กรณีคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน ระบุว่านายกรัฐมนตรี ต้องฟังผลสอบของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง ตาม ม.140 วรรคหนึ่ง
นายธวัชชัย ไทยเขียว คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)
ในฐานะรองโฆษก ก.พ.ค.ตร.โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขั้นตอนพิจารณาสำนวนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองทั่วไป เทียบเคียงกับกรณีของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
คำร้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองวินัยตำรวจทุกกรณี หลังกรรมการเจ้าของสำนวนได้รับคำร้องอุทธรณ์แล้ว จะเร่งทำการตรวจว่าเป็นสำนวนดังกล่าว ที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีลักษณะต้องห้ามก็จะสั่งรับไว้พิจารณาหรือไม่ กรณีคำร้องอุทธรณ์ของท่าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กรรมการเจ้าของสำนวนได้มีคำสั่งรับไว้พิจารณาแล้ว
อ่านข่าว “บิ๊กโจ๊ก” โบ้ยถาม “วิษณุ” ปมถูกออกราชการ-จับตาประชุม ก.ตร.
พิจารณาคำขอว่าเป็นอย่างไร ใครบ้างเป็นคู่กรณี และมีคำขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่
กรรมการเจ้าของสำนวน ก็จะมีคำสั่งให้คู่กรณีได้ทำคำแก้อุทธรณ์ และหรืออาจกำหนดประเด็นเพิ่มเติมให้ชี้แจงภายใน 30 วัน และพิจารณาชี้แจงทำความเห็นกรณีขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวภายใน 7 วัน หรือตามเวลาที่กรรมการเจ้าของสำนวนเห็นสมควร(ถ้ามี)
นอกจากนี้ หากกรรมการเจ้าของสำนวนหากเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมอาจมีคำสั่งเรียกทั้งพยานบุคคลมาไต่สวน เรียกพยานเอกสารเพิ่มเติมก็ได้
อ่านข่าว กฤษฎีกาชี้ปลด “บิ๊กโจ๊ก”ออกราชการ-นายกฯ ต้องกราบบังคมทูล
อนึ่ง หากคำสั่งทางปกครองเกิดจากผู้มีอำนาจ คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหรือนายกรัฐมนตรี ก็ต้องส่งสำเนาคำอุทธรณ์ และพยานหลักฐานทั้งหมดให้คู่กรณีทั้ง 2 ท่านทำคำแก้อุทธรณ์ส่งกลับมาตามเวลาดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม คู่กรณีอาจยื่นขอขยายระยะเวลาการทำคำแก้อุทธรณ์เข้ามาพร้อมเหตุผล ซึ่งกรรมการเจ้าของสำนวนอาจอนุญาตให้หรือไม่ ให้ตามระยะเวลาที่ขอขยายก็ได้ พยานหลักฐานที่ได้มาทั้งหมดต้องแจ้งให้คู่ความทุกฝ่ายทราบเสมอกันทั้งหมด
สถานะสำนวนท่านรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติปัจจุบันอยู่ในชั้นรอคำแก้อุทธรณ์จากคู่กรณี
หลังได้รับคำแก้อุทธรณ์แล้ว กรรมการเจ้าของสำนวนจะมีคำสั่งให้ส่งไปให้ผู้อุทธรณ์ทราบและทำความเห็นแย้ง ซึ่งถ้ามีความเห็นแย้งก็ให้ส่งสำเนาความเห็นแย้งดังกล่าวไปให้คู่กรณีทราบด้วยเช่นกัน
เมื่อได้ข้อเท็จจริงเพียงพอ กรรมการเจ้าของสำนวนก็จะมีคำสั่งแจ้งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน ระหว่างนี้คู่ความยังส่งเอกสารเพิ่มเติมได้ แต่หลังวันพ้นกำหนดแล้วจะไม่รับไว้พิจารณา
ช่วงนี้ กรรมการเจ้าของสำนวนจะสรุปความเห็นกระบวนการพิจารณา พร้อมร่างคำวินิจฉัย และทำบันทึกขอวันกำหนดวันพิจารณาวินิจฉัยจากประธานฯ พร้อมแจ้งให้คู่กรณีทราบวันดังกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยในวันพิจารณาวินิจฉัยคู่ความสามารถยื่นแถลงเป็นเอกสาร หรือแถลงด้วยวาจาเพิ่มเติมอีกก็ได้
จับตาคำวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร. 4 แนวทาง
คำวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร.จะออกมาได้ 4 ทาง ดังนี้
ไม่รับอุทธรณ์ ด้วยเรื่องอุทธรณ์ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ ก.พ.ค.ตร. จะรับไว้พิจารณาได้ เช่น เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจ หรือผู้อุทธรณ์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์อุทธรณ์ตามกฎหมาย หรือยื่นพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นเรื่องที่เคยอุทธรณ์ และ ก.พ.ค. ตร.ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องนั้นแล้ว หรือเคย
อุทธรณ์มาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา ก.พ.ค.ตร. ก็จะมีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์ และจำหน่ายออกจากสารบบ โดยไม่ต้องพิจารณาในเนื้อหาของอุทธรณ์ ซึ่งกรณีคำร้องอุทธรณ์ของท่าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กรรมการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งรับไว้พิจารณาแล้วดังกล่าวข้างต้น
ยกอุทธรณ์ ด้วยคำสั่งทางปกครองที่นำมาอุทธรณ์นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น
ให้แก้ไข เพราะคำสั่งที่นำมาอุทธรณ์นั้น ไม่ถูกต้องบางส่วน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงวินิจฉัยให้แก้ไขในส่วนที่ไม่ถูกต้อง
ยกเลิกคำสั่งลงโทษ และอาจมีคำสั่งให้เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้อุทธรณ์ด้วยก็ได้ รวมทั้งเร่งรัดติดตามการเยียวยา หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่จะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้
เนื่องมาจากคำสั่งที่นำมาอุทธรณ์นั้น เป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฏหมาย อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์นั้นฟังขึ้น จึงวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่ง ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับให้เพิกถอนคำสั่ง
ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร.ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทราบ หรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.
ผู้บังคับบัญชาผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
ระยะเวลาพิจารณาวินิจฉัย หากไม่แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ก็ให้ขยายได้อีก 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 30 วัน หรือรวมแล้วไม่เกิน 240 วัน ซึ่งปกติถ้าคู่กรณีไม่ขอขยายระยะเวลาทำคำแก้อุทธรณ์ และผู้อุทธรณ์ไม่มีประเด็นความเห็นแย้งในสาระสำคัญในคำแก้อุทธรณ์ดังกล่าว
การพิจารณาวินิจฉัย ก็จะใช้เวลาไม่เกินกว่ากรอบแรก ตามที่กฎหมายกำหนด คือ 120 วัน เพราะเป็นสำนวนคดีดังกล่าว ไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อนอะไรมากนัก ดังนั้นขณะนี้เหตุจะช้าหรือเร็ว จึงขึ้นอยู่กับว่าคู่กรณีได้ขอขยายเวลาทำคำแก้อุทธรณ์ หรือผู้อุทธรณ์มีความเห็นแย้งในสาระสำคัญดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น
อ่านข่าว
“บิ๊กโจ๊ก” ถอนฟ้อง “ผบช.น.-พนักงานสอบสวน” อ้างร้อง ป.ป.ช.แล้ว