หน้าแรก Thai PBS วิเคราะห์ “ทักษิณ” กินรวบ ? อำนาจการเมืองไทย

วิเคราะห์ “ทักษิณ” กินรวบ ? อำนาจการเมืองไทย

28
0
วิเคราะห์-“ทักษิณ”-กินรวบ-?-อำนาจการเมืองไทย
วิเคราะห์ “ทักษิณ” กินรวบ ? อำนาจการเมืองไทย

การจัดตั้ง “ครม.แพทองธาร 1” ตามกระบวนการของพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ด่านแรก คือ คณะกรรมการกลั่นกรองของพรรค โดย นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ด่านที่ 2 คือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ด่านสุดท้าย จะเป็นการตัดสินใจโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ หรือไม่ 

ทั้ง 3 ด่านที่ว่า คือ เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่จากคำถามซึ่งหมายถึง กระบวนการทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่า “พ่อ แม่ ลูก” ไม่ใช่แค่ “ครอบครัวชินวัตร” ที่จะคุยกันเกือบทุกเรื่อง ดังนั้นจะเหมารวมว่า บุคคลทั้ง 3 จะร่วมกันจัด “ครม.” ก็ไม่ได้เสียทีเดียว

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แพทองธาร” อย่างไรก็ตาม ก็ต้องคุยกับคุณพ่อ ซึ่งก็หมายถึง “นายทักษิณ ชินวัตร” และคุยกับคุณแม่ นั่นก็คือ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์”

และในเวลานี้ ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องหลักที่นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” จะคุยกับทั้งนายทักษิณ และคุณหญิงก็ต้องหมายถึง การจัดตั้ง “ครม.” นั่นเอง ซึ่งในทางการเมือง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อาจเป็นผู้ตัดสินใจหลักเช่นเดียวกับกระบวนการตามกฎหมาย

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสนับสนุนหรือเงื่อนไข ที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา จะเลือกพรรคร่วมรัฐบาล หรือจะเลือกใคร เป็นรัฐมนตรีใน “ครม.” ย่อมมีนายทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นฝ่ายสนับสนุน-นำเสนอข้อมูลด้วยได้เหมือนกัน เว้นแต่ว่า บางกรณีกับบางบุคคล อาจเป็นนายทักษิณ หรืออาจเป็นเรื่องของคุณหญิง

แต่เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ท่ามกลางฝุ่นที่ตลบอยู่กับการจัดตั้ง ครม.กลับสะท้อนถึงการถูก “ครอบงำ-ชี้นำ” จะในสถานะพรรคเพื่อไทย หรือรัฐบาล หรือแม้แต่นายกฯ แพทองธาร ซึ่งเมื่อวานนี้ (20 ส.ค.67) นายทักษิณ ชินวัตร ก็ออกตัวว่า “ไม่ได้ครอบงำ..แต่ครอบครอง” ในฐานะ “พ่อกับลูก”

ไม่มีครอบงำหรอกครับ มีแค่ครอบครอง เพราะก็เป็นลูกสาวผม

แต่ทั้งนี้ ก็มีรายงานว่า ไม่พรรคเพื่อไทย ก็รัฐบาล หรืออาจหมายถึงนายกฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งนายทักษิณ แต่กำลังพิจารณาว่า จะนั่งในตำแหน่งอะไร เพื่อรองรับข้อครหาที่จะตามมาทั้ง “ที่ปรึกษาพรรค” หรือไม่ หรือจะที่ “ปรึกษารัฐบาล” หรือจะเป็นที่ “ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” ตำแหน่งไหนดีกว่ากัน ปลอดภัยกว่ากัน หากมีคนนำเรื่องยื่นร้องยุบพรรคเพื่อไทยขึ้นมา

ขณะที่ โผ ครม. “เพื่อไทย” จะเป็นฝ่ายเลือกได้เลยหรือไม่ว่าใครผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งเป็นข้อสังเกตอยู่ แต่ในทางปฏิบัติอาจต้องมีเหตุผลชี้แจงด้วย โดยเฉพาะหากเป็น “ชื่อรัฐมนตรี” ที่พรรคร่วมฯ เสนอมา คงต้องหาเหตุผลให้ชัดเช่นกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ หรือ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เพราะรายชื่อทั้งหมดในทางกฎหมาย “ผ่าน” แต่ในเชิงภาพลักษณ์และสังคมเรื่อง “ข้อครหา-ข้อกล่าวหา” อาจกระทบกับ ครม.และตัวนายกฯ

