ประเดิม เริ่มทำงาน “รัฐบาลแพทองธาร” อย่างเป็นทางการ วันที่ 14 ก.ย.2567 หลังผ่านพิธีถวายสัตย์ฯ ประชุม ครม.นัดพิเศษ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 12-13 ก.ย. เดินหน้าต่อ หลังก่อนหน้านี้ ได้มีการแบ่งงานให้กับ 6 รองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว โดย “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทำหน้าที่กำกับดูแล ทหารและหน่วยงานด้านความมั่นคง และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตำแหน่งนี้ ไม่ใช่ได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรีและพรรคฯ อย่างเดียว แต่เป็นไฟเขียวผ่านตลอดจาก “ทักษิณ ชินวัตร” เจ้าของพรรคตัวจริง อีกด้วย
ส่วน “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม นอกจากกำกับดูแล งานกระทรวงคมนาคมแล้ว ยังข้ามห้วยมากำกับหมวดงานด้าน สังคม วัฒนธรรมและสาธารณสุข อีก 3 กระทรวง คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นรองนายกฯ ที่ได้คุมงานกระทรวงที่มีความสำคัญไม่น้อย แม้จะดูลักลั่นกับงานหลักด้านคมนาคมก็ตาม
ขณะที่ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะกำกับดูแลงานในส่วนของกระทรวงด้านเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงบประมาณ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับภารกิจเพิ่มเติม 3 กระทรวง แต่ผิดฝาผิดตัวงาน เมื่อได้เข้ามากำกับกระทรวงพญานาค เพิ่มเติม
ด้าน “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำกับดูแลงานด้านสังคม กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองนายกฯ อีกคนหนึ่งเข้ามารับภารกิจในงานที่ตรงข้ามสายที่เคยรับผิดชอบ โดยเฉพาะ ทส. และ พม. ที่ไกลเกินประชาชนจะได้รับประโยชน์
รองนายกฯ ค่ายภูมิใจไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” ไม่ได้ถูกล้วงลูก ทำหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย และกระทรวง ในสังกัดตามโควตา 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ
เช่นเดียวกับรองนายกฯ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็น รมว.พลังงาน กำกับดูแล กระทรวงอุตสาหกรรม ,สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, และกระทรวงยุติธรรม แต่ยกเว้น “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” ที่พรรคเพื่อไทยจะดูแลเอง โดยอาจอยู่ในส่วนสำนักนายกรัฐมนตรี
ถือเป็นสึนามิการเมืองลูกใหญ่ที่ “รัฐบาลแพทองธาร” จะต้องเจอ เมื่อฝ่ายค้านนอกสภา ชิงความได้เปรียบยื่นคำร้องให้ตรวจสอบทั้งเรื่องจริยธรรมและผลประโยชน์ โดยเฉพาะหลังจากมี บุคคลปริศนา ยื่นคำร้องกับคณะกรรมการเลือกตั้งคนเดียว 6 คำร้อง ทั้งขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย เหตุทักษิณครอบงำพรรคเสนอชื่อ “พิชิต ชื่นบาน”, ให้มีคำสั่งกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่ง เหตุทักษิณ ครอบงำพรรค,ให้ถอดถอน แพรทองธาร ชินวัตร เหตุปล่อยให้มีการเสนอชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต. ,ให้ยุบพรรคร่วม ปมเข้าประชุมตั้งรัฐบาลใหม่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า, ให้ถอดถอนนายกฯ ปมถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ และให้สอบปมทุจริตเข้าเรียนจุฬาฯ แล้ว
ยังมีขาประจำอย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีก 3 คำร้อง คือ ตรวจสอบแพทองธาร เป็นพนักงานของรัฐฝ่าฝืนมาตรา 128 หรือไม่ (เป็นประธานซอฟต์พาวเวอร์), รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านเขาใหญ่, และการลาออกจากกรรมการ 20 บริษัทฯ
