หน้าแรก Voice TV เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ ขยับขึ้น 7 เดือนแตะ 5.4 หมื่นราย น่าจับตาเกินครึ่งเป็น ‘ธุรกิจบริการ’

เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ ขยับขึ้น 7 เดือนแตะ 5.4 หมื่นราย น่าจับตาเกินครึ่งเป็น ‘ธุรกิจบริการ’

69
0
เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่-ขยับขึ้น-7-เดือนแตะ-5.4-หมื่นราย-น่าจับตาเกินครึ่งเป็น-‘ธุรกิจบริการ’
เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ ขยับขึ้น 7 เดือนแตะ 5.4 หมื่นราย น่าจับตาเกินครึ่งเป็น ‘ธุรกิจบริการ’

ยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เข้าสู่ไตรมาส 3 ยังขยับขึ้นจัดตั้งสะสม 7 เดือนแตะ 5.4 หมื่นราย น่าจับตาเกินครึ่งเป็น ‘ธุรกิจบริการ’ ขณะที่ ‘ธุรกิจสมุนไพร’ ผลิตด้วยคนไทยตัวเล็ก กำลังเนื้อหอม ลุ้นเป็น Soft Power

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยสถิติจดทะเบียนตั้งใหม่ประจำเดือนกรกฎาคม 2567 จำนวน 7,837 ราย เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อนหน้า และยอดสะสม 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม 2567) จำนวน 54,220 ราย เพิ่มขึ้น 0.16% จากปีก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมที่ธุรกิจยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องบนปัจจัยหนุนด้านการท่องเที่ยวและความคืบหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คืบหน้าไปในหลายด้าน ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกย้อนหลังไป 10 ปีจนถึงปัจจุบันพบว่า ธุรกิจบริการมีอัตราการจัดตั้งสูงเกินครึ่งหนึ่งของธุรกิจทั้งหมด สามารถทำกำไรสูงสุดแซงธุรกิจในกลุ่มการผลิต และขายส่ง/ขายปลีกที่เป็นธุรกิจยอดนิยมในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของไทย สำหรับธุรกิจสมุนไพรไทยได้กลายมาเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและเนื้อหอมในสายตาผู้บริโภคต่างชาติ ทั้งความได้เปรียบทางภูมิปัญญาไทย แหล่งวัตถุดิบที่สมบูรณ์ และกระแสไวรัลที่มีบุคคลระดับโลกใช้สินค้าไทยให้ต่างชาติเห็น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันให้สมุนไพรไทยเป็น Soft Power ในสายตาชาวโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาการจัดตั้งธุรกิจได้เข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 2567 มีปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งเชิงบวกและมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนธุรกิจเกิดขึ้นหลายประการ อาทิ นโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็น Tourism Hub ของโลก เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่เมืองหลักและเมืองรอง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้านที่มีความคืบหน้า รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีส่วนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจเช่นกัน

สำหรับสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า มีจำนวน 7,837 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 989 ราย หรือ 14% และทุนจดทะเบียน 23,704.59 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 7,056.38 ล้านบาท หรือ 42% ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

– ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 615 ราย ทุนจดทะเบียน 2,055.87 ล้านบาท, 

– ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 534 ราย ทุนจดทะเบียน 1,608.64 ล้านบาท 

– ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 367 ราย ทุนจดทะเบียน 798.51 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.85%, 6.81% และ 4.68% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนกรกฎาคม 2567 ตามลำดับ

ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,801.25 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจศูนย์เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Data Center) บริการเชื่อมต่อโครงข่าย บริการดิจิทัลและบริการที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ สถานที่ทำการ ถนน สะพาน เขื่อนรวมทั้งงานโยธาอื่นๆ

ccf9107fa3333adfccbb3abdc.jpg

การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม 2567) มีจำนวน 54,220 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 86 ราย คิดเป็น 0.16% ทุนจดทะเบียน 168,783.20 ล้านบาท ลดลง 276,512.50 ล้านบาท คิดเป็น 62.10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 สืบเนื่องมาจากปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ

