วันนี้ (14 มิ.ย.2567) สำนักงานงบประมาณของรัฐสภา จัดสัมมนาวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีเนื้อหามิติเศรษฐกิจมหาภาคและการคลัง การรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถและความอิสระของฝ่ายนิติบัญญัติในกระบวนการงบประมาณ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 กล่าวว่า คาดหวังจะรับทราบเสียงสะท้อนจากประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงการจัดทำงบประมาณต่อไป ทั้งงบกลางตามอำนาจของนายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัตินั้นจะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อให้การใช้งบแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใส ความคุ้มค่าและเป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ
งบกลางของนายกรัฐมนตรีพอใช้ไม่หมด 1 ปี ไม่สามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมารัฐบาลก็มีเทคนิคที่จะหลบเลี่ยงในการตรวจสอบต่าง ๆ สิ่งนี้ฝ่ายนิติบัญญัติจำเป็นจะต้องเข้มแข็ง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลฝั่งโน้นฝั่งนี้ไปรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลตลอดชีวิตหรือเป็น 100 ปี ผลัดเปลี่ยนกันไปแต่การตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องเข้มแข็ง
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ต่อว่าปัจจุบันนี้สภาฯอยู่อย่างประหยัด อยู่อย่างเท่ เราใช้เงินไม่หมด ก็คืนให้กับรัฐบาลทุกปี ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท และไม่สามารถแปรญัตติเพิ่มงบประมาณให้กับตัวเองได้ เพราะกลัวขัดรัฐธรรมนููญที่ไม่ให้ สส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะกลัวเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง
ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 68
สำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 3,752,700 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีงบกลางในสัดส่วนร้อยละ 21 หรือจำนวน 805,745 ล้านบาท ซึ่งพบว่าในงบกลางปรากฏงบรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 152,700 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นงบดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
สำหรับ 5 กระทรวง ที่ได้รับการจากกันงบสูงสุดยังคงเป็นกระทรวงเดิม ได้หลักแสนล้านบาท คือ
- กระทรวงการคลัง 390,314 ล้านบาท
- กระทรวงศึกษาธิการ 340,584 ล้านบาท
- กระทรวงมหาดไทย 294,863 ล้านบาท
- กระทรวงกลาโหม 200,923 ล้านบาท
- กระทรวงคมนาคม 193,618 ล้านบาท
เมื่อจำแนกงบฯของกระทรวงกลาโหมแต่ละเหล่าทัพ กองทัพบกได้รับการจัดสรรสูงสุด 96,605 ล้านบาท รองลงมาคือ กองทัพเรือ 41,593 ล้านบาท กองทัพอากาศ 36,940 ล้านบาท และกองทัพไทย 15,208 ล้านบาท
สำหรับ กรอบการพิจารณาในช่วงเปิดสมัยประชุมวิสามัญ 4 วัน วันแรก วันที่ 18 มิ.ย.นี้ จะเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาในการดำเนินการโดยเฉพาะเรื่องการกำหนดเสียงข้างมาก 2 ชั้น
จากนั้นระหว่างวันที่ 19 – 21 มิถุนายน จะเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วาระแรกรับหลักการ เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึงจนถึงช่วงดึกในแต่ละวัน และในวันสุดท้ายจะเป็นการลงมติรับหลักการพร้อมตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษา ซึ่งกรอบเวลาฝ่ายค้านและรัฐบาลได้ฝ่ายละ 20 ชั่วโมง ประธานได้เวลา 1 ชั่วโมง ในการควบคุมการประชุม
อ่านข่าว : “จิรายุ” ชี้เอกสารเก่า ระเบียบกองทัพไม่มีเก็บค่า WiFi ทหารเกณฑ์
G7 ใช้ดอกเบี้ยจากสินทรัพย์รัสเซียที่ถูกยึด ปล่อยกู้ให้ “ยูเครน”