หน้าแรก Thai PBS เส้นทาง “เศรษฐา” ก่อนชี้ชะตาเก้าอี้นายกฯ 14 ส.ค.นี้

เส้นทาง “เศรษฐา” ก่อนชี้ชะตาเก้าอี้นายกฯ 14 ส.ค.นี้

103
0
เส้นทาง-“เศรษฐา”-ก่อนชี้ชะตาเก้าอี้นายกฯ-14-สค.นี้
เส้นทาง “เศรษฐา” ก่อนชี้ชะตาเก้าอี้นายกฯ 14 ส.ค.นี้

เกือบ 6 เดือนเต็ม กับเส้นทางการเมืองที่นายเศรษฐา ทวีสิน ก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และเกือบครบ 1 ปีเต็มกับบทบาทผู้นำประเทศที่บริหารจัดการ “ครม.เศรษฐา” แม้ต้องเผชิญปัญหาของบ้านเมืองอย่างหลากหลาย แต่สัญญาณก็ไม่ชัดเท่าอุปสรรคทางการเมือง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยคำร้อง 14 ส.ค.นี้

นับแต่ 40 สว.ร่วมลงชื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ขาดเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถึงวันนัดฟังคำชี้ขาด รวม 84 วัน สืบเนื่องถึงความเชื่อมั่นรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ต้อง “อึมครึม” มาตลอด

แต่หลังปรากฏภาพการพบกันของนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รวมถึงนักการเมืองอีกหลายคน และกลุ่มทุนบางคน ก็ตีความกันถึง “เขาใหญ่ดีล” หรือข้อตกลงทางการเมือง ระหว่าง “เพื่อไทยกับภูมิใจไทย” หากนายเศรษฐา ต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามคำร้อง เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี

นายอนุทิน กล่าวว่า “อะไรที่ยังไม่เกิดอย่าเพิ่งไปคิด เราทำทุกวัน รัฐบาลนี้ ณ วินาทีนี้ วันนี้ ยังเป็นรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอยู่ ยังไม่มีอุปสรรค หรือท่าทีใด ๆ ที่จะทำให้เกิดความไม่สะดวก ไม่ราบรื่น”

ดีลเขาใหญ่ คืออะไร มีเพียงคนที่ล้อมวงคุยเท่านั้นที่จะคอนเฟิร์มได้ และแนวทางหนึ่ง คือ นายเศรษฐา ไม่ได้ไปต่อ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ถึงข้อตกลงร่วมเพื่อรักษาอำนาจ ระหว่าง “เพื่อไทยกับภูมิใจไทย”

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า ภาพที่เขาใหญ่ เป็นการสื่อสารทางการเมือง กระชับอำนาจภูมิใจไทย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อำนาจก็ต้องอยู่ที่ภูมิใจไทย อีกทั้งมีสัญญาณการประนีประนอมในเรื่องนโยบายกัญชา

ย้อนกลับช่วงตั้ง ครม.เศรษฐา 1 ชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” ติดโผลำดับต้น ๆ แต่หลังเห็นต่างและถกเถียงกันเป็นการภายใน นายพิชิตคือผู้แจ้งไม่ขอรับตำแหน่ง มาช่วงปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 มีชื่อติดโผอีกครั้ง แต่ก็เป็นที่สังเกต เมื่อมีเอกสารหลุด กรณีกฤษฎีกาตอบคำถามเรื่องคุณสมบัตินายพิชิต คล้ายจะหยั่งกระแส ก่อนแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

กรณีคำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรีเหตุแต่งตั้งนายพิชิต ถูกตั้งข้อสังเกตผ่านมติรับคำร้อง “8 ต่อ 1” แต่ไม่สั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ 5 ต่อ 4 จึงเป็นไปได้ที่แนวโน้มของคำวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย อาจออกมาเป็น “คุณ..มากกว่าโทษ” แต่ในทางการเมือง ก็เป็นไปได้ว่า “ภูมิใจไทย” กำลังได้เปรียบ “เพื่อไทย” เมื่อต้องมองประเมินผ่าน “ดีลเขาใหญ่”

วิเคราะห์ : อัจฉรา โพธิ์ศรี ไทยพีบีเอส

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่