หน้าแรก Thai PBS กรมพลังงานทหาร ชี้แจง “บ่อน้ำมันฝาง” มีไว้เพื่อความมั่นคง

กรมพลังงานทหาร ชี้แจง “บ่อน้ำมันฝาง” มีไว้เพื่อความมั่นคง

51
0
กรมพลังงานทหาร-ชี้แจง-“บ่อน้ำมันฝาง”-มีไว้เพื่อความมั่นคง
กรมพลังงานทหาร ชี้แจง “บ่อน้ำมันฝาง” มีไว้เพื่อความมั่นคง

วันนี้ (10 ก.ค.2567) ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร เปิดพื้นที่ให้ทุกหน่วยงานเข้าตรวจ หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ มีข้อสงสัยการบริหารจัดการรายได้

พล.ต.มนตรี จีนนคร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร กล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า หน่วยฯถูกโจมตีจากกระแสข่าวต่าง ๆ รวมถึงเฟกนิวส์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในด้านการผลิตน้ำมันจากบ่อน้ำมันฝางเพื่อใช้ภายในประเทศ โดยถูกเพ่งเล็งว่าประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำมันที่ผลิตได้ในประเทศ ยังคงต้องซื้อน้ำมันจากต่างชาติซึ่งมีราคาสูง

พร้อมชี้แจงว่า การขุดเจาะน้ำมันของบ่อน้ำมันฝางต่อวัน มีปริมาณเพียง วันละ 500 – 600 บาร์เรล หรือ ประมาณ 90,000 กว่าลิตร เมื่อกลั่นน้ำมันดิบที่ขุดเจาะได้ สามารถผลิตเป็นน้ำมันดีเซลได้ประมาณ 30,000 ลิตรต่อวัน ส่วนที่เหลือจะเป็นน้ำมันเบา 7,000 – 8,000 ลิตร และเป็นน้ำมันเตา อีกเกือบ 60,000 ลิตร รวมทั้งผลผลิตอื่น ๆ จากปิโตรเลียม

ขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปริมาณทั้งหมดที่โรงกลั่นฝางผลิตได้ในช่วงเวลา 70 ปี อยู่ที่ 16 ล้านบาร์เรล หากให้ใช้ฟรี ๆ จะสามารถตอบสนองความต้องการทั่วประเทศ ได้เพียง 16 วัน

เปรียบเหมือนเอาแมลงหวี่ไปช่วยปลาวาฬ กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันฝางจึงไม่อาจตอบสนองต่อปริมาณความต้องการของประเทศ ซึ่งแม้บริเวณแอ่งฝางที่พบน้ำมันดิบ จะมีพื้นที่ครอบคลุมถึง 900 ตารางกิโลเมตร แต่จุดที่พบน้ำมันดิบ จะกระจัดกระจายและมีปริมาณไม่มาก

แต่กำลังการผลิตในระดับนี้ กลับสำคัญอย่างยิ่งในการตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกองทัพ โดยเฉพาะ ในภาวะสงคราม และการสนับสนุนภารกิจความมั่นคง

ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำมันที่กลั่นได้จะถูกนำไปขายเพื่อนำรายได้กลับมาใช้บริหารทั้งจ่ายเงินจ้างข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และนำไปใช้พัฒนาบุคลากร เช่น ส่งไปศึกษาต่อ เพื่อให้มีองค์ความรู้ที่จำเป็น และนำเงินมาบำรุงรักษาเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้

นอกจากนี้ คุณภาพน้ำมันดีเซลที่สามารถผลิตได้จากโรงกลั่นน้ำมันฝาง ยังเป็นน้ำมันที่มีกำมะถันเจือปน มีปัญหาด้านการก่อมลพิษ คือ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากไอเสีย ไม่สามารถนำไปใช้ตามมาตรฐานยูโรไฟว์ (EURO 5) ของกรมธุรกิจพลังงานได้ จึงอาจต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาพัฒนาและปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้ได้มาตรฐานดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 300 ล้านบาท จึงอาจกล่าวได้ว่า การบริหารงบประมาณในปัจจุบันเป็นไปตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจุบันลูกค้าของหน่วยเป็นหน่วยทหาร ได้แก่ มณฑลทหารบก 33 และมณฑลทหารบก 310 ซึ่ง 2 หน่วยนี้ จะจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับกองพันนเรศวร และกองกำลังผาเมือง ซึ่งเป็นหน่วยป้องกันชายแดน

รวมทั้งยุทโธปกรณ์ป้องกันชายแดนก็ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของโรงกลั่นฝางด้วย ฉะนั้น ภารกิจที่สำคัญด้านหนึ่งของแท่นขุดเจาะน้ำมันฝาง คือ การผลิตน้ำมันเพื่อภารกิจด้านความมั่นคงในการป้องกันชายแดนไทย 

