หน้าแรก Voice TV ทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาฯ และศึกษาความเป็นไปได้ในการ ‘ให้ต่างชาติเช่าที่ 99ปี – ซื้อคอนโดฯ 75%’

ทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาฯ และศึกษาความเป็นไปได้ในการ ‘ให้ต่างชาติเช่าที่ 99ปี – ซื้อคอนโดฯ 75%’

37
0
ทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาฯ-และศึกษาความเป็นไปได้ในการ-‘ให้ต่างชาติเช่าที่-99ปี-–-ซื้อคอนโดฯ-75%’
ทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาฯ และศึกษาความเป็นไปได้ในการ ‘ให้ต่างชาติเช่าที่ 99ปี – ซื้อคอนโดฯ 75%’

ทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคอสังหาฯ และการแก้ไขข้อกฎหมาย ‘ให้ต่างชาติเช่าที่ 99ปี – ซื้อคอนโดฯ 75%’ ซึ่งทางมหาดไทยกำลังดำเนินการ ‘ศึกษา’ ความเป็นไปได้ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่เรื่องของการขายชาติ

ย้อนกลับไปวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ซึ่งนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีมติ ‘เห็นชอบ’ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับ การดำเนินการยกระดับประเทศไทย สู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision)

IMG_81570_20240409184014000000.jpg

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ แถลงข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) สรุปสาระสำคัญดังนี้

1. การปรับปรุงมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 

โดยลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะที่จดทะเบียนโอนในคราวเดียวกัน สำหรับการซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อาคารที่ อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ทั้งนี้ สำหรับผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

2. มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน 

กำหนดให้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) หักลดหย่อนค่าจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้างตั้งแต่วันนี้ (9 เมษายน 2567) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลัง ในปีภาษีที่ก่อสร้างบ้านเสร็จ ตามสัญญาจ้างที่ ได้กระทำขึ้นและเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันนี้ (9 เมษายน 2567) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และได้เสียอากรแสตมป์โดยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

3. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท 

โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนสินเชื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวย ความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี โดยประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ

4. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท 

โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อ ให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อม ปลูกสร้างอาคาร เพื่อต่อเติม ขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.98 ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2,500,000 บาทขึ้นไป โดยประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ

5. การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI) 

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศที่ ส. 1/2567 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2567 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน ไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เช่น 

1) ที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริม กรณีอาคารชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร และกรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว ต้องพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร 

2) การก่อสร้างที่อยู่อาศัย ที่ขอรับการส่งเสริมต้องจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยก่อสร้างที่อยู่อาศัย (รวมค่าที่ดิน) ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท 

3) ต้องมีที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของที่อยู่อาศัยทั้งโครงการ 

4) มีแผนผังและแบบแปลน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และได้รับการอนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

5) ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2568 เป็นต้น

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน ภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ 

1) โครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.95 ต่อปี โดยปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.95 วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 7,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี พร้อมเงื่อนไขเงินงวดผ่อนชำระต่ำพิเศษ เริ่มต้น 2,500 บาทต่อเดือน โดยสามารถยื่นคำขอกู้กับธนาคารออมสินได้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 

2) โครงการสินเชื่อ D-HOME สำหรับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการนำไปเป็นเงินลงทุน ได้แก่ ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค หรือเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.50 ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ฟรีค่าธรรมเนียม โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

มาตรการดังกล่าวข้างต้นช่วยจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิด การจ้างงาน การผลิต รวมถึงอาจก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม 

‘การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ’ ซึ่งมีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ Thailand Vision

นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีประเด็น ‘การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ’ ซึ่งมีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ที่มีเป้าหมายในการดึงดูดนักลงทุนและผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้มาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการปรับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการถือครองทรัพย์สิน ดังนั้น ‘คณะรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ไปดำเนินการพิจารณา ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการซึ่งจะได้นำเสนอกลับ มาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง’

ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับ การดำเนินการยกระดับประเทศไทย สู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision)

006.gif

ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ป่วยติดเชื้อโควิด จึงลาราชการ และมอบหมายให้รองนายกฯภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการราชการแทนนายกรัฐมนตรี ประชุมและดำเนินการเรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อ ภายหลังการประชุม ครม. ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ความสรุปได้ว่า  

” ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 รองนายกฯภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการราชการแทนนายกรัฐมนตรี เสนอว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (9 เม.ย.2567) เรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษามาตราการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาค ตลอดดจนดึงดูดนักลงทุนขนาดใหญ่ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งเสริมการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาความเป็นไปได้ ดังต่อไปนี้ 

1. การพิจารณาทบทวนการกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิงสิทธิตามพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562 โดยกำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิมีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี

2. การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิคนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด จากเดิมไม่เกินร้อยละ 49 เป็นไม่เกินร้อยละ 75 โดยอาจกำหนดเงือนไขอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของนิติบุคคลอาคารชุด เช่น การจำกัดสิทธิการออกเสียงของคนต่างด้าวและนิติบุคคลต่างด้าวที่ได้เข้ามาถือกรรมสิทธิ์ในภายหลังจากที่เกินอัตราส่วนร้อยละ 49

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องตราหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายประการใดเพื่อรองรับการดำเนินการในเรื่องนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย และเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วจึงได้ลงมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รักษาราชการแทนนายกรัฐตรีเสนอ ”

IMG_84855_20240623161824000000.jpg

ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน 2567 เวลา 14.30 น. ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเร่งแก้กฎหมายให้ชาวต่างด้าวเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี-ซื้อคอนโดเพิ่มเป็น 75% ว่า ‘เป็นข้อเสนอแนะจากกระทรวงการคลังขึ้นมาเพื่อเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง คือ การให้ชาวต่างชาติเช่าระยะยาว ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายอยู่แล้วประมาณ 30 ปี หรือ 50 + 50 แต่เราคิดว่าถ้าเกิดจะให้เป็นธรรมไป 99 ปีจะดีกว่า ซึ่งไม่ได้เป็นการขายขาด หรือให้กับใครและในทุกๆ ประเทศก็มีลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว ที่ให้ชาวต่างชาติเช่า 150 ปี แต่เราคิดว่า 99 ปีก็เหมาะสม’

ส่วนเรื่องการถือครองคอนโดที่ให้ชาวต่างชาติถือครอง จากร้อยละ 49 เป็นร้อย 75 ตรงนี้มีรายละเอียดว่า คนที่มีสิทธิ์โหวตได้อยู่ที่ร้อยละ 49 เท่ากับคนไทยก็ยังเป็นใหญ่อยู่คือร้อยละ 51 ซึ่งในส่วนที่ปรับขึ้นจากร้อยละ 49 ไปเป็น 75 นั้นตรงนี้ ไม่มีสิทธิ์โหวต หรือออกเสียงใดๆ เพียงแต่เข้ามาอยู่อาศัยได้เท่านั้น’ และ

นายกฯเศรษฐามองว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดว่าคงไม่กระทบอะไร เพราะเรื่องการเช่าระยะยาว เช่นนี้มีอยู่แล้ว

นายกฯ ยันแก้ กม.ให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดิน-ถือครองคอนโดได้ถึง 75% เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้อต่างชาติและนายทุน ชี้ส่วนที่ถือครองคอนโดเกิน 49 % ไม่มีสิทธิ์โหวต

ทั้งนี้ ได้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์ต่อร่างกฎหมายดังกล่าว และในการประชุมสภา ผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันที่ 4 กรกฎาคม​ พ.ศ. 2567 นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล จึงได้ตั้งกระทู้สดด้วยวาจา ถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีที่มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2567 ในประเด็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ถึงกรณีการให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎหมายอาคารชุดให้ต่างด้าวถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยขยายเวลาการถือครองสิทธิ หรือเช่า แบบทรัพย์อิงสิทธิเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งไม่ใช่สั่งการให้ศึกษา แสดงว่าเป็นการตั้งธงไว้อยู่แล้ว อีกทั้งตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อต้องการช่วยบางอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ขายได้หรือไม่ อีกทั้งกรณีดังกล่าวนายเศรษฐาไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ครม. เพื่อเลี่ยงข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่? 

ขณะที่ในการประชุมสภา ผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันที่ 4 กรกฎาคม​ พ.ศ. 2567 นายกฯเศรษฐา ได้มอบหมายให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาตอบ แต่เนื่องจากรองนายกฯอนุทิน ติดภารกิจ จึงมอบหมายให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาตอบแทนโดย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า

