วันนี้ (17 ก.ค.2567) การประชุมสภาพิจารณาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอวงเงินจำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงหลักการและเหตุผลระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 122,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้ สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
1.ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 10,000 ล้านบาท 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. …. ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
ยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับภาวะเศรษฐกิจทั่วไป เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 2.0-3.0 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค และการลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1-1.1 (ค่ากลางร้อยละ 0.6) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ดังนั้นภายใต้สภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวรัฐบาลจึงมีความจำเป็น ต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง โดยงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท
เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท จะทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3,602,000 ล้านบาท
แม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 97,600 ล้านบาท
โดยเมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 710,080.5 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 807,680.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร้อยละ 17.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4 ของวงเงินงบประมาณรวมการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ
รัฐบาลยืนยันจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงิน ไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาตามศักยภาพอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามกฎหมาย
อ่านข่าว : สภาฯเตรียมถกร่างงบฯปี 67 เพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน 17 ก.ค.นี้
“จักรพงษ์” แจงหั่นงบกลาง 43,000 ล้าน ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต
“จุรินทร์” ชี้ รบ.ตีความเงิน 1.22 แสนล้านเป็นเงินลงทุน เสี่ยงขัด กม.