ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคว้าชัยของ “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา ว่าที่นายก อบจ. เมืองโอ่งหมาด ๆ ในครั้งนี้เกิดจากความพยายามร่วมกัน ในการสกัดกั้นเส้นทางการเมืองท้องถิ่นของพรรคส้ม “ประชาชน” ของกลุ่มตระกูล บ้านใหญ่ ตั้งแต่ นพอมรบดี, ศรีสรรพางค์, ซุ้มท่าราบ, วงศ์พิทักษ์โรจน์, ศักดิ์สมบูรณ์ และบ้านใหญ่ฟาร์มหมูของตระกูล นิติกาญจนา
ก่อนหน้าที่ “กำนันตุ้ย-วิวัฒน์” จะเข้ามาสู่ในวงการการเมืองระดับท้องถิ่น เคยเล่นการเมืองอยู่ระดับชาติ สังกัดพรรคเพื่อไทย โดยอยู่ในกลุ่มวังน้ำยมของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ต่อมาปี 2549 เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ได้ย้ายตาม “สมศักดิ์” มาอยู่ที่พรรคมัชฌิมาธิปไตย และสอบตกในการเลือกตั้ง 2550 และในการเลือกตั้ง 2554 กลุ่มกำนันตุ้ย ได้ย้ายสังกัดเข้าอยู่ “พรรคภูมิใจไทย”
ในปี 2562 สมศักดิ์ ยกขบวนมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค กำนันตุ้ย-วิวัฒน์ ได้ตามมาด้วย โดย “สมศักดิ์” ได้เป็น รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น ก็ได้มีการแต่งตั้งกำนันตุ้ย เป็นที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม ต่อมาได้ลาออก และส่งลูกชาย คือ ธนวัชร นิติกาญจนา ประธานสโมสร ราชบุรี เอฟซี มาเป็นที่ปรึกษาแทน ในปี 2563
การเลือกตั้งปี 2566 กำนันตุ้ย-นิวัฒน์ ไม่ย้ายตาม “สมศักดิ์” กลับพรรคเพื่อไทย และยังอยู่พรรคพลังประชารัฐ ในซีกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค โดยส่ง “บุญยิ่ง นิติกาญจนา” ภรรยาลงสมัคร สส.ราชบุรี ในนามพรรคพลังประชารัฐ ผูกขาดมาแล้ว 3 สมัย
ย้อนกลับมาที่เมืองโอ่งในปี 2551-2554 และปี 2554-2563 สนามการเมืองท้องถิ่น จ.ราชบุรี “วันชัย ธีระสัตยกุล” เป็นนายก อบจ.ราชบุรี มา 2 สมัยซ้อนติดกันหลังในอดีต เคยสลับกับตระกูล นพอมรบดี, รัตนมุง และ จังพานิช ก่อนที่ กำนันตุ้ย-วิวัฒน์ จะมาเป็นนายก อบจ.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2563 และลาออกเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2567 เพื่อมาสมัครลงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง
แต่สนามเลือกตั้ง นายก อบจ.เมืองโอ่ง ครั้งนี้ ไม่ง่าย เมื่อพรรคส้ม “ประชาชน” ได้ส่ง หวุน-ชัยรัตน์ คนราชบุรี อ.บ้านโป่ง แต่มาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและโรงแรมในเขต อ.เมืองราชบุรี แม้จะเข้าสู่วงการเมืองครั้งแรก แต่ครอบครัวเคยเล่นการเมืองท้องถิ่นมาก่อน เพราะมารดาเคยเป็นอดีต สจ.จอมบึง เลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นสนามแรกที่มีการส่งผู้สมัครในนามพรรคประชาชน โดยกระแสของพรรคส้มมาแรงมาก ในช่วงต้น ๆ เนื่องจากเป็นที่ชื่นชอบของรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันคนรุ่นเก่า ก็อยากเปลี่ยน อยากลอง ได้คนหน้าใหม่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้จังหวัด
แต่สุดท้าย หวุน-ชัยรัตน์ ก็ตกม้าตาย เมื่อไปปราศรัยหาเสียงและมีการพูดด้อยค่าถึงระบบการศึกษาและโรงเรียนที่ไม่ก้าวหน้าและไม่พัฒนา รวมทั้งระบบการรักษาพยาบาล โรงพยาบาล ใน จ.ราชบุรี ทำให้มีกระแสความไม่พอใจของคนราชบุรี ไม่น้อย แต่กระนั้น ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. หวุน-ชัยรัตน์ ตัวแทนพรรคประชาชนได้คะแนนไปถึง 175,353 คะแนน ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง สส.ราชบุรี ปี 2566 พรรคก้าวไกลในขณะนั้นเป็นแชมป์บัญชีรายชื่อ 233,608 คะแนน
ส่วนกำนันตุ้ย-วิวัฒน์ ผลการเลือกตั้งชนะคู่แข่งทุกอำเภอ ได้ไป 242,297 คะแนน หรือ 66,944 คะแนน แต่เบื้องหลังของการคว้าชัย ไม่ธรรมดา เพราะนอกจาก “ร.อ.ธรรมนัส” ต้องไปเจรจากับ วันชัย ธีระสัตยกุล อดีตนายก อบจ.ราชบุรี 3 สมัย ที่ทำป้ายแนะนำตัวพร้อมลงสมัครฯ ให้ช่วยถอนตัว ซึ่งการถอนตัวในครั้งนั้น ว่ากันว่า ต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง
ขณะเดียวกัน กำนันตุ้ย-วิวัฒน์ ก็ต้องวิ่งเจรจากับซุ้มบ้านใหญ่ ที่เคยหมางเมินในอดีตให้เข้ามาช่วยสกัดกระแสสีส้ม และในหลายพื้นที่ต้องส่งท่อบำรุงกำลัง ให้เครือข่ายของ สจ. ในแต่ละอำเภอช่วยเป็นกำแพงป้องกัน ไม่ให้ถูกพายุส้มเข้าโจมตี โดยเฉพาะในสนามการเมืองในระดับท้องถิ่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันป้อมปราการ ไม่ให้แตก
เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่ออำนาจ เศรษฐกิจของกลุ่มบ้านใหญ่ ซุ้มต่าง ๆ ซึ่งมีการแบ่ง “อาณาจักร” และพื้นที่ผลประโยชน์ไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ มาเทให้ กำนันตุ้ย ในฐานะตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ คนเดียว
และถือเป็นสมรภูมิรบ สนามที่ 5 ตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา, ชัยนาท, พะเยา และ ราชบุรี ที่ผู้สมัครนายก อบจ.ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคส้ม “ก้าวไกล-ประชาชน” ที่ยังไม่เคยมีชัย ในนามพรรคตัวแทนพรรคประชาชนอย่างเป็นทางการก็จริง แต่สำหรับการสู้ศึกที่สนามการเมืองราชบุรี หากมีคู่แข่งมากกว่านี้และหาก “วันชัย” ไม่ยอมถอนตัว คนที่หนาวๆ ร้อน ๆ คงหนี ไม่พ้นกำนันตุ้ย-วิวัฒน์ แน่นอน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
เอาผิด 2 นักท่องเที่ยว นั่งชิลตกปลาในอุทยานฯ เขาใหญ่
สั่งปิด “พระใหญ่” ห้ามทำกิจกรรมชั่วคราว-สอบข้อเท็จจริงดินสไลด์