หน้าแรก Voice TV พูดคุย 3 คนทรู จากครูภาษาเยอรมัน นักเศรษฐศาสตร์ นักร้อง ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง กระโจนสู่สนามแห่งดาต้า

พูดคุย 3 คนทรู จากครูภาษาเยอรมัน นักเศรษฐศาสตร์ นักร้อง ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง กระโจนสู่สนามแห่งดาต้า

81
0
พูดคุย-3-คนทรู-จากครูภาษาเยอรมัน-นักเศรษฐศาสตร์-นักร้อง-ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง-กระโจนสู่สนามแห่งดาต้า
พูดคุย 3 คนทรู จากครูภาษาเยอรมัน นักเศรษฐศาสตร์ นักร้อง ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง กระโจนสู่สนามแห่งดาต้า

พูดคุย 3 คนทรู จากครูภาษาเยอรมัน นักเศรษฐศาสตร์ นักร้อง ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง กระโจนสู่สนามแห่งดาต้า

“การเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย” เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามปกติ นับตั้งแต่ยุโรปเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) และแพร่ขยายองค์ความรู้สมัยใหม่ไปทั่วทั้งโลก นำมาสู่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม จนมาถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไร แต่สิ่งที่ยังคงยืนหยัดและสะท้อนถึงธรรมชาติของเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็คือ การปรับตัวผ่านกระบวนการเรียนรู้

ท่ามกลางพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) True Blog ได้สนทนากับ 3 คนรุ่นใหม่ ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์โดยไม่มีที่สิ้นสุด

สาวอักษรเยอรมันกับบทบาท Data Engineer

Anik_01.jpg

พิชญา จรูญพงษ์ศักดิ์ หรือ อนิก ผู้เติบโตในครอบครัวที่พ่อและแม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำให้เธอมีความฝัน ตั้งเป้า และมุ่งมั่นเดินไปข้างหน้าสู่เส้นทางแม่พิมพ์ของชาติตั้งแต่เด็ก โดยเธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท สาขาวิชาภาษาเยอรมัน จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนวันหนึ่งเธอพิชิตฝันได้สำเร็จ รับหน้าที่ครูในโรงเรียนมัธยมและอาจารย์สอนคอร์สภาษาเยอรมันสำหรับบุคคลทั่วไป ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

การคลุกคลีกับ “ดนตรีคลาสสิก” ของเธอในช่วงปฐมวัย เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พิชญาสนใจศึกษาภาษาเยอรมัน แต่แล้วความสนใจนั้นก็ขยายวงสู่ความก้าวหน้าในวิทยาการ จนพบว่าเยอรมนีเป็นชนชาติที่มีระบบการจัดการองค์ความรู้ที่เป็นเลิศผ่านระเบียบวิธีคิดเชิง “โครงสร้าง” ทำให้คนรุ่นหลังสามารถสืบค้นองค์ความรู้ย้อนหลังได้นับร้อยปีผ่านห้องสมุด ทั้งยังเห็นลักษณะทางสังคมแต่ละยุคผ่านความนิยมของการใช้คำอีกด้วย

แต่แล้ววันหนึ่ง พิชญารู้สึกว่าโลกของเธอเริ่ม “แคบลง” ทุกวันๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการคลุกคลีกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ในทางกลับกัน เพื่อนในวัยเรียนที่เติบโตมาด้วยกันมีโอกาสไปเผชิญโลกที่แตกต่างหลากหลาย บ้างก็บริหารทรัพยากรบุคคล บ้างก็ทำสายการตลาด บ้างก็ไปเป็นทูต ถึงแม้พวกเธอจะไม่ได้ศึกษาสาขานั้นๆ โดยตรงก็ตาม

Anik_02.jpg

ทันใดนั้น เธอจึงตัดสินใจหยุดเครื่องจักรในสายอาชีพครูชั่วครู่ เพื่อขอไปเปิดประสบการณ์ ขยายขอบเขตการเรียนรู้ เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของตัวเธอเอง และที่นั่นก็คือ โครงการ True Next Gen ปี 2564 ที่เปิดกว้างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรโดยไม่จำกัดสาขาที่เรียน พร้อมให้โอกาสในการสับเปลี่ยนหมุนเวียนภาระหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

