พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการฝึกวิชาชีพเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอาหารสัตว์ (หญ้าเนเปียร์)
วันนี้ (8 สิงหาคม 2567) พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการฝึกวิชาชีพเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอาหารสัตว์ (หญ้าเนเปียร์) ระหว่าง นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายชาญวิทย์ เอนกสัมพันธ์ ประธาน บริษัท ซีจีเคดี จำกัด ณ ห้องสัมมนากรมราชทัณฑ์ ชั้น 3 อาคารกรมราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรี
ซึ่งโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีความรู้ในการปลูกพืชอาหารสัตว์ และวิธีการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังมีทักษะอาชีพด้านการเกษตรกรรมและกสิกรรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวภายหลังการพ้นโทษได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนภารกิจให้มีพืชอาหารสัตว์เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ มีหน้าที่ในการร่วมกันกำหนดกรอบ แนวทาง วางแผนดำเนินการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังปลูกพืชอาหารสัตว์ ในการสร้างผลผลิตการเกษตรตลอดทุกขั้นตอนเพื่อให้มีมาตรฐาน รวมถึงการแปรรูปอาหารสัตว์ พร้อมสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้สามารถมีความรู้สำหรับการประกอบอาชีพได้ภายหลังการพ้นโทษ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขอบคุณความร่วมมืออันเป็นโครงการสำคัญในครั้งนี้ ที่มุ่งพัฒนาให้คนหลังกำแพงหรือผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่วันนี้มีกว่า 3 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพลังจากความเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า มีความสำคัญ มีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมแต่ต้องกลายเป็นผู้ก้าวพลาด พวกเขาจึงสมควรได้รับโอกาสมากที่สุด
“ในกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ 2.3 แสนคน ในจำนวนนี้ 77% มีการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ แต่หากได้รับการส่งเสริมการศึกษาเต็ม 100% จะมีผู้ต้องราชทัณฑ์เพียง 7 หมื่นคน ฉะนั้น “ราชทัณฑ์” ควรเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต เป็นเรือนจำที่มีไว้ออกที่จะไม่มีการกระทำผิดซ้ำ ควรให้พวกเขามีการศึกษา มีอาชีพ มีรายได้ สามารถดำรงชีวิตได้เมื่อต้องออกไป และให้ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญ ความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการของเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ กับองค์การสวนสัตว์ฯ และอีกหลายหน่วยงานที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือช้างกว่า 200 เชือก กับการเลี้ยงสัตว์ จึงคิดว่าการปลูกหญ้าเนเปียร์ที่มีตลาดของกรมปศุสัตว์ อาจเป็นหนทางบรรลุเป้าหมายให้ผู้ต้องราชทัณฑ์มีรายได้ มีเงิน 70,000 – 100,000 บาท ติดตัวก่อนออกจากเรือนจำ” พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ก่อนหน้านี้ (1 กรกฎาคม 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดสุรินทร์ และได้ร่วมหารือกับองค์การสวนสัตว์ฯ โครงการคชอาณาจักร เพื่อสร้างความร่วมมือการส่งเสริมอาชีพผู้ต้องราชทัณฑ์ในการปลูกหญ้าเลี้ยงช้าง โดยมีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เล็งเห็นว่า โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ซี่งมีการเก็บมูลช้างในโครงการที่มีมากถึง 200 เชือก ถ่ายมูลวันละ 50 – 80 กิโลกรัม นำมาผสมเป็นปุ๋ยปลูกพันธุ์พืชอาหารช้าง สร้างประโยชน์และมูลค่าให้กับโครงการฯได้
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการฝึกวิชาชีพเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอาหารสัตว์ (หญ้าเนเปียร์) เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เคยทำผิดพลาด ให้สามารถมีช่องทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ อีกทั้งยังพร้อมที่จะสนับสนุนหรือขยายช่องทางต่าง ๆ ที่จะเป็นการสนับสนุนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรม เพิ่มรายได้” ของรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จต่อไปด้วย