วันนี้ (1 ก.ค. 67) นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวถึงการเลือก สว.ที่มีความซับซ้อนดังนี้ กรณีดังกล่าวต้องแยก 3 เรื่อง ได้แก่
1.บทบัญญัติของกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไปแล้วว่าในส่วนของตัวกฎหมายไม่มีอะไรขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
2.การทำหน้าที่ของกรรมการซึ่งในระบบการเลือกกันเองแบบนี้เหมือนการเล่นกีฬา ในการเลือกกันเองกรรมการที่เข้าไปอยู่ในวงรอบต้องทำหน้าที่อย่างเข้มงวดเช่น โพย อุปกรณ์มือถือ ต้องไม่ให้เอาเข้าไปและต้องจับตาดูอยู่ตลอดเวลาถ้ามีอะไรบิดพลิ้ว หรือ ควรสงสัยต้องตัดออกไปทันที จากนั้นให้บรรดาผู้ที่ถูกตัดออกไปไปร้องศาลฯหากเอาเอง ถ้าศาลให้กลับมาก็กลับมาแต่ถ้าไม่ให้กลับมาก็แล้วไป
3.คนไม่ดี มีการซื้อมีการโกงต่อให้ระบบดีแค่ไหนก็ไม่พ้นการทำให้เกิดปัญหา
ดังนั้น ประชาชนต้องช่วยกันและไม่มีระบบใดที่คัดกรองคนไม่ดีออกไปหมด วันนี้ ได้สว.มาแล้ว 200 คน ได้สำรองมา 100 คน เมื่อได้ผู้มาทำหน้าที่ก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองหรือเป็นฝ่ายเดียวกับผู้มีอิทธิพล หากการทำหน้าที่ไม่ยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักแต่ยึดผลประโยชน์ของพวกพ้องจะต้องจัดการ
นายเจษฎ์ ยอมรับว่า ระบบนี้มีข้อขัดข้องหากจะแก้วิธีที่ง่ายที่สุด คือให้การเลือกทุกระดับทำในครั้งเดียวกัน ห้ามนำอุปกรณ์มือถือและโพยเข้าไป
หากในกระบวนการดังกล่าวทำครั้งเดียวแล้วมีคนนอกรู้แสดงว่า เป็นเจ้าหน้าที่ที่เผยแพร่ข้อมูลจะต้องจับให้ได้ หรืออาจเพิ่มการคัดกรองผู้สมัครเป็น 40 กลุ่ม แต่อย่าคิดเพียงสั้น ๆ ว่า ระบบไม่ดี แล้วเปลี่ยนเป็นหย่อนบัตรเลือกตั้ง อย่าไปทำแบบเลือกตั้ง สส.ที่มีปัญหาแล้วเปลี่ยนเลย ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมา
พร้อมกันนี้ นายเจษฎ์ ได้อ้างอิงข้อมูลที่ฟังมา ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ว่า ในการเลือกระดับอำเภอ มีการจ้างผู้สมัครคนละ 5,000 บาท ซึ่งจะเป็นค่าสมัคร 2,500 บาท ส่วนในรอบไขว้ ให้พกเงินสดติดตัวไปเพื่อจ่ายในชั้นไขว้
แต่พอไปเลือกระดับจังหวัดรอบแรกจ่าย 10,000 บ. รอบเลือกไขว้จ่าย 50,000 บ.พอการเลือกระดับประเทศ จ่ายรอบเลือกกลุ่มเดียวกัน 100,000 บ. และจ่ายในรอบเลือกไขว้ 500,000 บ.
หากเป็นเรื่องจริงนี่เป็นข้อด้อย เพราะสะท้อนว่า การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งคนที่ทำให้เป็นปัญหามากที่สุดคือ คนที่อยู่ในกระบวนการและรับเงิน อย่าไปติติงกระบวนการ ต้องติงที่บุคคลด้วย ทุกท่านที่ฮั้วกัน คือคนที่ทำให้ระบบแย่หมดเลย เหล่านี้คือสิ่งที่พูดว่าท่านเป็นคนไม่ดี นี่คือปัญหาประการแรก
นายเจษฎ์ ยังชี้ว่า ในช่วงระยะห่าง 10 วัน ระหว่างระดับจังหวัดไปถึงระดับประเทศ ทำให้เกิดการวิ่งเต้นกันมาก ดังนั้นหากจะแก้ระบบคือต้องแก้ให้จบภายในวันเดียว
สุดท้ายอำนาจของ สว.เวลาที่จะเลือกกรรมการในองค์กรอิสระหรือตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่มีคำอธิบายหรือซักค้านจึงแนะให้เชิญบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อมาชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภา หรือเรียกว่าการไต่สวนสาธารณะให้ประชาชนได้ติดตามตรวจสอบ
นายเจษฎ์ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์คุณสมบัติของว่าที่ สว.ทั้ง 200 คน จนทำให้การเลือกเป็นโมฆะหรือไม่ว่า หากการเลือกเป็นจะโมฆะ ต้องมาจากเหตุผลว่า คนส่วนใหญ่โกง ฮั้ว หรือเข้ามาโดยมิชอบ หากเป็นเช่นนั้นก็ให้กระบวนการโมฆะไป แต่หากความรู้ยังไม่ได้หรือประสบการณ์ยังไม่เหมาะ แต่ไม่ได้โกงไม่ได้ฮั้วอย่าไปตัดรอนแค่นั้น รอให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์
อย่าคิดว่า คนมีวุฒิ ป.4 ทำอะไรได้น้อยกว่าคนจบปริญญาเอก คนจบปริญญาเอกทำอะไรไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวเยอะแยะ คนจบ ป.4 ทำอะไรดีงามมากมายคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนแต่ทำงานแล้ว สามารถเรียนรู้งานได้ รวดเร็วก็มีมาก แต่สิ่งที่จำเป็นจะต้องอธิบายทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานในสภา ให้เข้าใจถึงการเชื่อมการทำงาน นิติบัญญัติ ตุลาการ ฝ่ายบริหาร และความรู้ทางการเมือง เพื่อให้ สว.ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามี สว.สายสีน้ำเงินเยอะ นายเจษฎ์ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะมีสายสีส้ม สีแดง สีน้ำเงินเยอะ แต่หากไม่มีการฮั้วไม่โกง สายไหนก็เข้ามาเถอะ แต่ถ้ามีการฮั้ว โกง มาจากสายไหนก็ไม่ดีทั้งนั้น อย่างที่ได้ย้ำบอกว่าถ้าอยากให้บ้านเมืองดี ช่วยทำให้การเมืองดี หากอยากให้บ้านเมืองเลวก็ทำให้การเมืองเลว เพราะถ้าหากบ้านเมืองเลวทุกอย่างก็เลวหมด