‘เรียนด้วยความเคารพ วันที่มีมติ ครม. ให้ศึกษาเรื่องดังกล่าว ผมไม่อยู่ คงจะบอกได้เพียงว่า เป็นเพียงการสั่งที่ให้ไปดําเนินการศึกษา และกระทรวงมหาดไทยกําลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ แต่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ เพราะเพิ่งดำเนินการได้ 10 กว่าวัน แล้วต้องศึกษา ในแง่ของเศรษฐกิจ ในแง่ของกฎหมาย หลายอย่าง ผมยังคุยกับทางกรมที่ดินว่ามันต้องชัดเจน เพราะจะออกเป็นนโยบาย หรือจะแก้กฎหมาย มันต้องชัดเจนบอกได้ว่าเหตุผลอะไรดีอย่างไร ถึงจะให้เขาเพิ่มมาเป็น 75% ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ แล้วต้องไปศึกษาถึงขั้นขนาดว่าเขาจะครอบครองประเภทไหนมากกว่า ในการจะครอบครองจะเป็นแบบไหน อันนี้มันรายละเอียดเยอะ ไม่ใช่น้อยๆ แล้วท่านนายกรัฐมนตรี เร่งอยู่ว่าให้รีบดําเนินการ’ รมช.มหาดไทย กล่าว

นายชาดา กล่าวว่า เรื่อง พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ์ ที่จะขยายสิทธิ์เป็น 99 ปี นั้นเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ซับซ้อนพอสมควร ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีสั่งให้ทำการศึกษา ทางกรมที่ดินก็กําลังศึกษาอยู่เช่นกัน

ส่วนที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการ หรือสั่งการให้ไปศึกษาผลกระทบ นายชาดา ยืนยันว่า ‘การแก้กฎหมาย นายกรัฐมนตรี สั่งให้หน่วยงานต้องไปศึกษาผลดี ผลเสีย อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าสั่ง แล้วแก้กฎหมายปั๊บ เพราะการแก้ไขกฎหมายต้องเข้ามาสู่รัฐสภา จะต้องเป็นผู้ที่จะลงมติ มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ การแก้กฎหมายต้องศึกษา ท่านนายกจะสั่ง บอกให้มาแก้กฎหมาย แล้วแก้เลย โดยที่ไม่ดูผลได้ ผลเสีย เมื่อเอาเข้าสภาผู้แทนราษฎรจะโดนหนักเลย’

นายชาดา กล่าวว่า อยากให้มองเรื่องของธุรกิจ กับการที่ต่างชาติมาได้ผลประโยชน์ เราเป็นคนไทยไม่อยากให้ใครมาถือแผ่นดินเรา ไม่อยากให้ใครมาครอบครองแผ่นดินของเรา แน่นอนในความเป็นคนไทยทุกคนมีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ในบางเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องของธุรกิจและเป็นกลุ่มไม่ได้ใหญ่มากนัก ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาคิดกันดู แล้วต้องมาวิเคราะห์ ตนเองคงไม่ยอมให้ชาติไหนมาครอบครองประเทศไทย แล้วเดินกร่างไปทั่ว โดยที่คนไทยไม่มีสิทธิ์เข้าไป มันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องมาศึกษาในแง่ของเศรษฐกิจ ว่าในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้เราจะทําอย่างไร แล้ววันนี้โลกาภิวัฒน์ วันนี้การเคลื่อนที่ของกลุ่มทุนนั้นมาไวไปไว ทุกคนก็หาประโยชน์จากเงินทุนของต่างชาติ

ในเรื่องของเศรษฐกิจมันต้องทํา แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปยกที่ดินให้ใครนะ ผมเรียนด้วยความเคารพผมเองก็คงไม่ยอม ใครก็คงสั่งผมไม่ได้ แต่มันต้องเอามาดู เพราะว่า หลังท่านบอกว่าให้ไปแก้กฎหมายคือหมายถึงมันมีหลายเรื่อง อย่างที่ตอนนี้เราจะแก้กันเรื่องพรบ.จัดสรรที่ดิน เรื่องนิติบุคคล อะไรมากมาย ที่ท่าน สส.พรรคก้าวไกล เสนอมาแล้ว ผมบอกว่าให้ศึกษา เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่เรื่องของการขายชาติ ต้องเข้าใจตรงนี้ เราคงไม่ยอมแน่ แล้วต้องหาเหตุผลที่ดีว่ามันเหมาะสม กับเวลา แล้วมันสมควร ต้องมาว่ากันอีกที ผมเชื่อว่าถ้าเกิดมันเป็นผลเสียจํานวนมากเสนอท่านนายกฯ ท่านคงไม่ฝืนหรอก ผมเชื่อว่าอย่างงั้น ตอนนี้มันเป็นเพียงคําสั่งที่ให้ไปแก้กฎหมาย ว่าจะต้อง ทําอะไร ยังไง แค่นั้น เรียนด้วยความเคารพ สบายใจได้ในเรื่องนี้’ นายชาดา กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่