หน้าแรก Voice TV ‘จาตุรนต์’ เสนอสังคายนากระจายอำนาจใหม่ ชี้ระบบกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นถอยหลังหนักกว่ายุคไหนในช่วง 10 ปี

‘จาตุรนต์’ เสนอสังคายนากระจายอำนาจใหม่ ชี้ระบบกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นถอยหลังหนักกว่ายุคไหนในช่วง 10 ปี

60
0
‘จาตุรนต์’-เสนอสังคายนากระจายอำนาจใหม่-ชี้ระบบกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นถอยหลังหนักกว่ายุคไหนในช่วง-10-ปี
‘จาตุรนต์’ เสนอสังคายนากระจายอำนาจใหม่ ชี้ระบบกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นถอยหลังหนักกว่ายุคไหนในช่วง 10 ปี

‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ชี้ระบบกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นถอยหลังหนักกว่ายุคไหนในช่วง 10 ปี เสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจ สังคายนาเรื่องกระจายอำนาจกันใหม่ ให้สมกับที่เป็นการกระจายอำนาจจริงๆ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วาระ 2-3 ว่า ช่วง 10 ปีมานี้ การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล้มเหลวด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ การที่ส่วนกลางเอาภารกิจของส่วนกลางไปให้ท้องถิ่นบริหารเสมือนว่าท้องถิ่นได้งบเพิ่มขึ้นทั้งที่ไม่ใช่งานและไม่ใช่งบของท้องถิ่น และการจัดทำงบท้องถิ่นถูกกรอบยุทธศาสตร์ชาติตลอดจนกฏหมายต่างๆ กำหนดกรอบไว้จนไม่สามารถทำโครงการที่จะแก้ไขปัญหาท้องถิ่นตัวเองได้ แนวทางแก้ไขคือปฏิรูปแก้กฎหมายกระจายอำนาจใหม่ทั้งระบบ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับงบอุดหนุนจากสำนักงบประมาณได้โดยตรง กำหนดงานภารกิจและงบประมาณให้ชัดเจน และให้อำนาจท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. ได้ตัดสินใจใช้งบเพื่อสนองงาน แก้ไขปัญหาให้ท้องถิ่นได้โดยตรงอย่างแท้จริง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่าระบบกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ถอยหลังหนักกว่ายุคไหนในช่วง 10 ปี โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมา งบประมาณที่เคยกำหนดในกฎหมายว่าเป็นงบอุดหนุนท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 35 เปอร์เซนต์ กลับถูกยกเลิก และหลายปีนี้ ถ้าดูจากตัวเลขจะพบว่า ความจริงได้ต่ำกว่า 35 เปอร์เซนต์มาตลอด โดยมีสาเหตุสำคัญอยู่ 2 ประการคือ

ประการแรก งบอุดหนุนทั่วไปที่ให้ท้องถิ่น  ซึ่งควรเป็นงบที่ท้องถิ่นสามารถนำไปตัดสินใจและใช้ได้โดยอิสระ แต่กลายเป็นว่างบอุดหนุนกลายเป็นการเอางานต่างๆ ของรัฐบาลกลางโอนไปให้ท้องถิ่น และเอางบไปใส่ให้ท้องถิ่น จึงดูเสมือนว่าท้องถิ่นได้งบประมาณไปมากแล้ว แต่ในความจริงกลับไม่ได้เป็นเงินที่ท้องถิ่นได้ใช้เองเลย

ทั้งนี้ แต่เดิมเงินอุดหนุนนั้น จะดูจากสัดส่วนประชากร หรือรายได้ต่อหัวประชากร แต่กลายเป็นว่าหลายปีที่ผ่านมา เงินที่โอนไป โอนไปพร้อมภารกิจที่กำหนดไว้ตายตัว ไม่ได้เหลือให้ท้องถิ่นมีเงินได้พัฒนาตามความต้องการตัวเอง

ประการที่สอง การจัดทำงบของท้องถิ่น ถูกตีกรอบบังคับว่าต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาของจังหวัดหรือยุทธศาสตร์ชาติ หรือยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย ซึ่งงบนี้กลายเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอ จึงไม่เหลือเงินให้เทศบาลหรือองค์กรท้องถิ่น ที่จะนำไปทำอะไรไม่ได้เลย

นี่คือเหตุสำคัญ 2 ข้อที่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถมีงบประมาณไปพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนั้นยังเลยเถิดไปอีกว่า งบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลับถูกนำกลับเข้ามาในสภา เพื่อให้ สส. ให้ กมธ. มาพิจารณาซักถามว่า ทำไมทำถนน ไม่ทำไฟฟ้า ทำไมทำประปา ไม่ทำการศึกษา ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของสภาเราที่จะไปกำกับการใช้จ่ายของท้องถิ่นขนาดนั้น

ประเด็นถัดมา จึงเกิดคำถามว่าจะแก้อย่างไร วิธีแก้ไขคือ ต้องไปแก้ พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ต้องให้ องค์กรปกครองเป็นหน่วยขอรับงบประมาณโดยตรง แต่ระหว่างยังไม่แก้กฎหมาย ก็ควรให้คณะกรรมการกระจายอำนาจ ควรไปกำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะจัดสรรงบอุดหนุนให้ท้องถิ่นด้วยหลักเกณฑ์อย่างไร หากกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนแล้ว ก็ให้ไปคุยกับสำนักงบประมาณว่า ต่อไปนี้ถ้าเป็นงบอุดหนุนตามหลักเกณฑ์นี้ ก็จะได้งบอุดหนุนนั้นไป ก็เป็นเรื่องของท้องถิ่น ให้สภาท้องถิ่นเป็นคนตรวจสอบควบคุม โดยที่สภาหรือ กมธ.ไม่ควรไปตรวจสอบควบคุมเพราะคุณอยู่คนละจังหวัด บางคนไม่ได้เป็น สส.เลยแต่ไปกำกับเขาโดยไม่มีความรู้

“นี่คือความล้าหลังถอยหลังของการกระจายอำนาจ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ ให้ไปหารือกับคณะกรรมการกระจายอำนาจ ประชุมและสังคายนาเรื่องกระจายอำนาจกันใหม่ ทั้งเรื่องอำนาจในการสั่งการ กำหนดงานและการใช้งบประมาณ หรือแบ่งรายได้จัดสรรรายได้ให้เหมาะสม ให้สมกับที่เป็นการกระจายอำนาจจริงๆ” สส.บัญชีรายชื่อกล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่