หน่วยงานแรกที่พิชญาเข้าไปดูแลคือ งานของสภาดิจิทัล ทำให้ได้เรียนรู้การจัดการเชิงนโยบาย ทั้งยังกระตุ้นความสนใจด้านดาต้าแก่เธออีกด้วย และงานที่ 2 ก็คือ งานพัฒนา VLEARN Platform มีโอกาสได้ผลิตคลาสเรียนออนไลน์ งานการตลาด รวมถึงการทำแอปอีกด้วย  และหน่วยสุดท้ายคือ Digitalization Center ที่ทำให้เธอได้สัมผัสกับเรื่องดาต้าอย่างจัง

ในเวลาเดียวกัน ทรูก็ได้เปิดรับสมัครโครงการ Data Science Immersive ซึ่งพิชญารีบร่อนใบสมัครคว้าโอกาสไว้ เพราะเธอมองว่า การมีทักษะเทคนิคเฉพาะด้านแบบนี้จะช่วยผลักดันศักยภาพตัวเองได้ไกลยิ่งขึ้น

Anik_03.jpg

ในวันแรกที่เข้าเรียน พิชญาสารภาพว่า เธอฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่ก็พยายามจับหลักให้ทัน เพราะเวลาไหลไปเร็วมาก การเรียนการสอนในทุกๆ วันเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด เมื่อจบวัน ก็ต้องกลับไปทำการบ้านที่เป็นโค้ดดิ้ง

พิชญาบอกว่า พื้นฐานทางภาษาศาสตร์อักษรศาสตร์ที่ติดตัวมา ช่วยให้เธอมีทักษะการจับแพทเทิร์นเพื่อเห็นโครงสร้างของฐานข้อมูล คล้ายคลึงกับตอนทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของเธอ ในหัวข้อ “ภาษาเยอรมันอย่างง่าย” ซึ่งเป็นการศึกษาหารูปแบบ/โครงสร้างทางภาษา เพื่อให้ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้สามารถอ่านและเข้าใจได้ โดยเฉพาะกับเอกสารทางราชการ

อย่างไรก็ตาม แม้ภาษามนุษย์และภาษาคอมจะมีสิ่งที่คล้ายคลึงกันในแง่โครงสร้าง ขณะเดียวกันก็มีจุดที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานด้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมรรถนะและการใช้พลังงานในการรับ-ส่งข้อมูล

“ภาษาคอมคนละเรื่องกับภาษามนุษย์ ภาษาคอมก็คือภาษาที่ใช้สื่อสารกับฮาร์ดแวร์ แต่ในความต่างก็มีความเหมือน นั่นคือ การจัดเรียงภาษาที่ซับซ้อนให้เป็นโครงสร้าง เห็นภาพที่เข้าใจง่ายขึ้น” พิชญา อธิบาย พร้อมเสริมว่า data practitioner ที่ดีควรมีทักษะ abstract thinking มองส่วนประกอบแบบองค์รวม

ภายหลังการเข้าคอร์สอย่างเข้มข้น พิชญามีโอกาสลงสนามจริงกับทีมพัฒนาซอฟแวร์ของแอป MorDee ตั้งแต่การพัฒนาซอฟแวร์ จนปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็น data engineer วางระบบการเดินทางของดาต้าเพื่อให้ยูสเซอร์นำไปใช้ประโยชน์ได้สะดวกขึ้น

Anik_04.jpg

หนุ่มเศรษฐศาสตร์ผู้กระโจนสู่เส้นทางศาสตร์แห่งดาต้า

เส้นทางชีวิตเปรียบได้กับการเล่นรถไฟเหาะ มีสมหวังมีผิดหวัง พร้อมเจอสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ตลอด เช่นเดียวกับ เรื่องราวของ เฉลิมชนม์ วงศ์โสภา หรือ อิม เด็กหนุ่มผู้ถือใบปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์ถึง 2 ใบ แต่แล้วก็ตกหลุมและหลงใหลให้กับความน่าสนใจของดาต้า

