หน้าแรก Voice TV ตั้ง ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ประธาน กมธ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่หมดความจำเป็น ‘ปิยบุตร-ก่อแก้ว-ชัยชนะ’ ร่วม กมธ.ด้วย

ตั้ง ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ประธาน กมธ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่หมดความจำเป็น ‘ปิยบุตร-ก่อแก้ว-ชัยชนะ’ ร่วม กมธ.ด้วย

44
0
ตั้ง-‘จาตุรนต์-ฉายแสง’-ประธาน-กมธยกเลิกคำสั่งคสชที่หมดความจำเป็น-‘ปิยบุตร-ก่อแก้ว-ชัยชนะ’-ร่วม-กมธ.ด้วย
ตั้ง ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ประธาน กมธ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่หมดความจำเป็น ‘ปิยบุตร-ก่อแก้ว-ชัยชนะ’ ร่วม กมธ.ด้วย

ตั้ง ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ประธาน กมธ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่หมดความจำเป็น ประชุมนัดแรกรวบรวมคำสั่งคสช. รวม 111 คำสั่ง วางกรอบแนวทางการยกเลิกให้ชัดเจน พร้อมเปิดรับพิจารณาคำสั่งอื่นนอกเหนือจากนี้เพื่อยกเลิกไปในคราวเดียว

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คำสั่ง คสช.) บางฉบับที่หมดความจำและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ประชุมเป็นนัดแรก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ รัฐสภา มีมติให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธานกรรมาธิการ, รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นรองประธานฯ คนที่1, นายก่อแก้ว พิกุลทอง เป็นรองประธานฯ คนที่ 2, นายนัจมุดีน อูมา เป็นรองประธานฯ คนที่ 3, นายชัยชนะ เดชเดโช เป็นรองประธานฯ คนที่ 4 และ นายเอกสิษฐ์ อัครศักดิ์กีรติ เป็นรองประธานฯ คนที่ 5 พร้อมตั้งนางสาวตรีชฎา ศรีธาดา เป็นโฆษกกรรมาธิการ

ที่ประชุมร่วมกันพิจารณากรอบแนวทางการทำงาน เนื่องจากมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมด 5 ร่าง โดยมี 3 ร่างที่มีบัญชีแนบท้ายคำสั่ง คสช. ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรี 23 คำสั่ง, พรรคประชาชน 17 คำสั่ง และพรรคภูมิใจไทย 71 คำสั่ง ทั้งนี้คณะกรรมาธิการได้ใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก แต่สามารถพิจารณาเพิ่มเติมคำสั่ง คสช.อื่น ๆ จากร่างของ 4 ฉบับที่เหลือเข้ามาอีกได้ ที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นและเหมาะสมจะยกเลิก

ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการแบ่งคำสั่ง คสช.ที่จะยกเลิกออกเป็น 3 แบบ

– แบบแรกคือคำสั่งที่ยกเลิกแล้วจะไม่มีปัญหาอะไรตามมา ซึ่งสามารถยกเลิกไปได้เลย

– แบบที่ 2 คือคำสั่งที่ยกเลิกแล้วจะมีผลกระทบต่อระบบยุติธรรมหรือการดำเนินคดีที่ค้างอยู่

– แบบที่ 3 คือคำสั่งที่ยกเลิกแล้วจะมีผลกระทบต่อการบริหารของฝ่ายบริหาร หรือการทำงานของส่วนข้าราชการ

“คำสั่ง คสช.เหมือนท่อนซุงที่ไหนมาตามน้ำแล้วมาติดอยู่ที่ฝาย บางท่อนหยิบออกมาจากน้ำได้เลย บางท่อนไปอุดอยู่ที่ฝาย ถ้าเอาออกมาจะมีรอยรั่ว ดังนั้นการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่จะสร้างผลกระทบตามมาจึงเป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการต้องมาพิจารณาว่าจะแก้ไขป้องกันปัญหาที่ตามมาได้อย่างไร” นายจาตุรนต์ กล่าว

ในการประชุมครั้งถัดไปตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ จะนำข้อมูลมาเสนอว่าคำสั่ง คสช.แต่ละฉบับมีความเป็นไปได้หรือความเหมาะสมที่จะยกเลิกหรือไม่ ถ้ายกเลิกแล้วจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อมีกรอบแนวทางในการดำเนินงานที่มีความชัดเจนก็จะทำให้การทำงานของกรรมาธิการเป็นไปอย่างรวดเร็ว

“คณะกรรมาธิการมีความรู้สึกร่วมกันว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากเพิ่มการยกเลิกคำสั่งอีกบางฉบับ เพื่อให้ยกเลิกได้มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเท่าที่มีอยู่ในร่างของครม. 23 ฉบับเท่านั้น แต่จะทำได้หรือไม่ก็ต้องมาดูเหตุผลและความเป็นไปได้ครับ” ประธานกรรมาธิการกล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่