นายกฯเศรษฐาปลื้ม! คนไทยใช้ระบบดิจิทัลทางการค้าระหว่างประเทศ อันดับ 32 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน จากผลสำรวจของ Global Trade Modernization Index 2024 สะท้อนความก้าวหน้าในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล
ผลสำรวจของ Global Trade Modernization Index 2024 (GTMI) ดัชนีประเมินความพร้อมทางเศรษฐกิจสำหรับการใช้ระบบดิจิทัลทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ
(https://www.asiaglobalinstitute.hku.hk/global-trade-modernization-index)
จัดทำโดย Asia Global Institute, ICC Digital Standards Initiative และ Milken Institute โดยได้รวบรวมข้อมูลของ 65 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พิจารณาจากดัชนีชี้วัดสู่ความพร้อมทางการค้าดิจิทัล (Digital Trade) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ 5 ประการ ได้แก่
1. การลดการใช้กระดาษทางการค้า (Paperless Trade) 30%
2. การเปิดกว้างทางการค้า (Trade Openness) 10%
3. สภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ (Regulatory Environment) 25%
4. ความพร้อมของภาคธุรกิจ (Business Readiness) 25% และ
5. ทุนมนุษย์ (Human Capital) 10%
‘ประเทศไทย’ ติดอันดับที่ 32 จากทั้งหมด 65 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียน ด้วยคะแนนรวม 66.4 คะแนน จำแนกเป็น
– การลดการใช้กระดาษทางการค้า 22.5%
– การเปิดกว้างทางการค้า 7.2%
– สภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ 16.1%
– ความพร้อมของภาคธุรกิจ 14.5%
– ทุนมนุษย์ 6.1%
สะท้อนความสำเร็จของการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเพิ่มความทันสมัยให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยี ต่อยอดยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ซึ่งเห็นได้ว่าแต่ละดัชนีชี้วัดของไทยล้วนได้รับการประเมินด้วยผลคะแนนที่เกินครึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนด ปัจจุบันรัฐบาลจึงเน้นย้ำถึงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สอดรับกับวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) พร้อมดำเนินการเพื่อพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างไร้รอยต่อ เช่น นโยบายรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Cloud First Policy) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชน โครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ตลอดจน การเสริมสร้างทักษะ เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital)
‘ผลสำรวจดังกล่าวถือเป็นความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี และการดำเนินนโยบายแบบมีแบบแผนเป็นขั้นเป็นตอน กระจายการทำงานแบบมีการบูรณาการ จึงทำให้เห็นแนวโน้มที่สะท้อนความคืบหน้าในการเร่งพัฒนาและผลักดันการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเสมอว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการลงทุน และรัฐบาลจะยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง (High Value Economy) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกภาคส่วน’ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าววันนี้ (12 มิ.ย.2567)