Im_01.jpg

เฉลิมชนม์ร่ำเรียนเรื่อย ๆ ไปตามระบบ แต่ก็ยังหาอาชีพในฝันไม่ได้ จนเมื่อเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องตัดสินใจ เขาจึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ โดยหวังว่าจะเข้าทำงานในหน่วยงานราชการอย่างกระทรวงการคลัง หรือสภาพัฒน์ แต่เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ความรู้สึก “ไม่มั่นใจ” กับการเข้าสู่สนามแห่งมืออาชีพของเขากลับดังขึ้น เกรงว่าตนเองจะไม่สามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีกับการทำงานจริงได้ เฉลิมชนม์จึงตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันทันที

“เศรษฐศาสตร์​ถือเป็นสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับหลายศาสตร์ทั้ง คณิต สถิต สังคมศาตร์ ซึ่งผู้เรียนต้องรู้จักการประยุกต์พลิกแพลง และนี่คือสเน่ห์ของเศรษฐศาสตร์” เฉลิมชนม์ อธิบาย

ระหว่างนั้น เขาก็เริ่มร้อนวิชา ต้องการหาวิธีใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ในสนามจริง จึงได้ไปสมัครงานที่บริษัทวิจัยในตำแหน่ง data analyst และนั่นจึงนำพาให้เขาเข้าใจการทำงานของดาต้าและหลักสถิติมากขึ้น

Im_02-2048x1366.jpg

“เมื่อต้องทำงานจริง การวิเคราะห์ข้อมูลก็เปรียบได้กับการต่อจิ๊กซอว์ เราต้องค่อยๆ ปะติดปะต่อ ภายหลังที่ต่อจนได้ภาพที่สมบูรณ์ เมื่อนั้นเราก็จะเห็นคำตอบที่อยู่ในข้อมูลเหล่านั้นเอง” เฉลิมชนม์ กล่าวพร้อมเล่าต่อว่า ที่เดียวกันนี้เอง ทำให้เขารู้จักกับอาชีพ data scientist พลันเมื่อเห็นวิธีคิดและการทำงานเพื่อพยากรณ์แนวโน้มแล้ว ยิ่งกระตุ้นต่อมความสนใจของเขา จนหาคอร์สสั้นๆ ลงเรียนเอง

หลังจากตรากตรำกับการเรียนและงานวิจัยเป็นเวลา 2 ปีเต็ม เฉลิมชนม์ก็คว้าดีกรีปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์มาได้ พร้อมกับบทบาทและองค์กรเป็น Business Intelligence Analyst รับผิดชอบงานพัฒนา dashboard เพื่อแสดงผลข้อมูล ที่ธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง แม้จะพอคลุกคลีกับงานดาต้ามาบ้าง แต่เมื่อระบบโปรแกรมที่ใช้ต่างกัน เฉลิมชนม์จึงต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

ความพยายามอยู่ที่ใด ความสำเร็จอยู่ที่นั่นฉันนั้น เขาใช้เวลาช่วงเช้าก่อนเข้างาน เพื่อเรียนลงลึกเกี่ยวกับโปรแกรมนั้น โดยเขารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ด้วยเหตุผลว่าตรงจุดและสนุก จนสามารถใช้โปรแกรมได้อย่างชำนาญการ แต่กระนั้น เฉลิมชนม์ยังคงมีความรู้สึก “ค้างคา” เพราะความใคร่รู้ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างการเข้าใจถึงที่มาข้อมูลที่ต้องอาศัยทักษะเทคนิคอื่นๆ

Im_04.jpg

ในเวลาเดียวกัน เฉลิมชนม์เห็นข้อความประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการ Digital Science Immersive โดย ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อให้โอกาสกับผู้ที่สนใจด้านดาต้าได้มีโอกาสฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง พร้อมเข้าสู่สนามดาต้าอย่างมืออาชีพ แน่นอนว่าเขารีบยื่นใบสมัครทันที พร้อมกับเป็น 1 ใน 6 คนที่ได้รับทุนเรียนฟรี

สำหรับคอร์ส Data Science Immersive ดำเนินการสอนโดย General Assembly สถาบันการศึกษา ผู้บุกเบิกแนวทางการเปลี่ยนสายอาชีพสู่สายเทคและดิจิทัล จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งคอร์สเรียนดังกล่าวกินเวลาทั้งสิ้น 3 เดือนเต็ม ตั้งแต่เช้าถึงเย็น เหมือนกลับไปเรียนมัธยมฯ ใหม่

เหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ความค้างคาในใจเริ่มจางลง พร้อมกับความฝันที่ชัดขึ้นกับเป้าหมายการทำหน้าที่ data scientist ด้วยเวลาเพียง 3 เดือน เฉลิมชนม์ประเมินความสามารถด้านดาต้าของตัวเองพัฒนาขึ้นถึง 80-90% ซึ่งนอกจากความรักดาต้าเป็นทุนเดิมแล้ว วิธีการสอนและความใส่ใจของอาจารย์จาก General Assembly ก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้เรียน

Im_03.jpg

การเรียนการสอนของ General Assembly มีความต่างจากระบบการสอนแบบไทยอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดคึอ ความรักในงานของอาจารย์ที่เราสัมผัสได้ ทุกเช้าจะมีการรีวิวเนื้อหา ปรับคอร์สตามสภาวะการเรียนรู้ และยังะคอยเช็คอุณหภูมิของห้องตลอดเวลา อันไหนง่ายไป ยากไป ถ้าเครียดก็จะใส่มุกตลก ให้บรรยากาศการเรียนสนุกขึ้น

“ที่สำคัญ ยังมีเซสชั่นที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนในคอร์สได้ถกเถียงและอภิปรายถึงประเด็นที่เกิดขึ้นนอกตำราอย่างสร้างสรรค์ การมองข้อมูลที่ต่างมุม รวมถึงจริยธรรมด้านดาต้าที่ต้องคำนึงถึงอย่างแรก”

ปัจจุบัน เฉลิมชนม์ทำงานในตำแหน่ง data scientist สายงาน People & Organization Strategy, and Analytics ของทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งถือเป็นตำแหน่งใหม่และเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กับภารกิจเปลี่ยนองค์กรสู่ AI-First Organization ที่ตั้งเป้าไว้

จากเส้นทางดนตรี สู่นักสื่อสารด้วยดาต้า

หากใครได้ดูรายการประกวดร้องเพลงยุคบุกเบิก The Star ค้นฟ้าคว้าดาว อาจคุ้นๆ เห็นเธอคนนี้ผ่านตามาบ้าง ภัควลัญชณ์ โชติพิชชานันช์ หรือ ดิ๊ง เพราะเธอเป็นหนึ่งในผู้เข้าประกวดรอบ 20 คนสุดท้ายของรุ่น 4 สะพานอีกเส้นที่สานฝันอาชีพนักร้อง นักแต่งเพลงในวัยเด็ก เธอมุ่งมั่นกับมันอย่างมาก ถึงขั้นศึกษาเต็มเวลาในระดับปริญญาตรี คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาดนตรีเชิงพาณิชย์ ม.ศิลปากร

Dink_01.jpg

ความฝันย่อมเป็นเพียงความฝันหากไม่ลงมือทำ แต่นั่นไม่ใช่ภัควลัญชณ์ เพราะเธอมุ่งมั่นคว้าฝันด้วยการฝึกฝนทั้งร้องเพลงทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งการฝึกตัวเองอย่างนี้ตั้งแต่เด็กช่วยบ่มเพาะให้เธอกลายเป็นคนมีวินัย จนกระทั่งอายุ 18 ปี เธอได้เป็นครูสอนร้องเพลงตามที่ฝันไว้ที่สถาบันดนตรีมีฟ้า ซึ่งเป็นโรงเรียนดนตรีในเครือ GMM Grammy และเป็นผู้สอนระดับขั้นสูง (KCI Advance Instructor) ของสถาบัน KPN Music Academy

แต่เมื่อทำงานสอนครบ 8 ปี ภัควลัญชณ์รู้สึกถึงจุด “อิ่มตัว” เธอจึงมองหาความท้าทายใหม่ๆ ขณะนั้นเธอพึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการตลาด จาก NIDA และนั่นจึงเป็นจุดหักเห เบนเข็มพาเธอเข้าสู่การทำงานในองค์กรเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยเริ่มจากงานที่ศูนย์บริการลูกค้า จากนั้นจึงย้ายสู่สายงานสื่อสารองค์กร ทำหน้าดูแลงานสื่อสารภายในองค์กร

