ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ขาดปมถอดถอน “นายเศรษฐา ทวีสิน” เหตุแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน นั่ง “เก้าอี้รัฐมนตรี” ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการจับตา “รอด” หรือ “ร่วง”
ในการรับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นายเศรษฐา ได้มอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้ารับฟังคำวินิจฉัย ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ โดยผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องรอลุ้นกันอีกที ไทยพีบีเอสออนไลน์ พาไปย้อนเหตุการณ์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสิน เรื่องคุณสมบัตินายกฯ มีที่มาที่ไปอย่างไร
อ่านข่าว : “วิษณุ” ชี้แจง “เศรษฐา” ไม่มีสิทธิ “รักษาการนายกฯ” หากศาล รธน. ฟันพ้นตำแหน่ง
คดีนี้เริ่มจาก เมื่อเดือน เมษายน 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ส่อกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ โดยระบุว่า นายพิชิต เคยถูกสภาทนายความ ถอดชื่อจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ 5 ปี
กรณีถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อปี 2551 ที่เกิดเหตุการณ์พยายามนำ “ถุงขนม” ใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของนายทักษิณ ชินวัตร
เรื่องนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้โพสต์ผ่านสื่อโซเซียลฯ ในประเด็นนี้ “พิชิต ชื่นบาน ต่ออย่างไร จบอย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ”
มาถึงในช่วงกลางเดือน 15 พ.ค.2567 สว.จำนวน 40 คน ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 โดยยื่นผ่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ในขณะนั้น) เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน และนายพิชิต ชื่นบาน
ต่อมา 21 พ.ค.2567 นายพิชิต แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 23 วัน หลังการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 เมื่อ 28 เม.ย.2567 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้อง
หนังสือลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายพิชิตที่ยื่นถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงวันที่ 21 พ.ค.2567 ให้เหตุผลว่า เพื่อให้ประเทศเดินหน้า และไม่กระทบการทำงานนายกฯ และไม่ยึดติดกับตำแหน่ง
ต่อมาในวันที่ 23 พ.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของ 40 สว. ไว้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
ส่วนกรณี นายพิชิต เนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจึงไม่มีเหตุให้วินิจฉัย จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ในวันที่ 25 พ.ค.2567 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม 40 สว. ว่า มองว่า สังคมการเมืองรู้ว่าใครเป็นคนของใคร อาจเป็นการสร้างความวุ่นวายทำให้บ้านเมืองชะงักบ้าง แต่คงไม่ถึงกับล้มนายเศรษฐา
30 พ.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
7 มิ.ย.2567 นายเศรษฐา เปิดเผยว่า นายวิษณุ เครืองาม ตรวจคำชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ ปมตั้ง นายพิชิต เสร็จแล้ว นายเศรษฐา ระบุถึงมั่นใจในคำชี้แจงว่า ตนไม่ขอก้าวล่วง แต่ทำคำชี้แจงเสร็จแล้ว ต้องให้ให้เกียรติศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตัดสิน
13 มิ.ย.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน ประชุมปรึกษาทีมกฎหมาย กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีการชี้แจงพยานหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติม
18 มิ.ย.2567 ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้นัดวินิจฉัยหรือมีคำวินิจฉัยคดีคุณสมบัตินายเศรษฐา ทวีสิน กำหนดนัดพิจารณาต่อไปเดือน ก.ค.67
1 ก.ค.2567 นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงคดีการถอดถอนนายเศรษฐา นั้นจะได้ข้อสรุปก่อนเดือน ก.ย.
10 ก.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดพิจารณาคดีต่อ 24 ก.ค.2567
ต่อมา ในวันที่ 24 ก.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา 14 ส.ค.2567
12 ส.ค.2567 นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กรณีที่สังคมจับตาองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 ส.ค.นี้
และในวันที่ 14 ส.ค. 67 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษาชี้ชะตา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เวลา 15.00 น.
อ่านข่าว : เปิด 2 แนวทางคดีถอด “เศรษฐา” ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา 14 ส.ค.