ไม่เพียงสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพในพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังสะท้อนวิธีคิดและความเห็นที่แตกต่าง ระหว่างแกนนำมวลชนเสื้อแดงในพื้นที่ กับคนวางยุทธศาสตร์ ที่บางครั้งถูกเรียกว่านักรบในห้องแอร์
เพราะสำหรับคนทำงานเกาะติดกับมวลชนในพื้นที่ มักอยากเห็นรัฐบาลสร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ประชาชนจับต้องได้ ไม่ใช่เพียงนามธรรม ขณะนี้ใกล้จะรอบ 1 ปีของรัฐบาลนายเศรษฐา แต่กลับถูกวิพากษ์มาตลอดว่า “ยังหาผลงานที่โดดเด่นชัดเจนไม่ได้”
ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ตที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก หรือค่าแรงวันละ 400 บาท ที่ยังต้องรอวันเริ่มมีผลจริง แต่ค่าครองชีพข้าวของสินค้าอุปโภคบริโภค ต่างขึ้นราคาไปล่วงหน้าหลายเดือนแล้ว
ดังนั้น การขยันลงพื้นที่ของนายกฯ แล้วไปแตะๆ ทุกเรื่อง แต่ไม่ก่อให้เกิดมรรคผลต่อมวลชน ไม่ว่า การแก้ปัญหาปากท้อง รถและบ้านถูกธนาคารยึด แม่ค้าขายของไม่ได้ ดังที่นายวรชัยยกเป็นตัวอย่าง จึงเป็นสิ่งที่แกนนำฐานเสียงในระดับฐานรากไม่ปลื้ม
ไม่เพียงเท่านั้น ทุกพื้นที่ที่ลงไปจะมีผู้คนมารอต้อนรับ พร้อมถือป้ายทวงถามเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาท ยิ่งเป็นการตอกย้ำในตัวว่า โครงการยังไม่ได้เป็นจริงดังที่หาเสียงไว้
สิ่งที่ยืนยันได้ดีที่สุด ไม่ใช่เพียงเสียงบ่นของผู้คนเท่านั้น ยังสะท้อนผ่านผลโพลล์ ไม่ว่าจะของสถาบันพระปกเกล้า ปลายเดือนพฤษภาคม 2567 พรรคที่คนจะเลือกคือ ก้าวไกล ร้อยละ 44.9 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 20.2 ลดลงถึงร้อยละ 7
ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับการสนับสนุนร้อยละ 46.9 อันดับ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ร้อยละ 17.7 ขณะที่นายกฯ คนปัจจุบัน นายเศรษฐา อยู่อันดับ 4 ร้อยละ 8.7 และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อันดับ 3 ร้อยละ 10.5
ขณะที่ผลสำรวจความนิยมทางการเมืองรายไตรมาส 2/67 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2567 ของสถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ที่ทำสำรวจมาต่อเนื่องหลายปี พรรคการเมืองอันดับ 1 ร้อยละ 49.20 คือ พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 16.85 ห่างกันเกือบร้อยละ 33 คือพรรคเพื่อไทย
ส่วนนายกฯ อันดับ 1 ร้อยละ 45.50 เป็นนายพิธา อันดับ 2 ร้อยละ 20.55 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 12.85 นายเศรษฐา ส่วน “อุ๊งอิ๊ง” หล่นไปอันดับ 5 ร้อยละ 4.85 แพ้กระทั่ง นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ
จึงเป็นที่มาของการออกโรงเตือนนายกฯ เศรษฐา ให้นั่งทำงานในทำเนียบรัฐบาลบ้าง เพื่อคอยกำชับทวงถามความคืบหน้าจากส่วนงานและกระทรวงต่าง ๆ แทนที่จะสั่งการแล้วไม่ทำ
ความจริงนายเศรษฐาสามารถสัมผัสหรือเรียนรู้ได้จาก สส.หรือคนของพรรคในพื้นที่ ไม่ใช่เพียงนายวรชัยเท่านั้น เพราะล่าสุดเข้าร่วมประชุมพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐาได้เห็น สส.หลายคนซักถามเรื่อง มาตรการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่โดยตรง แต่คนตอบ กลับเป็นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์
ที่สำคัญคือ มาตรการปุ๋ยคนละครึ่ง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว กลับปล่อยให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตอนนี้คุมกระทรวงเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ เป็นคนตีกินผลงานชิ้นโบว์แดงนี้ไปแล้ว แทนที่จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย
จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ สส.พรรคเพื่อไทย ต้องการอยากจะได้ และอยากเห็นนายเศรษฐาเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และหยิบยกมาเป็นผลงานของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล คือจับเรื่องสำคัญ ที่มีผลกระทบหรือส่งผลต่อความรู้สึกของมวลชนทั่วไปเพื่อให้เป็นรูปธรรมแทน
ไม่ต่างจากกรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน ผู้คนกำลังให้ความสนใจ มีผู้คนร่วมติด # SAVE ทับลานทะลักแสนไปแล้ว
คนในพรรคเพื่อไทยจึงอยากจะเห็นการเทคแอคชั่น หรือเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจังและประกาศจุดยืนของนายเศรษฐา มากกว่าการออกมาพูดเพียงว่า การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นมติ ครม.ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และยังไม่คิดแก้ไขมติครม.ปี 2566
เพราะเริ่มต้น ก็ “แป็ก” เสียแล้ว ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร ทั้งที่ประเด็นที่ผู้คนค้างคาใจ คือจะมี “ไอ้โม่ง” หรือนายทุนอยู่เบื้องหลัง หรือรอฮุบที่ดินจากชาวบ้าน ที่จะได้กรรมสิทธิ์จากการเพิกถอนนี้หรือไม่ อย่างไร
โดยเฉพาะกลุ่มที่ 3 ที่เชื่อว่าเป็นเพียงนอมินี
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส