วันนี้ (21 ส.ค.2567) แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า เมื่อเวลา 23.00 น.วานนี้ (20 ส.ค.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิ การพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยนายไผ่ ลิกค์ และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร เดินทางเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่บ้านพักส่วนตัว
คาดว่าในการเข้าพบกลางดึกเมื่อครั้งนี้ จะมีการหารือในการที่จะดึงพรรคประชา ธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาล หลังจากที่มีปัญหาภายในในพรรคพลังประชารัฐเนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส มีการกล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับทางกลุ่มพลังประชารัฐ ที่ให้การสนับสนุนกับ ร.อ.ธรรมนัสว่า จะมีความชัดเจนว่ากลุ่มใดในส่วนของพรรคจะได้อยู่ในโควตารัฐบาลแพทองธารเวลา 08.30 น.
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการหารือในพรรคประชาธิปัตย์หลังมีการเจรจากับแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยมีการดีลขอเก้าอี้กระทรวงทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขอโควตาเก้าอี้ 1 รัฐมนตรีว่าการ และ 1 รัฐมนตรีช่วยแทนโควตาแทน ร.อ.ธรรมนัส เนื่องจากทางพรรคเพื่อไทย ยังกังวลเรื่องคุณสม บัติของ ร.อ.ธรรมนัส ที่มีความเสี่ยงถูกตรวจสอบคุณสมบัติด้านจริยธรรม
7 ความเสี่ยงรัฐบาลแพทองธาร
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” เรื่อง “7 ความเสี่ยง รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ระบุว่า 7 ความเสี่ยง รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
ความเสี่ยงในคุณสมบัติของ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี จะต้องแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และไม่มีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีจะต้องถูกตรวจสอบในมาตรฐานนี้ต่อไปด้วย
แปลว่าคณะรัฐมนตรีที่มีข้อสงสัยว่าจะไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากมีการเสี่ยงฝืนแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ย่อมส่งผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา170 วรรคหนึ่ง (4) ซ้ำร้อยอดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน
ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรี ให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอรายชื่อรัฐมนตรีวันนี้ เพื่อส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติ “ทุกวงเล็บ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ในเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี
โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อแสดงความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ของนายกรัฐมนตรีเอง แม้อาจจะสร้างความไม่พอใจกับ ส.ส.บางกลุ่ม จนอาจต้องมีการแยกก๊วนย้ายพรรค แต่ก็เชื่อว่าในที่สุดแล้วจะเป็นที่เข้าใจได้ต่อทุกพรรคการเมืองในการ “ลดความเสี่ยง”ต่อสถานภาพของผู้แต่งตั้งคือนายกรัฐมนตรีที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
ส่วนกรณีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นั้นจะขาดคุณสมบัติหรือไม่ คงไม่น่าจะสามารถพิสูจน์ได้ง่ายในเรื่องอดีตที่เกี่ยวกับการศึกษาและการสอบในสมัยวัยเด็กที่ผ่านมานานแล้ว
ถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์
แต่การถือหุ้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในบริษัทที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ โดยศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 ไม่รับอุทธรณ์ของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งผลทำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ต้องโทษจำคุก 2 ปี เพราะใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน หวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง
คดีดังกล่าวน่าจะยังมีความเสี่ยงต่อคุณสมบัติต่อรัฐมนตรี ซึ่งย่อมถูกนำไปเทียบเคียง กับคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 1/2564 ของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ได้รับมรดกจากบิดาที่เข้าครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลฎีกาได้สั่งเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ให้น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวันที่ 6 เม.ย.2565 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรค 4 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง
คำถามที่มากรณีการส่งรายชื่อคณะรัฐมนตรีให้กฤษฎีกา ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี “ทุกวงเล็บ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 นั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะกล้าหาญเพียงพอเพื่อสอบถามกฤษฎีกาในคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จากรณีการถือหุ้นอัลไพน์ด้วยหรือไม่?
