ต่อเนื่องจากเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. หลายจังหวัด อาทิ จ.ปทุมธานี จ.อ่างทอง และ จ.นครสวรรค์ “บ้านใหญ่” เอาชนะเลือกตั้งได้ทั้งหมด รวมทั้งล่าสุด 4 ส.ค.2567 ทั้ง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยนาท และ จ.พะเยา
แม้ 3 อบจ.หลังสุด คู่แข่งจะไม่ใช่ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้า ที่กลุ่มการเมือง “บ้านใหญ่” คาดหมายว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญ ในสนามเลือกตั้งนายกฯ และ สภา อบจ. กำหนดเดิมต้นปี 2568 กระทั่งหลายจังหวัดต้องชิงลาออกก่อนเพื่อหวังความได้เปรียบ แต่ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งเคยลงสมัคร สส.ในสังกัดพรรคก้าวไกล และ หรือ มี สส.และคนจากพรรคก้าวไกล เปิดตัวให้การสนับสนุน และการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็ใช้ “สีส้ม” เป็นสัญลักษณ์
แต่แพ้ชนิดไม่ได้ลุ้น ไม่ว่าจะเป็นพระนครศรีอยุธยา ที่ “เจ๊สมทรง” หรือนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.หลายสมัยคนก่อนที่กุมบังเหียนมานานร่วม 20 ปี เอาชนะ “อุ๊ กรุงสยาม” หรือนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ เซียนพระเครื่องชื่อดัง ที่ลงสมัครในนามกลุ่มก้าวใหม่อยุธยา แบบขาดลอย คะแนนผู้ชนะได้เกินกว่า 2.4 แสนคะแนน
ทำให้ “เจ๊สมทรง” ที่ถือว่าเป็นนายก อบจ.ค่ายสีน้ำเงิน กุมการเมืองได้แทบครบถ้วนสมบูรณ์ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ เพราะนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ที่เป็นลูกชาย และเป็น สส.เขต พรรคภูมิใจไทย ยังมีตำแหน่งเป็น รมช.ศึกษาธิการ
ยังมี น.ส.พิมพฤดา ตันจรารักษ์ เป็น สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย อีกหนึ่งคน ยังไม่นับรวมนายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ได้เป็น สว.จากการเลือกครั้งล่าสุด นอกจากนี้ “เจ๊สมทรง” ยังมีลูกเขย คือ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ลูกชายนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา ถือว่าเป็น “บ้านใหญ่” ปัจจุบัน
ส่วนนายก อบจ.ชัยนาท เป็นของ นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา อดีตประธานสโมสรฟุตบอลชัยนาท ฮอร์นบิล ที่เป็นพี่สาวนายอนุชา นาคาศัย บ้านใหญ่ตระกูลนาคาศัย อดีตรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนางจิตร์ธนา ลงสมัครนายก อบจ.ชัยนาท แทนนายอนุสรณ์ นาคาศัย น้องชายที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
เอาชนะนายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ อดีตผู้สมัคร สส.เขต 2 พรรคก้าวไกล จ.ชัยนาท ปี 2566 ที่ลงสมัครอิสระ แต่ใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์การหาเสียง คะแนนทิ้งห่างกันประมาณ 2 หมื่นคะแนน
ส่วนที่ จ.พะเยา นายธวัช สุทธวงค์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และเป็นคนสนิทของนายอัครา พรหมเผ่า นายก อบจ.คนก่อน และนายอัครายังเป็นน้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีเกษตรฯ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เอาชนะคู่แข่ง นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย อดีตผู้สมัคร สส.พะเยา เขต 3 พรรคก้าวไกล ชนิดขาดลอยเช่นกัน ด้วยคะแนนทะลุ 1.7 แสนคะแนน
เดิมทีนายอัครา ไปเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.พะเยาอีกสมัยกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะลาออกจากนายก อบจ.พะเยากลางเดือน มิ.ย.2567 และส่งไม้ต่อให้นายธวัช รับช่วงแทน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อจะไปเล่นการเมืองในระดับที่สูงกว่า
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.พะเยา ยังเป็นพื้นที่ที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปลงพื้นที่หาเสียงทิ้งทวนช่วยเมื่อวันที่ 2 ส.ค. เมื่อผู้สมัครของพรรคชนะแบบสู้กันไม่ได้ เท่ากับเพิ่มดีกรีความสามารถของ น.ส.แพทองธาร ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ร.อ.ธรรมนัส สังกัดพรรคพลังประชารัฐของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่น้องชายกลับไปเปิดตัวกับพรรคเพื่อไทย และส่งไม้ต่อให้คนสนิทลงทำหน้าที่บริหารงานต่อ ย่อมสะท้อนในทีถึงความแนบแน่นและแนวโน้มของ ร.อ.ธรรมนัส ที่จะย้ายไปพรรคเพื่อไทยในการสู้ศึกเลือกตั้ง สส.ครั้งหน้า
และเท่ากับสะท้อนบารมี ร.อ.ธรรมนัส ไปในตัวเช่นกัน เพราะนอกจากจะยึด สส.ทั้ง 3 เขต จ.พะเยา เป็นของ สส.3 คนพรรคพลังประชารัฐ และเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยในระดับการเมืองท้องถิ่นแล้ว พ่อตา ร.อ.ธรรมนัส คือนายขจรศักดิ์ ศรีวิราช อดีตรองนายก อบจ.พะเยา ยังเป็น สว.หนึ่งเดียวจาก จ.พะเยา ในการเลือก สว.ชุดหลังสุดที่ผ่านมา
ขณะที่ผู้แพ้อย่างพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า ในมุมมองของ รศ.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ให้ความเห็นว่า เพราะการเลือกตัวแทนท้องถิ่นต่างกับการเลือก สส. เพราะระดับท้องถิ่นจะเป็นเรื่องความผูกพัน การคอยช่วยเหลือคนในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ได้ตัดสินใจด้วยเรื่องนโยบายเหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ
ในความเห็นของ รศ.อดิศร แนะว่า พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า ควรจะเน้นและให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งระดับชาติ คือเลือก สส.ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้ากับแนวทางและความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเมืองแบบใหม่ จากนั้น เมื่อมีความเข้มแข็งแล้ว ค่อยขยายฐานการเมืองเข้าสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่น
หาไม่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะเลือกตั้งนายก อบจ.ในจังหวัดที่มีการชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนกำหนดเท่านั้น ที่พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่จะรวมถึงเลือกตั้งนายก และ สภา อบจ.ที่อยู่ครบวาระ และกำหนดจะเลือกตั้ง ต้นปี 2568 เพราะอาจต้องตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำไม่ต่างกัน
อ่านข่าว :
“บ้านใหญ่” กินเรียบ เลือกตั้งนายก อบจ.กวาดยกแผง 3 จังหวัด