วันนี้ (21 ส.ค.2567) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy Think Tank) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีอภิปราย เรื่อง “ทุนผูกขาดเศรษฐกิจ กับการครอบงำการเมืองและการแทรกแซงองค์กรภาครัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้บริโภค” เพื่อส่งการบ้านรัฐบาลใหม่ กับการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทุนผูกขาด และข้อเสนอต่อรัฐบาล
ทั้งนี้ มีผู้ร่วมอภิปราย คือ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย รักษาการเลขาธิการ ครป. นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. นายจำนงค์ หนูพันธุ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และนายปรีชา กรปรีชา อดีตรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า ครม.ชุดใหม่ ต้องตอบสนองต่อการแก้ไขวิกฤตประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผูกขาด โดยกลุ่มทุนใหญ่ที่ครอบงำการเมือง และใช้วิธีการแทรกแซงองค์กรภาครัฐ
10 เคสแทรกแซงรัฐ เพื่อผลประโยชน์เศรษฐกิจผูกขาด
ยกตัวอย่าง 10 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงรัฐเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกขาดที่น่าสนใจ เช่น กรณีการแปรรูป ปตท. ยุคผลประโยชน์ทับซ้อน และการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย แปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ส่วนแบ่งกำไรกับเอกชน 49%, ความพยายามแปรรูป กฟผ. เมื่อไม่ได้ก็ตัดบทบาทให้ยกเลิกการผลิตแบบเดิม แต่ไปรับซื้อกับเอกชนแทนจนทุนพลังงานไฟฟ้าเติบโตร่ำรวย, กรณีการปฏิรูปการบินไทย, กรณีโทรคมนาคมและคลื่นความถี่ True & Dtac และการควบรวมกิจการอินเตอร์เน็ตของ 2 ค่าย AIS 3BB ผ่านการพยายามล็อบบี้องค์กรภาครัฐอย่าง กสทช.
กรณีดาวเทียมไทยคม โดยทุนโทรคมนาคมควบรวมกับทุนพลังงาน, โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แลกที่ดินมักกะสัน, Tesco & CP all ผ่านคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.), นโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต และโครงการเป๋าตัง ที่หมุนเงินงบประมาณแผ่นดินเข้าสู่กระเป๋าเจ้าสัว รวมถึงนโยบายต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปีที่กำลังผลักดัน และกรณี BOI ส่งเสริมการลงทุนและให้อภิสิทธิ์กลุ่มทุนใหญ่
การสัมปทานความร่ำรวยแบบเก่าจนถึงการเข้าผูกขาดเศรษฐกิจโดยวิธีธุรกิจการเมืองและนโยบายเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล ยิ่งทำให้การเติบโตของทุนไทยพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก
รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงการหาเสียง ไม่เห็นนักการเมืองนำเสนอนโยบายจะให้เช่าที่ดิน 99 ปี รวมทั้งการสร้างกาสิโน ดังนั้นจึงได้การเมืองแบบไม่ตรงปก และปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจผูกขาด คือ เราร้องเรียนใครไม่ได้ ประชาชนจึงกลายเป็นผู้บริโภคที่เลือกไม่ได้
ขณะที่ยังมีธุรกิจที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น การผลิตไฟฟ้า ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะที่รัฐดูแลและกำกับดูแล แต่กลับเปิดประตูปล่อยให้เอกชนเข้ามา โดยใช้วาทะกรรมรัฐวิสาหกิจขาดประสิทธิภาพ นักการเมืองจึงวิ่งเต้นโควตารัฐมนตรีเข้าสู่อำนาจเพื่อจัดการทรัพยากรเหล่านั้น จึงอยากเสนอให้พรรคการเมืองที่มีความสามารถในการรวมคน ได้มีนโยบายด้านประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
ทุนเหนืออำนาจรัฐ
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า เมื่อก่อนเราได้ยินคำว่าทุจริตเชิงนโยบาย โดยเปลี่ยนอำนาจของตนเองให้กลายเป็นทุน การที่นักการเมืองจะเข้าสู่อำนาจต้องอาศัยกลุ่มทุนในการลงทุนให้ตนเอง และตั้งคนเหล่านั้นเป็นรัฐมนตรีเพื่อถอนทุน ตอนนี้อำนาจทุนมีเหนือกว่าอำนาจรัฐ สามารถเข้ามาครอบงำและผูกกันอย่างแนบแน่น
