หน้าแรก Thai PBS “สว.ของประชาชน” โหวต ประมุข-รองประมุข ตามโผเป๊ะ

“สว.ของประชาชน” โหวต ประมุข-รองประมุข ตามโผเป๊ะ

87
0
“สว.ของประชาชน”-โหวต-ประมุข-รองประมุข-ตามโผเป๊ะ
“สว.ของประชาชน” โหวต ประมุข-รองประมุข ตามโผเป๊ะ

เป็นไปตามคาดและกระแสข่าววงในก่อนหน้านี้ว่า นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีตผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ จะได้รับการสนับสนุนเป็น “ประธานวุฒิสภา” คนใหม่

เช่นเดียวกับ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. และอดีตแม่ทัพภาค 4 จะได้รับโหวตหนุนให้นั่งตำแหน่ง “รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1”

และนายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ชุด 4 ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน กกต. ได้รับเลือกเป็น “รองประธานวุฒิฯ คนที่ 2”

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ (คนซ้าย) - มงคล สุระสัจจะ (คนกลาง) - บุญส่ง น้อยโสภณ (คนขวา)

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ (คนซ้าย) – มงคล สุระสัจจะ (คนกลาง) – บุญส่ง น้อยโสภณ (คนขวา)

อ่านข่าว : ใบสั่งสีน้ำเงิน “มงคล สุรัจสัจจะ” ประธานวุฒิสภา คนใหม่

ทั้งนี้ เนื่องจากประธานและรองประธานวุฒิที่ได้รับเลือก ถูกมองว่าเป็น สว.ในสาย “ค่ายใหญ่สีน้ำเงิน” ที่สามารถวางกลยุทธ์รับมือการเลือก สว.ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ ทั้งในการเลือกในกลุ่มเดียวกัน และเลือกไขว้ต่างกลุ่ม อย่างได้ผล กระทั่งถูกจัดแบ่งเป็นกลุ่ม สว.ค่ายใหญ่สีน้ำเงิน รวมกันได้มากกว่า 140-150 คนจาก สว.ทั้งหมด 200 คน

ประชุมวุฒิสภา

ประชุมวุฒิสภา

นายมงคล ถูกมองว่าเป็น “สายตรง” นักการเมืองใหญ่ในจังหวัด ขณะที่ พล.อ.เกรียงไกร ถูกมองว่าเป็น “พี่ชายสุดเลิฟ” ของนักการเมืองใหญ่รายหนึ่งเช่นกัน ส่วนนายบุญส่ง แม้อาจไม่ชัดเจนว่าเป็นสาย “ค่ายใหญ่สีน้ำเงิน” แต่ได้รับการปฏิเสธจากกลุ่ม สว.ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มและทางกลุ่มไม่ได้ส่งเข้าชิง

นายมงคล สุระสัจจะ

นายมงคล สุระสัจจะ

แต่ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า สว.ที่ได้รับเลือกไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย ทั้งได้ออกหนังสือเตือน 2 ครั้ง ห้ามคนในพรรคยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเลือก สว.เด็ดขาด เพียงแต่ยอมรับว่า อาจมีบางคนที่รู้จักมักคุ้นกัน แต่ไม่เคยมีส่วนช่วยเหลือใด ๆ

ขณะที่กลุ่ม สว.ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ และถูกมองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม ได้ส่งตัวแทนลงชิงทั้ง 3 ตำแหน่ง ต่างแพ้เรียบทั้ง 3 คน ไม่ว่าจะเป็น รศ.นันทนา นันทวโรภาส อดีตคณบดีคณะสื่อสารการเมือง ม.เกริก ที่ลงชิงประธานวุฒิ หรือ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ที่ลงชิงรองประธานวุฒิฯ คนที่ 1 และนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ที่ลงชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิคนที่ 2

ประชุมวุฒิสภา

ประชุมวุฒิสภา

แม้ในการแสดงวิสัยทัศน์ก่อนลงคะแนน จะเน้นเดินหน้าทำวุฒิสภาและ สว.ให้เป็นของประชาชน เปิดรับฟังและมีกิจกรรมร่วมกับประชาชน สว.รู้แค่ไหน ประชาชนจะได้รู้เท่ากัน จนได้เสียงเชียร์จากประชาชนผู้ติดตามการไลฟ์สดจำนวนไม่น้อย

รวมทั้ง สว.กลุ่มอิสระที่ร่วมลงเก้าอี้ ไม่ว่าจะเป็น นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีตโฆษกพรรคความวังใหม่ ผศ.นพดล อินนา อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และ อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย นายปฏิมา จีระแพทย์ มือบริหารภาคเอกชนหลายองค์กร

เพราะสุดท้ายก็เป็นไปตามจำนวนเสียง สว.ที่โหวตเลือก ตามวิธีและครรลองที่สืบเนื่องกันยาวนาน คือฝ่ายไหนมีเสียงมากกว่า ฝ่ายนั้นเป็นผู้ชนะ ไม่ได้ตัดสินกันที่วิสัยทัศน์หรือผลงาน

จึงเป็นการเริ่มต้น สว.ชุดใหม่ที่ดูจะไม่สวยงามนัก หากพิจารณาจากความคาดหวังของผู้คนทั่วไป และกูรูทางการเมือง ที่อยากจะเห็นการเริ่มต้นด้วยมิตรภาพ ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มไหนก็พร้อมแสดงให้เห็นถึงการเป็น สว.ของประชาชน เปิดกว้างให้ สว.ต่างกลุ่ม ได้มีโอกาส “ร่วมด้วยช่วยกัน” แทนการกินรวบผูกขาดทุกตำแหน่ง

ประชุมวุฒิสภา

ประชุมวุฒิสภา

เพราะเท่ากับสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพ แบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายชัดเจน หวังเอาชนะคะคาน มุ่งสกัด สว.ต่างกลุ่ม หรือพร้อมทำตามผู้มีอำนาจ ดังที่ สว.หลายชุดถูกเปรียบเทียบไว้ แม้แต่ สว.ชุดก่อนหน้านี้ ที่แทบไม่มีการ “แตกแถว” ให้เห็น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากการไลฟ์สด และความเห็นที่แสดงความไม่เชื่อมั่นต่อผู้ได้รับการโหวตเลือก

เมื่อเริ่มต้นด้วยเสียงติดลบไม่สู้ดีแบบนี้ ต้องทำใจว่า “วุฒิสภา” ชุดใหม่ เหนื่อยแน่นอน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : ใบสั่งสีน้ำเงิน “มงคล สุรัจสัจจะ” ประธานวุฒิสภา คนใหม่

4 แคนดิเดตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 โชว์วิสัยทัศน์

“ที่สุด” ของเหตุการณ์น่าประทับใจในประวัติศาสตร์ “โอลิมปิก”

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่