ช่วงปี 2560 เป็นยุคที่โซเชียลมีเดียเริ่มบูม คอนเทนท์บนฟีดมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ที่เตะตาภัควลัญชณ์อย่างมากเลยคือ “อินโฟกราฟิก” และ “วิดีโอสั้น (short-form video)” เพราะเนื้อหาที่ย่อยมาแล้ว ดูปราดเดียวก็เข้าใจ เธอในบทบาทนักสื่อสารจึงอยากสร้างสรรค์ให้ได้บ้าง และนั่นถือเป็นจุดสตาร์ท เพื่อพัฒนา hard skill โดยหาคอร์สเรียนโปรแกรมออกแบบและตัดต่อวิดีโอด้วยตัวเอง จนสามารถทำกราฟิก-ตัดต่อวิดีโอเล่าเรื่องเองได้ เรียกได้ว่า “กระหายใคร่รู้กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

Dink_04.jpg

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ภัควลัญชณ์เดินทางเข้าสู่โลกดาต้าก็คือ การที่หัวหน้างาน (อรอุมา วัฒนะสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ที่ทรู) ได้จัดอบรม Data Storytelling ให้สมาชิกในทีมได้อัปสกิลให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้งานสื่อสารด้วยดาต้าเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง และนั่นจึงไปกระตุกความสนใจการเล่าเรื่องด้วยดาต้าที่มุ่งเน้นให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องที่เล่าได้ด้วยเทคนิค Scrollytelling ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในสื่อชั้นนำของโลก เธอจึงหาคอร์สเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาสื่อรูปแบบดังกล่าวเพิ่มเติม และพบว่าต้องอาศัยความเข้าใจภาษาโค้ดดิ้ง เช่น SQL, R ที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและทำ data visualization และอีกกลุ่มที่ช่วยทำให้เว็บไซต์ Interactive ได้อย่างภาษา HTML, CSS และ Java script

ระหว่างทาง เธอได้รับความไว้วางใจให้เป็น project manager ดูแลรับผิดชอบโครงการต่างๆ ซึ่งล้วนนำมาซึ่งการรีสกิลและอัพสกิลใหม่ๆ เช่น ความเข้าใจใน UX/UI การทำ prototype เว็บไซต์และแอป จากการดูแล corporate website การทำงานเชิงวิชาการจากฐานข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ (Mobility Data) เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาเมืองรอง เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ Generative AI ที่เธอเริ่มศึกษาและทำความเข้าใจถึงพื้นฐานแนวคิดการพัฒนา และการนำไปใช้

Dink_03.jpg

“ถ้าจะเป็น ‘มนุษย์เป็ด’ ในที่ทำงาน ก็ต้องเป็นเป็ดพรีเมียม (Multipotentialite) เรียนรู้ให้กว้าง ไว และไม่หยุดยั้งตลอดชีวิต (Life-Long Learning) เพราะทักษะที่หลากหลายนั้น จะทำให้เราเห็นภาพรวมของงาน และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง” ภัควลัญชณ์ กล่าว

ปัจจุบัน ภัควลัญชณ์ รับหน้าที่ดูแลงานสื่อสารผ่านดาต้าและช่องทางดิจิทัล ภายใต้หน่วยงานสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น

เธอเปรียบการพัฒนาตัวเองกับการฝึกของนักดนตรีว่า “เป้าหมายของนักดนตรีคือ ขยายขีดความสามารถตัวเอง เช่นเดียวกับการอัปสกิลที่ต่างต้องเริ่มที่การมี growth mindset แล้วตามด้วยการฝึกฝน เตรียมตัวเองให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน การมีบุคคลต้นแบบหรือโค้ชที่ดีก็จะช่วยให้นักดนตรีพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับการอัปสกิลที่เราควรมี mentor ที่ดี เพื่อชี้แนะแนวทางและให้การสนับสนุน เราก็จะพิชิตเป้าหมายได้อย่างแน่นอน”

Dink_02.jpg

จากเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงตัวเองของ 3 ตัวอย่างข้างต้น เราพบคุณลักษณะร่วมที่สำคัญ 4 ประการ คือ 

  1. รู้จักตัวเอง โดยเฉพาะ “จิตใจ”
  2. เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองว่ายังพัฒนาต่อไปได้
  3. ลงมือทำ ฝึกฝนอย่างมีวินัยจนชำนาญ
  4. ทบทวนตัวเองบ่อย เพื่อตกผลึกความคิด แก้ไขจุดผิดพลาด และเดินก้าวหน้าอย่างมั่นคง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่