วิธีการที่ทุนเข้ามาครอบรัฐ โดยใช้วิธีเซาะกร่อนบ่อนทำลายองค์กรของรัฐเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่พยายามให้เหลือการผลิตแค่ 17% เพื่อไปซื้อการผลิตไฟฟ้าจากเอกชนและประกันการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน
ด้านประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า การที่มีกลุ่มทุนสนับสนุนพรรคการเมือง ย่อมใช้พรรคการเมืองที่มีอำนาจให้เป็นประโยชน์ในธุรกิจ ไม่ต่างจากในยุค คสช. วันนี้มาเป็นพรรคการเมืองก็มารวมกันร่วมเป็นรัฐบาลอย่างชัดเจน ตัวอย่างภาพถ่ายที่กลุ่มทุนและนักการเมืองไปรวมกันที่สนามกอล์ฟ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รมว.พลังงาน ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะเป็นใคร และตัวแทนกลุ่มทุนจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใดบ้าง
ร้องแก้ปัญหาปากท้องประชาชน
รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร กล่าวว่า ในแง่เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ วันนี้ประเทศไทยมีภาคต่อระบอบทักษิโณมิกส์แล้วในรอบ 20 ปี เป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ไม่เสรี และไม่เป็นธรรมอย่างแท้จริง เศรษฐกิจไทยตอนนี้ประชาชนย่ำแย่ และไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งสำคัญต่อเรื่องปากท้องของประชาชน ถ้าทำเรื่องนี้ได้ประชาธิปไตยทางการเมืองจะตามมาอย่างแน่นอน และประเทศไทยจะเข้มแข็งในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์
สุดท้าย สรุปทุนแทรกแซงรัฐเป็นเรื่องทางลบ แทนที่จะเอาทรัพยากรเป็นของรัฐของประชาชน แต่ต้องตกเป็นของนายทุน ยกตัวอย่างเรื่องน้ำมัน และขอคัดค้านนโยบายขายชาติให้เช่าที่ดิน 99 ปี ตัวอย่างจากลาวชัดเจนว่าตอนนี้ตกเป็นของจีน ลาวเจ๊งทั้งประเทศเพราะเศรษฐกิจถูกครอบครอง ต่อไปในโลกอนาคตจะเหลือเพียง 2 ชนชั้น คือชนชั้นที่มี AI.ครอบครองทรัพย์สิน และชนชั้นที่ไร้สมบัติ และต่อไปชนชั้นที่ไร้สมบัติจะถูกทำลายทิ้ง
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ กล่าวว่า ในฐานะ สว.จะขอตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงการแต่งตั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ ซึ่ง สว.มีอำนาจลงชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมถึงการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ จะต้องไม่สุกเอาเผากินแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีรอยแผลเหมือนในอดีต
แก้ปัญหาเศรษฐกิจผูกขาด 5 ประเด็น
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวสรุปข้อเสนอเวทีว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดเบื้องต้น 5 ประเด็น เพื่อแก้วิกฤตประเทศและชะตากรรมไทยในยุคสงครามความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ ได้แก่
- สร้างนโยบายที่หยุดยั้งให้รัฐและทุนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ยึดครองทรัพยากรของประเทศและระบอบราชการ จนประชาชนกลายเป็นผู้บริโภคและผู้ซื้อบริการภาครัฐ ต้องบังคับใช้กฎหมาย แยกรัฐและทุนออกจากระบบธุรกิจการเมือง ยกเลิกระบบสัมปทานผูกขาดต่าง ๆ ที่รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ ตรวจสอบผลตอบแทนของรัฐจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
- ยกเลิกนโยบายประชานิยมแบบดิจิทัลวอลเล็ต และการเติมเม็ดเงินหมุนเวียนที่กระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มทุนใหญ่ แต่คนไทยยังเต็มไปด้วยหนี้สิน แต่ไปเน้นนโยบายลดรายจ่าย หนี้สิน และเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืน
- ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปลี่ยนบทบาท BOI ยกเลิกการให้อภิสิทธิเพื่อการลงทุนกับกลุ่มทุนใหญ่ที่มีความสามารถ
- แก้ปัญหาเศรษฐกิจผูกขาด รัฐต้องกำกับเป็นเจ้าของพลังงานเอง เช่น น้ำมัน
- ปฎิรูปหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอิสระให้เข้มแข็ง เช่น กขค. กสทช. และเพิ่มดาบให้หน่วยงานตรวจสอบให้แข็งแรงขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และการครอบงำรัฐ