จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม กำชับ ปภ. แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า หามาตรการเยียวยาประชาชนหลังน้ำท่วมคลี่คลาย
วันนี้ (26 สิงหาคม 2567) เวลา 10.00 น. นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กองทัพบก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิอากาศสารสนเทศ (Gistda) กรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบการคาดการณ์สภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ว่า สัปดาห์ที่จะถึงนี้ เเนวโน้มของฝนยังคงตกต่อเนื่อง จากปัจจัยสำคัญ คือ มรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง โดยคาดว่าจะมีฝนตกหนักขึ้นและขอให้ติดตามเฝ้าระวังปริมาณฝนใน 4 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา น่าน แพร่) และภาคใต้ ภาพรวมเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนในปี 2554 ที่มีปริมาณมากกว่าปกติตั้งแต่ต้นปี เเต่ปี 2567 ปริมาณฝนตกหนักเริ่มในเดือนสิงหาคม และ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่าในปี 2554
ล่าสุด สทนช. ได้ดำเนินตามข้อสั่งการรองนายกฯ ภูมิธรรม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนในทุกมิติ เร่งให้สถานการณ์น้ำกลับสู่ภาวะปกติ และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย เพื่อสร้างความเข้าใจ ประสานงาน และวางแผนร่วมกันกับจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ จังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก แพร่ ลำปาง และพะเยา อีกทั้ง มีการระดมใช้เครื่องมือสูบน้ำ ที่จะรองรับน้ำในเดือนกันยายน โดยตั้งศูนย์ฯส่วนหน้ารองรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่าน
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ได้มีมาตรการดำเนินการรองรับปริมาณน้ำที่จะเข้ามาตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าปี 2554 ทั้งนี้ เพื่อความสบายใจของพี่น้องประชาชน ให้กระทรวงต่าง ๆ เตรียมมาตรการช่วยเหลือที่ทำได้ทันที ด้วยการบูรณาการอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อม สามารถเข้าถึงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้รวดเร็ว
นายจักรพงษ์ ฯ สั่งการให้ที่ประชุม ใน 2 ประเด็น ดังนี้
1. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ต้องมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์
2. เรื่องอาหาร น้ำดื่ม อยากให้ทุกภาคส่วน หามาตรการเพิ่มเติม เพื่อที่จะพร้อมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ถูกตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่าย งบกลาง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้ให้หลักการใช้งบประมาณ โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. งบประมาณรองนายกรัฐมนตรีที่จะมีการจัดสรร
2. ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะใช้เงินทดรองจ่าย ท่านละ 50 ล้านบาท โดยในที่ประชุมเห็นพ้องขอขยายงบประมาณเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
3. ส่วนแต่ละกระทรวงในเรื่องการซื้ออุปกรณ์ ในการจัดหาเครื่องอุปกรณ์ในการระบายน้ำเบื้องต้น
“ในช่วง 2-3 วันนี้ยังมีสภาพอากาศฝนตกอยู่ และจะเริ่มน้อยลงในช่วงวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งช่วงนี้จะรีบระบายน้ำให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากนี้ ขอให้ กสทช. ได้ประสานกับเครือข่าย ดีแทค และ AIS ในการขยายสัญญาณในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งหมด ยืนยันว่าปีนี้ประมาณน้ำฝนไม่เท่ากับปี 2554 เพียงแต่ช่วงนี้เป็นช่วงฝนตกฉับพลันเข้ามาทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ขอทุกกระทรวงขนส่งอุปกรณ์ที่จะช่วยระบายน้ำที่มีอยู่ให้รวดเร็ว ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดน้ำในเขื่อน ยังอยู่ในปริมาณที่ต่ำ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ สทนช. จะเร่งหารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งระบายน้ำ และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในส่วนกระทรวงกลาโหมขอให้เตรียมจัดส่งอุปกรณ์ที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งอาหาร น้ำดื่มสะอาด น้ำอุปโภคบริโภค ดูแลสถานที่โรงพยาบาลไม่ให้เกิดน้ำท่วมเพื่อสามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งได้ประสานงานไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในพื้นที่แล้ว ยืนยันว่า กรุงเทพมหานครจะไม่ท่วมแน่นอน โดยในเดือนกันยายน จะมีปริมาณน้ำมาก จะเร่งบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายจักรพงษ์ กล่าว