคนละ 2,500 บาท แต่ทำไม่ได้ และยังผลักภาระให้ผู้สมัครต้องออกค่าใช้จ่ายในการจ้างสื่อ, ผลิตสื่อโซเชียลและสื่อสังคมออนไลน์เอง

“ถามว่าปราชญ์ชาวบ้านเกษตร ที่ลงสมัคร และมีความรู้ความสามารถมาทั้งชีวิต แต่ไม่มีความรู้ทางด้านโซเชียลจะทำอย่างไร ในขณะที่คนมีตังค์ ไปจ้างสื่อโซเชียลได้ ตรงนี้จะทำให้เราได้ สว.ที่ทำ content เก่งมาเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยหรือไม่”

ธีรยุทธ บอกว่า เป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดว่า กกต.ออกระเบียบที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญชัดเจน แม้ กกต.จะออกมาแก้ตัวในภายหลังว่า ได้ออกระเบียบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภาจึงเขียนคำร้องไว้แล้วก็ตาม แต่ พ.ร.ป.ที่กล่าวถึง จึงเห็นว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 107

ในส่วนนี้จึงไปเข้าบทบัญญัติของวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองว่า หากบทบัญญัติใดของกฎหมายที่จะต้องใช้บังคับกับคดีที่ร้อง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองจะต้องลงความเห็นในคำฟ้อง

และเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและระเบียบที่กล่าวอ้างถึงขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่ ถือเป็นบทบังคับที่อย่างไรเสีย ศาลปกครองจะต้องทำคำฟ้องและความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทนายธีรยุทธ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว หากเห็นว่าขัดแย้งจริง ก็จะส่งคำวินิจฉัยแจ้งกลับมาที่ศาลปกครอง โดยศาลปกครองก็จะต้องวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เมื่อระเบียบและ พ.ร.ป.ที่อ้างถึงและขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลต่อไปว่า ต้องถูกเพิกถอนตามที่ได้ร้องหรือไม่ ซึ่งจะเป็นบทวินิจฉัยของศาลที่แยกออกมาต่างหาก

“ผมแค่นำเสนอในหลักการทางกฎหมาย เพื่อป้องกัน การฮั้วของกลุ่มทุนหนาในเบื้องต้นก่อน ส่วนช่องว่าง อื่นๆ ที่เป็นปัญหา ขณะนี้เห็นแล้วว่า มี แต่ยังเปิดเผยข้อมูลไม่ได้ อยู่ในชั้นรวบรวมเนื้อหาและข้อเท็จจริง”

อย่างไรก็ตาม หลังได้รับผลการวินิจฉัยจากคำร้องที่ยื่นไปต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะขยับอีกครั้งหนึ่ง

“ไม่กลัว” เดินสายร้อง ยึดหลักกฎหมาย

ในฐานะทนายความที่เดินสายยื่นคำร้องหลายเรื่อง ไม่นับรวมเรื่องดังกล่าว และอีกหลายเรื่องๆ โดยเฉพาะคดียุบพรรคก้าวไกล “ล้มล้างการปกครอง” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายเวลาต่อให้เป็นครั้งที่ 3 โดยวันที่ 2 มิ.ย.นี้ต้องทำคำชี้แจงให้แล้วเสร็จ

“…ผมไม่กลัว เราทำงานเพื่อบ้านเมืองและยึดหลักการแห่งกฎหมาย ซึ่ง กกต. และพรรคก้าวไกลก็มีนักกฎหมาย ทุกเรื่องที่ทำว่าด้วย หลักการแห่งกฎหมาย หลายครั้ง ผมก็เคยพูดว่าต้องให้ความเกรงใจกับฝ่ายกฎหมายของแต่ละฝั่ง และการจะไปก้าวล่วงทางกฎหมายของแต่ละฝ่าย ก็ทำไม่ได้”

ทนายคนเดิม บอกว่า การสื่อความนัยออกไปแบบนี้นักกฎหมายด้วยกันเอง ฟังแล้วจะเข้าใจว่า คือ การให้เกียรติ เมื่อต่างฝ่ายต่างให้เกียรติกัน ก็จะไม่มีการทำอะไรเกินเลยไปกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น อย่างที่นักกฎหมายพึงกระทำกัน

“สิ่งที่ผมทำ คือ การส่งสัญญาณไปแค่นั้นเอง นักกฎหมาย เราจะเข้าใจกันทันที…และเวลาเป็นคดีความกัน ไม่ใช่ทนายของทั้ง 2 ฝ่ายจะคุยกันไม่ได้ ผมอายุน้อยกว่า เจอทนายอาวุโส ผมก็ต้องยกมือไหว้ ทักทาย เป็นไปตามมรรยาทที่เคยที่เคยถูกสอนๆ กันมา ก็เป็นแบบนี้ แต่เมื่อเข้าสู่เนื้อหาแห่งคดีเราจะไม่ฟังกัน เพราะต่างฝ่ายต่างต้องรักษาผลประโยชน์ของลูกความ ดังนั้น คำว่ากลัวจึงไม่มี”

ธีรยุทธ กล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเลือกตั้ง สว.2567 ไม่เฉพาะการติดตามสอดส่องพฤติกรรมของพรรคก้าวไกล หรือ กกต.คือ สิ่งที่ต้องทำเพราะมีผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น มีการพูดในลักษณะที่ว่า ต้องพยายามผลักดันให้คนของเราเข้าไปช่วยกันเพื่อให้ได้ “คนของเรา”

และคำว่า “คนของเรา” แสดงให้เห็นว่ามีการ “ล็อกเป้า” ใช้หรือไม่ โดย กกต.เปิดช่องว่างให้คนเข้าไปสมัคร ซึ่งแต่ละคนมี 2 คะแนนเลือกใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเลือกตัวเอง จุดนี้จึงทำให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

“…ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการเคลื่อนไหวของผม แม้พรรคก้าวไกลจะมีแฟนคลับเยอะ ที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผม เรื่องการแสดงความคิดเห็น ก็เข้าใจว่า ทุกคนก็มีคนที่รักและนิยม ถือเป็นเรื่องที่ดี เราต่างฝ่าย ก็ทำหน้าที่ของตนเองไป” ทนายธีรยุทธ ทิ้งท้าย

อ่านข่าว : 

สว.2567 ได้เงินเดือนเท่าไหร่ เปิดสิทธิประโยชน์-สวัสดิการ

การเมืองเรื่องต่อรองไม่สิ้นสุด ศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว. แต่ไม่สั่งนายกฯ หยุดทำหน้าที่

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่