วันนี้ (14 ส.ค.2567) เมื่อเวลา 15.00 น.ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยจัดให้มีการถ่ายทอดสดทาง YouTube สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดี
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
3 เดือนก่อนชี้ชะตาคุณสมบัตินายกฯ
หากย้อนคดีดังกล่าวใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือนในการนัดอ่านคำวินิจฉัยวันนี้ จุดเริ่มต้นเมื่อ 15 พ.ค.2567 สว.จำนวน 40 คน ร่วมกันเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 โดยยื่นผ่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ในขณะนั้น) เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา และนายพิชิต ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หากจะจำกันได้คือคดีถุงขนม2ล้านบาทเมื่อปี 2551 ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ต่อมา 21 พ.ค.นายพิชิต แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 23 วัน หลังการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 เมื่อ 28 เม.ย.2567 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา
อ่านข่าว เปิดรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดี “ยุบพรรคก้าวไกล”
ข้อต่อสู้ทางกม.2 แนวทางรอด-ไม่รอด
หากไล่เรียงไทม์ไลน์ในช่วงเวลา 3 เดือนเมื่อศาลสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา แต่มีเสียงข้างมากไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในขณะนั้นมีข้อมูลว่าตุลาการเสียงข้างน้อย ให้เหตุผลในการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะว่านายกรัฐมนตรีย่อมรู้ ตามคำร้อง เนื่องจากนายพิชิต ถูกโทษสั่งจำคุก และการถอนใบอนุญาตสภาทนายความ แม้จะส่งเรื่องถามไปยังสำนักงานกฤษฎีกา
แต่ไม่ได้ถามทั้งหมด ตามมาตรา เกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี โดยถามแค่ (6)(7) ของมาตรา 160 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องถามทุกอนุมาตราโดยเฉพาะ (4) (5) ที่ระบุไว้เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรี น่าจะรู้ในเรื่องนี้อยู่แล้ว แม้จะชี้แจงว่ากฤษฎีกาตอบมาแล้วแต่กฤษฎีกาจะตอบเฉพาะที่ถามเท่านั้น
นายเศรษฐา ชี้แจง ในประเด็นข้อต่อสู้ด้านกฎหมาย อ้างอิงว่าการกระทำในอดีตของนายพิชิตเกิดเกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ และตัวนายกรัฐมนตรีเอง ภูมิหลังประกอบธุรกิจจึงมีประสบการณ์การเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัดรวมถึงไม่มีภูมิหลัง การศึกษา ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
และการตัดสินใจแต่งตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตตามประเพณีและข้อพึงปฎิบัติทางการเมือง โดยไม่ได้ถือว่านายพิชิต ไม่ซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์หรือมีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม และการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ทางราชการภายใต้ความไว้วางใจทางการเมือง โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการถูกต้อง
จากมติไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่นั้นจะต้องติดตามผลชี้ขาดในวันนี้ ว่ามติของตุลาการจะไปในทิศทางใด โดยเฉพาะมติของ 4 ตุลาการที่สั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่นั้น หลังจากที่ได้วินิจฉัยในข้อกฎหมาย-พยานหลักฐานต่างๆ และคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี จะมีความเห็นและชี้ขาดออกมาอย่างไร
คาดว่ามติในวันนี้อาจจะไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะมีตุลาการที่ไม่รับคำร้องและไม่สั่งยุติปฏิบัติหน้าที่สะท้อนได้ว่า การวินิจฉัยตั้งแต่แรกเริ่มว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความผิดตามคำร้อง
สำหรับแนวทางวินิจฉัยมี 2 แนวทาง “พ้น-ไม่พ้น” ซึ่งหากศาลสั่งไม่พ้นจากตำแหน่งนายเศรษฐา ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่หากศาลมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ อาจมีโทษทางอาญา หลังจากนี้กรณีมีผู้ไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ให้เอาผิดทางจริยธรรมที่ศาลฎีกา
3 ภารกิจนายกรัฐมนตรี
โดยนายเศรษฐา มอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้ารับฟังคำวินิจฉัยแทน แต่ยังมีคิวเดินสายในภารกิจที่วางไว้ 3 หมาย ช่วงเช้าเดินทางเข้าปฎิบัติหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ จากนั้นไปวัดเทพศิรินทร์ธาราวาสราชวรวิหาร และตามติดด้วยการตรวจเยี่ยมตลาดใต้สะพานเพลินจิต เขตปทุมวัน เพื่อจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาเช่าทำร้านค้า
หลับสบายดี และยืนยันว่าเดินหน้าทำงานตามปกติ
นายกรัฐมนตรี ไม่มีสีหน้าเคร่งเครียด พูดคุยและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอย่างสบายๆ และระบุว่ายินดีจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีกครั้ง หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย แต่ไม่ใช่การแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ
อ่านข่าว นายกฯ รับกังวลทุกเรื่อง แต่ให้เป็นตามกระบวนการยุติธรรม
คุมเข้มพื้นที่-เปิดจอถ่ายทอดสด 15.00 น.
ส่วนบรรยากาศที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนใช้ทางเข้า-ออก อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ โดยผ่านจุดคัดกรองบริเวณประตู 4 ชั้น 2 เท่านั้น
โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจรายชื่อสื่อมวลชนมาทำข่าว และก่อนหน้านี้ได้ลงทะเบียนกับศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะผ่านขั้นตอนการคัดกรองของอาคาร
ขณะที่มาตรการดูแลความเรียบร้อยรอบที่ทำการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควบคุมฝูงชนจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย
บริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บริเวณลานหน้าเสาธง จัดเตรียมเป็นสถานที่รองรับสำหรับประชาชน ที่จะมารับฟังการอ่านคำวินิจฉัย มีการติดตั้งจอโทรทัศน์ถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัยจากห้องพิจารณาคดี
อ่านข่าวอื่นๆ
ป.ป.ช.ไม่กังวล ปมสอบจริยธรรม 44 สส.อดีตก้าวไกล
ราชทัณฑ์ แจง “ทักษิณ” พ้นโทษ 31 ส.ค.ไม่เกี่ยวผู้ต้องขังอภัยโทษทั่วไปปี 67