ถ้าจะเลือกปฏิบัติหรือ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ที่จะไม่สอบถามกฤษฎีกาในประเด็นของตัวเองด้วยแล้ว จะพิสูจน์ลักษณะซ้ำรอยนายเศรษฐา ทวีสิน ในกรณีที่รู้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
ความเสี่ยงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ความเสี่ยงต่อระบบสภาผู้แทนราษฎร โดยฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชนก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง หรือตัดสิทธิทางการเมือง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคประชาชน 44 คน จากรณีเคยเข้าชื่อกัน เพื่อยกเลิกและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
และกรณีความเสี่ยงการประกาศบริจาคเงินเข้าพรรคประชาชนที่มีความเสี่ยงทางกฎหมายในหลายมิติแบบดิ้นได้ยากในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีความเสี่ยงถูกดำเนินคดีความในฐานอนุญาตปล่อยให้พรรคก้าวไกลไปหาเสียงนโยบายอันเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ได้นั้น
ทั้ง 2 ประการข้างต้น ทำให้เห็นถึงความเสี่ยงไม่เพียงต่อระบบในสภาผู้แทนราษฎรต่อฝ่ายค้านและรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงต่อระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรอยู่ข้างหน้าอีกด้วย
กับดักดิจิทัลวอลเล็ต
นอกจากนี้ประเด็นที่ 3 ความเสี่ยงในนโยบายเรือธง ของพรรคเพื่อไทยเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจเสื่อมเสียทางการเมืองเพราะผิดสัญญาประชาคม (โดยครอบครัวชินวัตรเอง) หรือหากเดินหน้าแบบเดิมก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อกฎหมายถึงขั้นเสี่ยงคุกตะรางเช่นกัน
ในขณะที่นโยบายที่น.ส.แพทองธาร เคยหาเสียงเอาไว้ ประชาชนย่อมต้องทวงถามนโยบายการลดราคาพลังงาน “ทันที” ว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อมองไปแล้วเห็นแต่ความเสื่อม และความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า อย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ม.112-ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
ความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เช่น ความพยายามแก้ไขเรื่องของการโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพด้วยอำนาจทางการเมือง และความพยายามในการสมรู้ร่วมคิดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อประโยชน์ของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างยิ่งในการต่อต้านของประชาชน ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการรัฐประหารได้ทั้งสิ้น
รวมทั้ง ความเสี่ยงในนโยบายที่อาจจะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ในครอบครัวชินวัตร เช่น พื้นที่แหล่งพลังงานที่อ้างสิทธิทางทะเลระหว่างไทยกัมพูชา หรือการออกฎหมายนิรโทษกรรมให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากไม่เดินหน้าก็อด แต่เดินหน้าต่อไปความเสี่ยงทางการเมืองและกฎหมายอย่างแน่นอน
คดีความทักษิณ-โซ่ตรวนคล้องคอ
ประเด็นที่ 6 ความเสี่ยงคดีทั้งหลายของนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งเรื่องการไม่ติดคุกเลยแม้แต่วันเดียว การแต่งชุดขาวอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีเหล่านี้จะเป็นความเสี่ยง เสมือนโซ่ตรวนคล้องคอแล้ว กระตุกนายทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ และเมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบได้ และจะนำไปสู่การผลักดันนิรโทษกรรมให้กับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเอื้อประโยชน์ของทักษิณหรือไม่
ในขณะที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะอาศัยอำนาจในการดำเนินกระบวนการที่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบิดาตัวเองหรือไม่
และสุดท้ายประเด็นที่ 7 ความเสี่ยงจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจรุมเร้า ทั้งจากหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น หนี้สินภาครัฐสูงขึ้น ปัญหาปากท้องรุมเร้า ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทยอยปิดโรงงานอุตสาหกรรม การแย่งแข่งขันทางการค้าและการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงจากต่างประเทศ
แต่ยังมีเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีความเสี่ยงถึงขั้นเป็นความขัดแย้งหรือสงครามระดับโลก
น.า.แพทองธาร ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรีและทีมงานจะมีวิสัยทัศน์และความสามารถในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ผันผวน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้าน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและยารักษาโรค ฯลฯ
ดูจากสถานการณ์ความเสี่ยงทั้ง 7 ด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยจะบริหารประเทศต่อไปด้วยความยุ่งยาก และยากลำบากอย่างยิ่ง และมีความเสี่ยงที่จำต้องมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อจากน.ส.แพทองธาร ด้วยหรือไม่