หน้าแรก Thai PBS “วิษณุ เครืองาม” กุนซือกฎหมายคู่ใจหลายรัฐบาล

“วิษณุ เครืองาม” กุนซือกฎหมายคู่ใจหลายรัฐบาล

81
0
“วิษณุ-เครืองาม”-กุนซือกฎหมายคู่ใจหลายรัฐบาล

หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยอมรับเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรายงาน นายเศรษฐา ได้เข้าพบ นายวิษณุ ที่บ้านพักตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อขอคำแนะนำในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ 40 สว.ยื่นถอดถอนต่อศาลรัฐธรรมนูญ 

หลังศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นตายให้ทำคำชี้แจงตามข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 7 มิ.ย.2567 นี้ 

กระทั่งมีความชัดเจนหลังนายกฯ เศรษฐา ยอมรับถึงการแต่งตั้ง นายวิษณุ อดีตรองนายกฯ นั่งเก้าอี้ “ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี”  เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง “การร่างคำสั่ง” 

อ่านข่าว : “วิษณุ” ขอวางมือการเมือง รักษาสุขภาพ-เลี้ยงหลาน

สำหรับ นายวิษณุ เครืองาม เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2494 (ปัจจุบัน 2567 อายุ 73 ปี) เป็นนักกฎหมายและนักการเมือง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหลายชุดและในหลายหน่วยงาน

หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นายวิษณุเริ่มรับราชการในปีนั้นด้วยการเป็นอาจารย์กฎหมาย กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2529

การศึกษา  

  • ในปี 2515 : จบปริญญาตรี (น.บ.เกียรตินิยมดีมาก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 2516 : เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
  • 2517 : ปริญญาโท (LL.M.) University of California, Berkeley
  • 2519 : ปริญญาเอก (J.S.D.) University of California, Berkeley
  • 2539-2540 : ประกาศนียบัตรวิชาป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
  • 2544 : ปริญญาเอกนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2551 : วุฒิบัตรหลักสูตรพื้นฐานของกรรมการบริษัทจดทะเบียน (DAP) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) 
  • 2553 : วุฒิบัตรหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน(รุ่นที่ 9)  
  • 2556 : ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • 2556 : ปริญญาเอกนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี

การทำงาน

สำหรับงานการเมือง นายวิษณุเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา (2535-2539) เคยรักษาการในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ.2535 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร และได้เข้าร่วมงานการเมืองอีกครั้งในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ.2545

  • 2515 : อาจารย์ตรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2529 : ศาสตราจารย์ ระดับ 10 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2534 : โอนไปดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • 2536 : เลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • 2545 : รองนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 1) ทำเนียบรัฐบาล
  • 2548 : รองนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 2) ทำเนียบรัฐบาล
  • 2549 : สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐสภา
  • 2550 : ศาสตราภิชาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2556 : ราชบัณฑิต ราชบัณฑิตยสภา
  • 2557 2562 :รองนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 3) ทำเนียบรัฐบาล
  • 2562 : รองนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 4) ทำเนียบรัฐบาล

เกียรติคุณที่ได้รับ

  • ศาสตราจารย์กิตติคุณ และศาสตราภิชานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รางวัลผู้พูดภาษาไทยได้ถูกต้องและเหมาะสม จากราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ.2535)
  • รางวัลผู้บริหารพลเรือนดีเด่นครุฑทองคำ จากสมาคมข้าราชการพลเรือน (พ.ศ.2540)
  • รางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น จากสมาคมข้าราชการพลเรือน (พ.ศ.2541)
  • ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2544)
  • รางวัลบุษบกทองคำผู้มีผลงานดีเด่นด้านการใช้ภาษาไทย จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (พ.ศ. 2547
  • ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขานิติศาสตร์ (พ.ศ.2555)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ.2536
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ พ.ศ.2535
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พ.ศ.2545
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ.2547

สำหรับนายวิษณุ เครืองาม ผู้เป็นเจ้าของฉายา “เนติบริกร” โดยได้รับสมญานามดังกล่าวจากสื่อมวลชนประจำทำเนียบ เมื่อปี 2548 ผู้ผ่านการทำงานร่วมกับหลายรัฐบาล รวมถึงหลายนายกรัฐมนตรี

