หน้าแรก Voice TV ‘แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย’ ทางออกเดียวที่จะหลุดพ้นจากวังวน ‘ตุลาการภิวัฒน์’

‘แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย’ ทางออกเดียวที่จะหลุดพ้นจากวังวน ‘ตุลาการภิวัฒน์’

68
0
‘แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย’-ทางออกเดียวที่จะหลุดพ้นจากวังวน-‘ตุลาการภิวัฒน์’
‘แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย’ ทางออกเดียวที่จะหลุดพ้นจากวังวน ‘ตุลาการภิวัฒน์’

จาตุรนต์ ฉายแสง ย้ำ ‘แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย’ เป็นทางออกเดียวที่จะหลุดพ้นจากวงวนและความต่อเนื่องของกระบวนการ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ที่ทั้งถอดถอนนายกฯ และยุบพรรคการเมือง มาตลอด 20 ปี

นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ภาพคู่อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 โดยระบุว่า

การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้คุณเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นวังวนเดิมและความต่อเนื่องของกระบวนการที่เรียกว่า“ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งเป็นกระบวนการที่อ้างว่าต้องใช้ฝ่ายตุลาการเข้าจัดการกับการเมืองให้เข้าที่เข้าทางและเกิดความสุจริตเที่ยงธรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่ากระบวนการนี้ไม่ได้ทำให้การเมืองของประเทศนี้ดีขึ้นอย่างที่อ้างกัน แต่ผลกลับเป็นตรงข้ามคือได้สร้างความเสียหายให้กับระบบประชาธิปไตยและระบบยุติธรรมเองอย่างใหญ่หลวง

กระบวนการตุลาการภิวัฒน์นี้ ถูกใช้ร่วมหรือสลับกับการทำรัฐประหารเพื่อหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนและทำให้ประชาชนไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของประเทศได้ ในฐานะผู้ถูกกระทำคนหนึ่ง ผมควรจะช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นปัญหาร่วมกันอย่างชัดเจนมากขึ้น

นายกฯทักษิณถูกทำให้พ้นจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหาร ส่วนนายกฯยิ่งลักษณ์ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามด้วยการรัฐประหาร ก่อนการรัฐประหารทั้งสองครั้งเกิดการยุบสภาและมีการเลือกตั้งทั่วไปที่ถูกบอยคอตและขัดขวางและจบลงด้วยการที่ศาลฯสั่งให้เป็นโมฆะโดยไม่สมเหตุสมผล นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งอีกสองคนพ้นจากตำแแหน่งไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยสาเหตุและการลงโทษที่ไม่ได้หลักสัดส่วน ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม

กรณีของคุณสมัคร ที่ท่านไปทำกับข้าวออกทีวีได้รับค่าจ้างเล็กน้อยกลายเป็นการขัดแย้งผลประโยชน์ทางตำแหน่งหน้าที่ ส่วนกรณีท่านสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯเนื่องจากกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งไปซื้อเสียง 20,000 บาท พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ท่านสมชายเป็นกรรมการอยู่ด้วยก็ถูกเพิกถอนสิทธิ์การเมือง 5 ปี และพ้นจากตำแหน่งนายกฯ มีผลให้ล้มไปทั้งรัฐบาล

ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันมีการยุบพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีผลทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคก้าวไกล กล่าวได้ว่าการยุบพรรคที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นไปโดยไม่เป็นเหตุเป็นผลและมีการลงโทษร้ายแรงอย่างไม่เป็นสัดส่วนส่งผลเสียหายต่อพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำให้พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ รวมทั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หักล้างเจตนารมณ์ของประชาชน ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

ล่าสุด กรณีของคุณเศรษฐา ทวีสิน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และส่งผลให้รัฐมนตรีพ้นไปทั้งคณะ

นี่เป็นเรื่องใหม่…

กรณีนี้เป็นการใช้เรื่องจริยธรรมอย่างคลุมเครือและสับสน มีคำถามว่าในเมื่อผู้ที่ถูกลงโทษและพ้นโทษไปแล้วเกินเวลาที่กำหนด ยังจะใช้กรณีเดียวกันนั้นมาลงโทษหรือให้โทษกับเขาในเรื่องจริยธรรมได้อย่างไร 

ส่วนข้อกล่าวหาว่าทุจริตติดสินบนที่นำมาเป็นเครื่องแสดงถึงความไม่สุจริตเป็นที่ประจักษ์ก็ถูกดำเนินคดีและคดีเป็นที่สุดสั่งไม่ฟ้อง เท่ากับบริสุทธิ์ไปแล้ว 

กรณีนี้จึงเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจของตุลาการที่ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ไม่ใช่การใช้หลักฐานและข้อกฎหมายที่ปราศจากข้อโต้แย้ง การวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 5:4 ก็ฟ้องอยู่เองว่าแม้ตุลาการที่เป็นผู้วางกรอบกติกาว่าด้วยจริยธรรม เมื่อถึงเวลาใช้กับกรณีใดกรณีหนึ่งก็ยังเห็นแตกต่างกันได้อย่างมีนัยสำคัญ

มักมีการตั้งคำถามอยู่เสมอว่ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ แต่ทำไมต้องพ้นจากอำนาจไปด้วยการตัดสินของคนเพียง 9 คน ในกรณีนี้ อาจถูกมองได้ว่าการวินิจฉัยจะออกมาทางใด รัฐบาลทั้งรัฐบาลจะอยู่หรือไป ขึ้นอยู่กับเสียงที่แตกต่างกันเพียง 1 เสียงเท่านั้น

การใช้มาตรฐานจริยธรรมมาเป็นเหตุในการให้โทษหรือลงโทษนักการเมือง จึงเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ฝ่ายตุลาการในการทำให้นายกฯและครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง หรือการล้มรัฐบาลโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและไม่ต้องคำนึงถึงเจตจำนงของประชาชน ซ้ำเติมปัญหาที่เกิดจากกระบวนการตุลาภิวัฒน์ให้หนักหนายิ่งขึ้นไปอีก

การเพิ่มอำนาจที่มีมากอยู่แล้วให้แก่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ในการจัดการกับทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเช่นนี้ ยิ่งเป็นการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่ายและเป็นการลดทอนอำนาจของประชาชนที่มีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก

ทางออกในเรื่องนี้ก็มีทางเดียวคือแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่