ทั้งนี้ กรณีที่เป็นข้อสังเกต เพราะทางหนึ่ง คือ การใช้อำนาจตัดสินใจเลือก โดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายกฯ แพทองธาร จะผู้ใช้อำนาจนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นไปได้ว่า พรรคร่วมฯ ก็กำลังอาศัยการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จนั้น ชี้ขาด คนของตัวเองไปด้วย

อย่างพรรคภูมิใจไทย ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ยืนยันถึงการส่งชื่อ “รัฐมนตรี” ตามโควตาของพรรคตามชื่อเดิม โดยมีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รวมอยู่ด้วย พร้อมกับบอกว่า “นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย มีวุฒิภาวะเพียงพอ ที่จะกลั่นกรองได้” โดยไม่มีเหตุให้ต้องเกรงใจใคร หรือกังวลเรื่องอะไร

กังวลหรือไม่กังวลก็ไม่ถูก การส่งรายชื่อ เราก็มีการตรวจสอบในส่วนของพรรค ในส่วนที่ตรวจสอบได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงและยืนยันทางเอกสารที่ชัดเจน ไม่มีชื่อสำรอง และคิดว่าผมมีวุฒิภาวะเพียงพอ ที่จะตรวจทานคุณสมบัติคนที่ผมจะให้เป็นรัฐมนตรีในส่วนของพรรคผมเป็นอย่างดีแล้ว คนที่มีปัญหาก็ไม่กล้าส่งขึ้นไป ไม่ต้องเกรงใจใคร

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ต้องเกรงใจใคร หรือต้องกังวลกับการส่งชื่อไป แต่ปมอยู่ตรงที่ว่า ถ้าชื่อ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ไม่ผ่านละ ใครเป็นคนตัดสินใจ 

จนนำมาสู่คำถามว่า สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” กำลังจะกลับมาหรือไม่ เพราะบางคนบางฝ่าย ก็เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” กำลังจะกลับมา แต่บางคน-บางฝ่าย ก็ชี้ว่า นี่คือรูปแบบใหม่ ให้เรียกว่า “ระบอบชินวัตร” ประเด็นอยู่ที่ “อำนาจรัฐและอำนาจทางการเมือง” อยู่ในมือของคนในตระกูลชินวัตรแล้ว

หากทอบทวนว่า นับแต่นายทักษิณ ชินวัตร เหยียบแผ่นดินไทย กลับมาต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม “ได้อะไรไปบ้างแล้ว” 

1. พรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งที่การเลือกตั้งปี 2566 เป็นพรรคที่ได้รับเลือก สส.มาเป็นอันดับ 2 นะ อันดับ 1 ถูกยุบพรรคไปแล้ว

2.ได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จากแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66

3.ได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2567 คนที่นายทักษิณ ชินวัตร บอกไง ไม่ได้ครอบงำ..แต่ครอบครอง ก็เขาเป็นลูกสาวผม

4.นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทาน “อภัยลดโทษ” จากนั้นก็ได้รับการ “พักโทษ” กลับมาที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน และวินาทีสุดท้ายก็พ้นโทษจากพระราชทานอภัยโทษอีกครั้ง

สุดท้าย ที่ตั้งเป็นคำถามไว้ จำหรือไม่ว่า เมื่อครั้งที่นายทักษิณ เดินทางไป จ.เชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 นายทักษิณเคยลั่นวาจาไว้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะได้กลับมาเล่นสงกรานต์ ปีหน้า ท่ามกลางกระแสว่า จะกลับมาเดือน ต.ค.นี้

นายทักษิณ ชินวัตร จากผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีในต่างประเทศมาตลอด 17 ปี พรุ่งนี้วันที่ 22 ส.ค.67 น่าจะประกาศได้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร นี่แหละคือ ผู้กุมอำนาจรัฐและอำนาจทางการเมือง และว่ากันว่า วันที่ 9 ก.ย. พรรคเพื่อไทย น่าจะเปิดตัว “ครม.แพทองธาร” ในนามรัฐบาลผสมรูปแบบพิเศษ ภายใต้การปรองดองสมานฉันท์ ทุกขั้วการเมือง

อ่านข่าว : “มติก๊วน” เหนือ “มติพรรค” ตั้งรัฐบาล “แพทองธาร” 

“ทักษิณ” ปัด “บิ๊กป้อม” สายตรง เหน็บถ้าจะมาต้องมาทั้งตัว 

ประเทศไหนบ้างขับเคลื่อนการบริหารด้วย “ทายาททางการเมือง”

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่