ทั้งนี้ 7 เดือนแรกมีประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

– ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,189 ราย ทุนจดทะเบียน 17,621.98 ล้านบาท

– ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,136 ราย ทุนจดทะเบียน 9,311.05 ล้านบาท 

– ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,472 ราย ทุนจดทะเบียน 5,151.41 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.73%, 7.63% และ 4.56% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคมตามลำดับ

การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวน 1,890 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 23 ราย คิดเป็น 1.23% และทุนจดทะเบียน 8,831.05 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 1,303.13 ล้านบาท คิดเป็น 17.31% ในเดือนนี้มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อจำหน่าย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 1,420.00 ล้านบาท

สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

– ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 155 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 677.32 ล้านบาท

– ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 127 ราย ทุนจดทะเบียน 2,150.97 ล้านบาท 

– ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 62 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 156.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.20%, 6.72% และ 3.28% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนกรกฎาคมตามลำดับ

การจดทะเบียนเลิกสะสม 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม 2567) มีจำนวน 7,929 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 1,035 ราย คิดเป็น 11.55% ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 85,579.40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 28,446.77 ล้านบาท คิดเป็น 49.79% ทั้งนี้ มีนิติบุคคลจำนวน 4 ราย ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิก โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 6,004.71 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกเช่นกัน รวมทุนจดทะเบียนทั้ง 5 รายมีมูลค่ากว่า 54,214.05 ล้านบาท จึงทำให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 7 เดือนแรกสูงกว่าปกติ เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกแล้วหากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไป ทุนจดทะเบียนเลิกจะอยู่ที่ 31,365.35 ล้านบาท และพบว่าสัดส่วนการจดเลิกอยู่ที่ 18% ของการจัดตั้งธุรกิจใน 7 เดือนแรก ซึ่งมีความใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีสัดส่วน 17% ของการจัดตั้งธุรกิจ

7 เดือนแรกมีประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสะสมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 758 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 1,886.50 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 467 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 7,014.72 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 259 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 613.34 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.56%, 5.89% และ 3.27% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ตามลำดับ

หากวิเคราะห์ย้อนหลังไปช่วงเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมาจะพบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของประเภทการจัดตั้งธุรกิจที่อดีตเป็นกลุ่มขายส่ง/ปลีก และการผลิต ได้เปลี่ยนผ่านเป็น ‘กลุ่มธุรกิจบริการ’ โดยช่วง 10 ปีนี้มีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจบริการเกินครึ่งของธุรกิจทั้งหมด ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดของธุรกิจบริการเป็นธุรกิจขนาดเล็ก S คิดเป็น 99.22% ธุรกิจขนาดกลาง M คิดเป็น 0.52% และขนาดใหญ่ L คิดเป็น 0.26% สำหรับประเภทธุรกิจบริการที่จัดตั้งสูงสุดคือ อสังหาริมทรัพย์, ภัตตาคาร/ร้านอาหาร และขนส่งและขนถ่ายสินค้าฯ

ในปี 2566 ธุรกิจบริการสร้างรายได้อยู่ที่ 11.04 ล้านล้านบาท เติบโตจากปี 2565 คิดเป็น 3.80% ทั้งนี้ ธุรกิจบริการ สามารถทำกำไรสูงสุด คิดเป็น 7.24% ของรายได้ ในขณะที่ภาคการผลิต คิดเป็น 4.61% ของรายได้ และภาคขายส่ง/ขายปลีกคิดเป็น 1.94% ของรายได้ จากข้อมูลใน 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม 2567) ธุรกิจบริการมีการจดทะเบียนจัดตั้งจำนวน 31,003 ราย คิดเป็น 57.18% ของจำนวนการจัดตั้งทั้งสิ้น 54,220 ราย ในปี 2567 ทุนจดทะเบียน 95,644.19 ล้านบาท คิดเป็น 56.67% ของทุนจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 168,783.20 ล้านบาท แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบริการยังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจที่รองรับกับการท่องเที่ยว ประกอบกับมีการจัดตั้งธุรกิจบริการประเภทใหม่ๆ ที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ อาทิ การวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีฯ, ธุรกิจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์, ธุรกิจความบันเทิง, ธุรกิจสถานที่ออกกำลังกาย

