ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนำเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ของพรรคเพื่อไทย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ
วันนี้ (18 มิถุนาน 2567) พรรคเพื่อไทยเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำเสนอร่างฯของพรรคเพื่อไทย
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เพื่อนำไปสู่การทำประชามติสอบถามประชาชน และการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พรรคเพื่อไทยได้เสนอพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564
1.จากเดิม ที่ไม่ได้กำหนดให้วันออกเสียงให้สามารถกำหนดเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีการเลือกตั้งทั่วไป หรือวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากครบวาระได้ จึงทำให้ต้องกำหนดวัน ออกเสียงแยกต่างหากจากวันเลือกตั้ง ทั้งที่อาจอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เป็นการเพิ่มภาระงาน และงบประมาณแผ่นดินในการจัดการออกเลียง อีกทั้งเป็นภาระกับประชาชนที่ต้องมาใช้สิทธิออกเสียง หลายครั้ง ดังนั้นจึงอาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้
2.สำหรับวิธีการออกเสียง จากเดิมที่กำหนดให้การออกเสียงกระทำโดยใช้บัตรออกเสียงเป็นหลัก ส่วนวิธีการออกเสียงโดยวิธีอื่น เป็นเพียงทางเลือกที่คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีได้ แก้ไขเป็น การกำหนดวิธีการออกเสียงสามารถกระทำได้โดยวิธีการต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อความสะดวกของประชาชนผู้มาใช้สิทธิ
3.การแก้ไขในเรื่องผลการออกเสียงที่ถือว่ามีข้อยุติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ ออกเสียงเต็มจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิออกเสียง ในเรื่องที่จะจัดทำประชามติ ซึ่งเห็นว่าไม่ควรแยกประเภทการออกเสียงว่าเป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ หรือเป็นเพียงการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี เนื่องจากกระบวนการจัดการออกเสียง เป็นกระบวนการเดียวกัน และใช้งบประมาณจำนวนมาก เป็นการไม่คุ้มค่ากับงบประมาณหากจะจัดการออกเสียงเพียงเพื่อให้การปรึกษา และหากกำหนดให้ผลการออกเสียงต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น (เสียงข้างมากเด็ดขาด) เห็นว่าเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ
เนื่องจาก การออกเสียงประชามติต่างกับการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแปรในการหาเสียงและรณรงค์ ให้คนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง (ซึ่งหลายครั้งยังพบว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) แต่การออกเสียงประชามติเป็นเพียงการสอบถามความเห็นของประชาชนในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ซึ่งประเด็นนั้นอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไป จึงไม่มาใช้สิทธิออกเสียง ดังนั้น จึงไม่ควรนำจำนวนประชาชนในส่วนนี้มาเป็นผลต่อการออกเสียง และควรแก้ไขให้การออกเสียงถือเพียง เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ จะจัดทำประชามติ ซึ่งสอดคล้องกับการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ใช้เพียงเสียงข้างมากธรรมดา
4.กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ต้องจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541