วันนี้ (13 ส.ค.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยสีหน้าปกติ เมื่อถามว่าในวันที่ 14 ส.ค.นี้ จะไปฟังคำวินิจฉัยของศาลด้วยตัวเองหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ไป มอบให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีไป
พร้อมระบุว่า ตารางแน่นเหมือนกัน แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ ส่วนจะเดินทางไปภารกิจนอกทำเนียบรัฐบาลหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า จำตารางไม่ได้จริง ๆ
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันเดียวกันนี้มี ครม.แจ้งลาการประชุม ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย
“วิษณุ” ชี้ช่องเป็นแคนิเดตนายกฯได้
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำแถลงปิดสำนวนของนายเศรษฐา ว่าจะสามารถหักล้างข้อต่อสู้ของกลุ่ม 40 สว.ที่ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ว่า อย่าตอบเลย เพราะอีก 24 ชั่วโมง ก็จะตัดสินอยู่แล้วจึงไม่อยากวิจารณ์ อะไรตอนนี้
อ่านข่าว (ว่าที่) รองประธานสภาคนที่ 1 “ภราดร” เจนใหม่ “ปริศนานันทกุล”
เมื่อถามว่า หากนายกรัฐมนตรีถูกศาลธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง ขั้นตอนหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร
หากไม่รอดนายกรัฐมนตรี ก็จะถูกถอดถอน และพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงครม.ก็จะสิ้นสุดลง แต่นายกรัฐมนตรี ก็สามารถรักษาการไว้ได้ จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะนำครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน คาดว่าจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรเป็นสัปดาห์
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ระหว่างนี้นายเศรษฐา ก็ยังสามารถทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี รักษาการและปฎิบัติหน้าที่ได้ แต่นายกรัฐมนตรี ก็สามารถมอบรักษาการนายกรัฐมนตรี ให้รองนายกรัฐมนตรีตามลำดับได้
นายกรัฐมนตรี สามารถรักษาการได้ รัฐธรรมนูญบอกไว้ กรณีที่นายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่ไม่ได้ มีอะไรบ้าง กรณีนายเศรษฐา ไม่เข้าข้อยกเว้น
ยันไม่มีนายกรัฐมนตรีคนนอก
เมื่อถามอีกว่า หากนายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่ง ยังมีชื่อเป็นแคนดิเดต ก็สามารถกลับมาอีกครั้งได้หรือไม่ นายวิษณุ มองว่า ตนเห็นว่าได้ แต่ก็ยังไม่ถูกตัดสิน จึงยังตอบไม่ได้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่า คำวินิจฉัยเขียนว่าอย่างไร ซึ่งจะมีช่องให้เห็นอยู่ ถ้าหากไม่มีช่องอะไรอยู่ก็เป็นไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากศาลตัดสินให้นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่มีอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญ กลับมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ต้องฟังคำวินิจฉัย นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งไปด้วยเหตุตามมาตราใด
เมื่อถามว่า อำนาจของรักษาการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการอะไรได้บ้าง รวมถึงยุบสภาฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ปัญหานี้ เกิดทุกยุคทุกสมัยแล้ว ตนเห็นว่าสามารถสั่งยุบสภาได้ และระหว่างในรักษาการก็ถือว่ามีอำนาจเต็ม
หากนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งขั้นตอนต่อไปการเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้รายชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ของพรรคที่อยู่ในบัญชี และต้องมีเสียง สส.สนับสนุนของพรรคนั้นเกิน 25 เสียง
ขณะที่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกหมดไปแล้ว พร้อมกับอำนาจที่ สว.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 272
เมื่อถามว่าถ้าพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถหาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ ก็จะต้องตกเป็นของพรรคอื่นใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า พรรคไหนต้องไปตกลงเอาเองกันแล้วกันจะเอาที่ 2,3,4 ก็แล้วแต่โดยขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก
อ่านข่าวอื่นๆ
29 วินาที! สถิติใหม่พันธบัตรรัฐบาล 10,000 ล้านหมดเกลี้ยง