คำอธิบายฉายาในเวลานั้นคือ นายวิษณุ ได้รับฉายาเนติบริกร เนื่องจากเป็นมือกฎหมายของรัฐบาลทุกสมัย ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีส่วนในการอธิบายชี้ช่องเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการออกกฎหมาย มีความสามารถในการพลิกแพลงการใช้กฎหมายที่รัฐบาลมีความชอบธรรมและได้เปรียบฝ่ายที่เห็นต่างเสมอ

นอกเหนือจากฉายา “เนติบริกร” แล้ว นายวิษณุ ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาล อีก 3 ฉายา 

ในปี 2562 ได้ฉายา “ศรีธนญชัยรอดช่อง”

“ความเป็นกูรูด้านกฎหมายของรัฐบาล สามารถช่วยรัฐบาลรอดพ้นปากเหวได้ทุกครั้ง เปิดทางตันด้วยช่องว่างทางกฎหมายที่แม้แต่แว่นขยายก็ยังมองไม่เห็น”

ในปี 2563 ได้ฉายา “ไฮเตอร์ เซอร์วิส”

“เป็นการยกคุณสมบัติเด่นของวิษณุที่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาหนักอกของคนในรัฐบาล โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายได้อย่างเชี่ยวชาญ และมักถูกวิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์ซักฟอกขาวยี่ห้อดัง ที่สามารถล้างคราบสกปรกให้ขาวสะอาดหมดจดได้ แต่อาจทำให้เนื้อผ้าเสียหาย ขาดความสวยงาม คล้ายกับชื่อเสียงของรัฐบาลที่สึกกร่อนตามไปด้วย”

ในปี 2565 ได้ฉายา “เครื่องจักรซักล้าง”

“ความเอกอุด้านกฎหมายระดับปรมาจารย์ในตำนาน ถูกใช้สนองตอบความต้องการของรัฐบาลทุกช่องทาง ทั้งพรรคหลักพรรคร่วม ไม่มีเลือกปฏิบัติ ช่วยยกภูเขาออกจากอก ลดปัญหาหนักใจ ทำหน้าที่เหมือนเครื่องจักรกล คอยซักล้างความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลให้ผ่านพ้น เรื่องไหนผ่านมือเนติบริกรคนนี้ อย่าหวังว่าจะมีใครโต้แย้งได้ เช่น ปม 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่เรื่องเหมืองทองอัครา”

ในปี 2566 เมื่อสิ้นสุดยุครัฐบาล “ลุงตู่” เข้าสู่ยุค “รัฐบาลเศรษฐา” นายวิษณุ ประกาศขอกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน อำลาทำเนียบรัฐบาล สถานที่อันคุ้นเคยมาค่อนชีวิต หลังการเลือกตั้งใหญ่เสร็จในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

ในครั้งนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า จะอยู่บ้านพักผ่อน เล่นกับหลาน เขียนหนังสือ สอนหนังสือ และอาจเข้าไปเป็นประธาน กรรมการบริษัทต่าง ๆ เพื่อจะมีรายได้ 

ครั้งนั้น นายวิษณุ ระบุว่า โอกาสที่จะกลับเข้าสู่การเมืองนั้นอาจจะไม่มีเหตุแล้ว เนื่องจากมีอาการป่วยจากการฟอกไต 

ล่าสุดวันนี้ 28 พ.ค.2567 ก็มีรายงานว่า “นายกฯเศรษฐา” ยอมรับถึงการแต่งตั้ง นายวิษณุ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ให้นั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล  และก็เป็นอีกครั้งที่นายวิษณุกลับสู่แวดวงการเมือง ในฐานะเซียนการเมือง ช่วยเหลือรัฐบาลชุดปัจจุบันและนายกฯคนล่าสุดของไทย  

อ่านข่าว : “เศรษฐา” ยอมรับร่างคำสั่งตั้ง “วิษณุ” ที่ปรึกษา สลค.

“พัชรวาท” ไม่รู้ “บิ๊กป้อม” มีใบสั่ง 40 สว.สอยนายกฯ

จำคุก 8 เดือน “สนธิญาณ” รอลงอาญา 2 ปี คดี กปปส. ขัดขวางเลือกตั้ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่