พล.ต.มนตรี ย้ำว่า ในอดีตหน่วยเคยมีรายได้สะสมถึง 3,000 ล้านบาท ขณะที่บางช่วงก็เหลือรายได้สะสมเพียง 400 ล้านบาท ปัจจุบันจึงมีการวางยุทธศาสตร์ไว้ว่าจะต้องมีรายได้สะสมไม่ต่ำกว่า 550 ล้านบาท เพื่อสำรองเป็นเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่แย่ที่สุดนั่นคือน้ำมันจากแอ่งฝางหมด หรือเงินอุดหนุนตกต่ำมาก จนจำเป็นต้องยุบบางส่วนหรือบางแผนก

น้ำมันถือเป็นทรัพยากรที่มีวันหมด ซึ่งจากองค์ความรู้ในปัจจุบัน ปริมาณน้ำมันที่เหลือของแอ่งฝางในขณะนี้ ยังประเมินได้ยากว่าจะหมดเมื่อไหร่ อาจจะอยู่ได้อีกอย่างน้อยประมาณ 50 ปี ตามการประเมินจากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการคำนวณด้านสถิติ

นอกจากนี้ หน่วยฯ ยังมองไปถึงด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด จากพลังงานความร้อนใต้ดินในบ่อขุดเจาะ ซึ่งได้ทดลองนำน้ำร้อนที่สูบขึ้นมาพร้อมกับน้ำมันดิบ มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า แต่การดำเนินงานยังมีอุปสรรคคือพลังงานความร้อนที่มากับน้ำในบ่อขุดเจาะมีน้อยเกินไป สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 2 – 3 พันวัตต์ ซึ่งไม่คุ้มค่าในการเดินเครื่องผลิต หากจะพัฒนาต่อก็อาจต้องนำน้ำร้อนจากหลาย ๆ หลุมขุดเจาะมารวมกัน ต้องลงทุนเรื่องท่อนำส่ง หรืออาจดึงเฉพาะพลังงานความร้อนมาใช้โดยเฉพาะ 

หวั่นสมองไหลสู่ภาคเอกชนเพิ่ม

จากกรณีที่ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมหน่วยฯ ก่อนหน้านี้ ก็ได้ชี้แจงถึงข้อมูลเหล่านี้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีความเข้าใจถึงการดำเนินงานต่าง ๆ มากขึ้น แต่บางส่วนก็ยังมีข้อกังขา เช่น ปริมาณผลิตน้ำมันดีเซล 30,000 ลิตร ต่อวัน น้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งก็ได้ยืนยันว่า ผลิตได้เท่านี้

รวมถึงการตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการของหน่วยฯ ว่ากองทัพไม่ได้มีหน้าที่ในด้านการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงนั้น ก็เป็นเหตุผลสืบเนื่องจากภาวะต่าง ๆ ใน พ.ศ.2499 ที่หน่วยก่อตั้ง หากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือต้องโอนย้ายข้ามกระทรวงเกรงว่าบุคลากรที่หน่วยฯ สร้างมาจะเกิดปัญหาสมองไหล พากันย้ายไปอยู่กับภาคเอกชนหมด ด้วยแรงจูงใจทั้งการเติบโต และค่าตอบแทนที่มากกว่า

โรงกลั่นน้ำมันฝางในปัจจุบันไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาล และมีนโยบายใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุด เพราะหน่วยฯ มีงบฯจำกัด โดยเฉพาะต้นทุนในการกลั่นน้ำมันต่อวัน ต้นทุนจ้างบุคลากรไปเป็นตัวแทนจำหน่าย

จากการประเมินจะอยู่ที่ราว 1 ล้านบาทต่อวัน ต้นทุนก็ไม่ใช่งบประมาณของรัฐ แต่เป็นงบฯประจำปีของหน่วยงานราว 300 ล้านบาท และเป้าหมายก็ไม่ใช่เพื่อการทำเงินสูงสุด แต่ต้องการให้หน่วยงานสามารถอยู่ได้นานที่สุดด้วยงบประมาณที่จำกัดนี้ เพื่ออยู่สำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ให้กับกองทัพ ในยามจำเป็น

อ่านข่าว : พีคสุดรอบ 10 ปี “ปะการังหมู่เกาะอ่างทอง” ฟอกขาวเกิน 80%

“ชัชชาติ” แนะยันต์กันอัคคีภัย ชุมชนต้องมีถังดับเพลิง-ซ้อมหนีไฟ

“สเปน” รัว 2 ลูก ใน 4 นาที แซงชนะ “ฝรั่งเศส” เข้าชิงศึกยูโร

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่