หน้าแรก Voice TV 'ยุติเรื่อง' กรณี 2 นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวจริง แต่ไม่มีต้นสังกัดหรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว

'ยุติเรื่อง' กรณี 2 นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวจริง แต่ไม่มีต้นสังกัดหรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว

77
0
'ยุติเรื่อง'-กรณี-2-นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวจริง-แต่ไม่มีต้นสังกัดหรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว

คณะกรรมการ สภาการสื่อมวลชนฯ เห็นชอบคำวินิจฉัย กรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว โดยพบว่านักข่าว 2 ราย ที่ถูกพาดพิง ‘รับเงินจริง’ เป็นการกระทำละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เนื่องจากนักข่าวทั้ง 2 ราย ไม่มีต้นสังกัดหรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว จึงมีมติให้ยุติเรื่อง

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายนพปฎล รัตนพันธ์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้เห็นชอบคำวินิจฉัย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ 1/2567 เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว สืบเนื่องจากกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะออกไปอย่างแพร่หลาย

สำหรับคำวินิจฉัยดังกล่าวฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า นักข่าวที่ถูกพาดพิงทั้ง 2 ราย ทั้งที่มีสังกัดและไม่มีสังกัด มีการรับเงินจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามข่าวจริง และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ข้อ 26 ที่ระบุว่า ‘ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน’ แต่เนื่องจากนักข่าวทั้ง 2 รายไม่มีต้นสังกัด หรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว จึงมีมติให้ยุติเรื่อง แม้ว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นต้นเรื่องจะไม่ได้มาให้การกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ตาม แต่มีหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องว่า มีการจ่ายเงินแก่นักข่าวจริง

สำหรับคำวินิจฉัยฉบับเต็ม 

สืบเนื่องจากกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะออกไปอย่างแพร่หลาย

ต่อมาองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 7 องค์กร ได้ร่วมประชุมกันเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 และแสดงจุดยืนต่อสาธารณะว่า สื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าวเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้ พร้อมทั้งเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชนโดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก องค์กรละ 2 คน (เป็นคนในวิชาชีพ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 1 คน) รวมเป็น 6 คน และให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาเป็นประธานคณะกรรมการอีก 1 คน รวมเป็น 7 คน โดยมีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 มีนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธาน กำหนดให้ดำเนินการเสนอผลการสอบข้อเท็จจริงภายในระยะเวลา 120 วัน และขอขยายเวลาได้ครั้งละ 30 วัน แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ส่งผลการตรวจสอบมาให้คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนพิจารณาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 โดยระบุว่าคณะกรรมการฯ ได้ประชุมกันทั้งสิ้น 7 ครั้ง พร้อมทั้งได้รวบรวมข่าว ภาพข่าวและวิดีทัศน์การให้สัมภาษณ์ของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดังกล่าว จากนั้นได้เชิญสื่อมวลชนและต้นสังกัดของสื่อมวลชนที่ถูกระบุชื่อ มาให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการ รับฟังได้ว่า นักข่าวที่ถูกพาดพิงยอมรับว่า เคยรับเงินจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2 ครั้งๆ ละ 10,000 บาท ครั้งแรกเป็นเงินช่วยเหลือขณะที่บิดาป่วยเข้าโรงพยาบาล ส่วนอีกครั้งเป็นการรับเงินระหว่างไปทำข่าว โดยยืนยันว่า เป็นการรับแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่ได้ร้องขอ เมื่อผู้ใหญ่ให้ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ และยอมรับว่ากระทำการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ส่วนองค์กรสื่อที่มีนักข่าวถูกพาดพิงได้ให้ข้อมูลเป็นเอกสารแก่คณะกรรมการ ระบุว่า ทางองค์กรยึดถือปฏิบัติตามข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนมาโดยตลอด และไม่มีนโยบายให้นักข่าวในสังกัดไปรับเงินจากแหล่งข่าวไม่ว่าในกรณีใดๆ เมื่อทราบข่าว จึงสั่งนักข่าวที่ถูกพาดพิงยุติการปฏิบัติหน้าที่พร้อมทั้งมีการสอบสวนตามกระบวนการในองค์กรโดยทันที พบว่า การกระทำของนักข่าวคนดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต่อมานักข่าวคนดังกล่าวได้แสดงความรับผิดชอบขอลาออกจากการเป็นพนักงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566

คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้ประชุมพิจารณาผลการสอบสวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า นักข่าวที่ถูกพาดพิงทั้ง 2 ราย ทั้งที่มีสังกัดและไม่มีสังกัด มีการรับเงินจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามข่าวจริง และการกระทำดังกล่าว เป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2564 ข้อ 26 ที่ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน” แต่เนื่องจากนักข่าวทั้ง 2 รายไม่มีต้นสังกัด หรือลาออกจากต้นสังกัดแล้ว จึงมีมติให้ยุติเรื่อง แม้ว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นต้นเรื่องจะไม่ได้มาให้การกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ตาม แต่มีหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องว่า มีการจ่ายเงินแก่นักข่าวจริง

อนึ่ง คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติยังเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ว่า องค์กรสื่อมวลชนต้องไม่ว่าจ้าง ไม่ซื้อข่าวและไม่สนับสนุนนักข่าวอิสระที่มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะที่นักข่าวอิสระต้องเปิดเผยตัวตนให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและไม่หลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแลด้านจริยธรรมจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นอกจากนี้ องค์กรสื่อมวลชนควรพิจารณาให้ผลตอบแทนและสวัสดิการแก่นักข่าวอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยเฉพาะการซื้อข่าวจากนักข่าวภูมิภาคหรือนักข่าวท้องถิ่นต้องให้ค่าตอบแทนเหมาะสมและมีสัญญาที่ชัดเจนอีกด้วย.

ที่มา : www.presscouncil.or.th

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่