ปัจจุบัน (31 กรกฎาคม 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,931,454 ราย ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 30.22 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 928,369 ราย ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 22.28 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 724,594 ราย คิดเป็น 78.05% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 16.14 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 202,303 ราย คิดเป็น 21.79% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,472 ราย คิดเป็น 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 5.67 ล้านล้านบาท

ขณะที่ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 75 ราย แบ่งเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 18 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 57 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,499 ล้านบาท มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 14 ราย เงินลงทุน 3,861 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 9 ราย เงินลงทุน 2,230 ล้านบาท และจีน 10 ราย เงินลงทุน 1,122 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม 2567) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติฯ จำนวน 460 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 84 ราย คิดเป็น 22% เกิดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 90,987 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 32,043 ล้านบาท คิดเป็น 54% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 117 ราย เงินลงทุน 47,879 ล้านบาท, สิงคโปร์ 71 ราย เงินลงทุน 7,486 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 70 ราย เงินลงทุน 3,470 ล้านบาท, จีน 51 ราย เงินลงทุน 7,120 ล้านบาท และฮ่องกง 35 ราย เงินลงทุน 12,131 ล้านบาท

สำหรับการวิเคราะห์รายธุรกิจในเชิงลึกพบว่า ‘ธุรกิจสมุนไพรไทย’ มีโอกาสที่น่าสนใจทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สืบเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตัวเอง ประกอบกับมีทางเลือกในการป้องกันโรค การรักษาด้วยการใช้สมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ มาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสมุนไพรจำนวน 18,342 ราย ทุนจดทะเบียน 147,580.84 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

– กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 15,060 ราย ทุนจดทะเบียน 124,792.36 ล้านบาท

– กลุ่มผลิต/แปรรูป 1,778 ราย ทุนจดทะเบียน 16,523.04 ล้านบาท 

– กลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย ทุนจดทะเบียน 6,265.44 ล้านบาท 

ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก S 17,224 ราย ขนาดกลาง M 806 ราย และขนาดใหญ่ L 312 ราย จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กเป็นผู้เล่นที่มีโอกาสในตลาดสมุนไพรมากที่สุด สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดในครอบครัวมาแปรเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสร้างอาชีพได้ ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตควบคุมและลดต้นทุนการผลิตได้ รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิดซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางการตลาด สำหรับภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจสมุนไพรในปี 2566 สร้างรายได้ 872,466.83 ล้านบาท เป็นกำไร 27,497.70 ล้านบาท โดยกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ทำรายได้และกำไรสูงที่สุด

ด้านนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนธุรกิจสมุนไพรในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุน 38,707.25 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกลุ่มขายปลีก/ขายส่งมากที่สุด มูลค่าการลงทุน 34,042.05 ล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจสมุนไพรสูงสุด 3 อันดับคือ สหรัฐอเมริกา เงินลงทุน 11,809.12 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 5,082.04 ล้านบาท และสิงคโปร์ 3,274.73 ล้านบาท ธุรกิจสมุนไพรมีแนวโน้มเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าของไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติที่มักจะซื้อใช้งานเองหรือนำกลับไปเป็นของฝาก อาทิ ยาดม ยาหม่อง เครื่องสำอาง ยา และอาหาร ประกอบกับเกิดปรากฎการณ์บนโลกออนไลน์ที่ผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและต่างชาติหยิบสินค้าไทย (ยาดม) ขึ้นมาใช้งานและมีภาพเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียไปทั่วโลก อาทิ นักร้องไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ลิซ่า ลลิษา มโนบาล และล่าสุดนักกีฬายกน้ำหนักไทยที่สูดยาดมก่อนขึ้นไปแข่งขันในกีฬาระดับโอลิมปิกก่อนคว้าเหรียญเงินมาได้จนภาพกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์และเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ ดังนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาจึงเป็นโอกาสสำคัญที่สมุนไพรไทยจะกลายเป็น Soft Power สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ไม่ยาก” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่