หน้าแรก Thai PBS 112 โทษแรงเหมาะสม! ไทยตอบข้อกังวล UN ปมยื่นยุบ “ก้าวไกล”

112 โทษแรงเหมาะสม! ไทยตอบข้อกังวล UN ปมยื่นยุบ “ก้าวไกล”

40
0
112-โทษแรงเหมาะสม!-ไทยตอบข้อกังวล-un-ปมยื่นยุบ-“ก้าวไกล”
112 โทษแรงเหมาะสม! ไทยตอบข้อกังวล UN ปมยื่นยุบ “ก้าวไกล”

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2567 เว็บไซต์ iLaw รายงาน ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติถูกส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านกลไกพิเศษ (Special Procedures) ภายใต้ประเด็นหลักสองด้านด้วยกัน คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ เป็นเอกสารรายงานการสื่อสารเลขที่ AL THA 5/2024

ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุว่า การยุบพรรคก้าวไกลและการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอะที่สุดอาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย พื้นที่สาธารณะ เสรีภาพในการแสดงออก และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการเลือกตั้งของประเทศไทย 

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ซึ่งพรรคก้าวไกลมีนโยบายเสนอให้แก้ไขและเป็นที่มาของคดีขอให้ยุบพรรคการเมือง โดยระบุว่า เราเป็นกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาที่หนัก 

เอกสารฉบับนี้ยังระบุย้ำเตือนประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ประเทศไทยชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นภายใน 60 วัน

รบ.ไทยแจง “ก้าวไกล” ใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครอง

ประเทศไทยตอบกลับรายงานการสื่อสารของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2567 ซึ่งชี้แจงออกมาเป็นคำตอบสำคัญได้ดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การหาเสียงโดยสัญญาว่าจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกล ละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 ม.49 ที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”

อีกทั้งการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของพลเมืองเอาไว้หลายประการอยู่แล้ว รวมถึงสิทธิที่จะถกเถียงในแง่มุมที่หลากหลายของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

อย่างไรก็ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 (3) ระบุว่า สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของบุคคลต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบพิเศษว่าสิทธิดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวต้องถูกระบุไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น เพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อย

ม.112 บังคับใช้ตามขั้นตอน เหมาะสมกำหนดโทษรุนแรง

ในเอกสารชี้แจงดังกล่าวรัฐบาลไทยยังได้ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ไม่ได้เพียงแค่ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท แบบเดียวกับที่ปกป้องประชาชนทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ยังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของชาติสำหรับประชาชนคนไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีไว้สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จึงมีบทลงโทษที่รุนแรงหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว 

รัฐบาลไทยยืนยันว่า คดีตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยอธิบายว่าหลังเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนเหตุการณ์ที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แล้ว คณะกรรมการพิจารณาที่ถูกออกแบบมาเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจะร่วมกันพิจารณาว่า เหตุการณ์ที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมานี้เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 หรือไม่ หากคณะกรรมการตัดสินใจดำเนินคดี การตัดสินใจสูงสุดว่าจะส่งฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่อยู่ที่อัยการสูงสุด

เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังคงอยู่

ในประเด็นที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบของประเทศไทย เนื่องจากหลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลที่มีจำนวน สส.เยอะที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรถูกกีดกันจากการจัดตั้งเป็นรัฐบาล รัฐบาลไทยจึงชี้แจงยืนยันว่าสิทธิเสรีภาพทั้ง 2 ประการยังคงอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิเสรีภาพนั้นไว้แล้ว ดังนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 ม.34 ม.42 และ ม.44 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมชุมนุมรวมกลุ่มกันอย่างสงบเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเอาไว้แล้วเช่นกันใน ม.45 อีกทั้งยังรับรองเอกสิทธิ์ความคุ้มครอง สส. และสมาชิกวุฒิสภาในการอภิปราย แสดงความคิดเห็น หรือลงคะแนน ตามรัฐธรรมนูญ ม.124 สิทธินี้รับประกันว่าจะไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้แทนของประชาชนไทยได้ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย

สุดท้าย ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติที่ต้องการจะทราบว่ารัฐบาลไทยจะมีแผนรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบอย่างไร โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของนักการเมืองฝ่ายค้าน บุคคลทั่วไปผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และผู้ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลไทยชี้แจงเพียงว่า

ใช้หลักการเดียวกันกับที่ได้ตอบไปข้างต้น

คือการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางที่ได้ชี้แจงก่อนหน้านี้

ขณะที่ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns ถึงกรณีของ iLaw ว่าเป็นการพาดหัวข่าวที่สรุปรวบแบบไม่ตรงกับเนื้อหาและความเป็นจริง 

  1. การพาดหัวข่าวของ iLaw เป็นการพาดหัวชี้นำ สร้างความเข้าใจผิด จากข้อเท็จจริงในองค์รวมของเนื้อหาในหนังสือจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ซึ่งหนังสือของไทยเป็นการตอบคำถามตามข้อร้องเรียนของกลไกพิเศษเกี่ยวกับกระบวนการที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 และการยื่นคำร้องของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยคำชี้แจงที่ส่งไปเป็นข้อเท็จจริงและสถานะของคดี ณ วันที่ตอบข้อร้องเรียน รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  2. รัฐบาลไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องยุบพรรคก้าวไกล และไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ หนังสือของไทยฉบับนี้ได้ระบุเกี่ยวกับกำหนดการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 โดยไม่มีการคาดเดา (prejudge) เท่านั้น
  3. ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินแล้ว กลไกพิเศษยังสามารถส่งข้อร้องเรียน หรือข้อซักถามเพิ่มเติมได้
  4. รัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมามีการยุบพรรคการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ ฯลฯ ซึ่งการยุบพรรคที่ยึดโยงกับประชาชนทำให้เสียงของประชาชนไม่ถูกสะท้อนตามความเป็นจริง ทั้งนี้ อำนาจการยุบพรรคการเมืองโดยศาลนั้นเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญปี 60 ที่ประชาชนไทยให้การรับรอง รัฐบาลจึงไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าวอื่น :

“เศรษฐา” ปัดตีตัวห่าง “ทักษิณ” ปมดรามา “ประยุทธ์” มางานศพแม่

ปูดให้ 30 ล้าน “งูเห่าสีส้ม” ซบพรรคตั้งใหม่ การเมือง 6 ส.ค. 67 15:37 110

“วิษณุ” มอง ทูต 18 ประเทศ คุย “พิธา” ปมยุบก้าวไกล ไม่ก้าวล่วงกิจการภายใน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่