ล่าสุด (6 ก.ย.2567) “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เตรียมฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ต่อ กกต.ในประเด็น การควบคุม ครอบงำ ชี้นำพรรคเพื่อไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างคำร้อง กำลังรวบรวมหลักฐานใกล้สมบูรณ์แล้ว คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเข้ายื่นคำร้องได้
แม้งานนี้ “นายกฯแพทองธาร” จะไม่ได้ถูกฟ้องโดยตรง แต่หมอวรงค์ บอกว่า ได้ยินนายกฯ ของประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อหลายประเด็น และขอเอาประเด็นสำคัญมาพูด
“…สงสารนายกฯ บ้าง อย่าฟ้องอะไรเยอะเลย เป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว และก็ตั้งใจทำงานเต็มที่…”
หมอวรงค์ ระบุว่า เรื่องฟ้องร้อง ถ้าไม่ทำอะไรผิด จะไปกลัวอะไร กฏหมายมีไว้ควบคุมคนให้ปฏิบัติตาม แต่ถ้าคุณปล่อยให้พ่อ ตั้งใจทำผิดกฏหมาย คนที่เขาเรียกร้องความถูกต้อง การเคารพกฏหมาย ก็ต้องฟ้องร้องเป็นเรื่องธรรมดา
ควันไฟกองเท่ายังไม่มอด ก็จุดฟืนกองใหม่ “สนธิญา สวัสดี” อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้ตรวจสอบความซื่อสัตย์สุจริต และ การฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , “ดชอิศม์ ขาวทอง” รมช.สาธารณสุข และ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี กรณีนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ทั้ง 2 คน เป็นรัฐมนตรี
โดยระบุว่า ได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐตรี มาเป็นบรรทัดฐานเพื่อให้อัยการสูงสุดประกอบการพิจารณา
ไเหตุที่ยื่นขอให้ตรวจสอบ น.ส.แพรทองธาร เนื่องจากเป็นผู้เซ็นแต่งตั้งบุคคลทั้ง 2 คน เป็นรัฐมนตรี จึงต้องยื่นเอกสารขอให้อัยการสูงสุด ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับจริยธรรมการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นจริยธรรมร้ายแรง และอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญที่มีการวินิจฉัยล่าสุด เพื่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดส่งเรื่องไปยังศาลธรรมนูญภายใน 30 วัน”
ปิดท้ายด้วยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังจากจากหัวหน้าพรรคฯ ได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็ได้รับเลือกให้กลับมาเป็น หัวหน้าพรรคตามเดิม หลังมติที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เลือกกรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่ จำนวน 23 คน โดยมี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนรองหัวหน้า มี 8 คน ตามลำดับ คือ สันติ พร้อมพัฒน์, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, ตรีนุช เทียนทอง, อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
หลังเสร็จสิ้นการเลือกกรรมการบริหารพรรค ลุงป้อม “พล.อ.ประวิตร” ระบุว่า ต่อไปนี้พลังประชารัฐเป็นหนึ่งเดียว จะไม่มีการกลั่นแกล้งกันอีกแล้ว วิธีการบริหารจะปรับใหม่โดย ให้รองหัวหน้าพรรคเป็นผู้คุมพื้นที่ เลขาธิการพรรคเป็นฝ่ายสนับสนุน
ขณะที่ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” บอก พรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิมเพียงแต่เน้น ให้ชัดเจนถึงอุดมการณ์และแนวทางการทำงานต่อไป ที่จะสู้ในอนาคต คนที่อยู่สู้กับพรรค ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานการเมืองต่ออยู่แล้ว มีอุดมการณ์ร่วมกัน ส่วนคนที่ไม่อยู่ก็ออกไปแล้ว
“…ที่เกิดปัญหารอบนี้ ไม่ได้เกิดจากภายในพรรคเพียงอย่างเดียว แต่มีบุคคลภายนอกพรรคเข้ามาครอบงำ เข้ามาสั่งการ สร้างเงื่อนไข ทำให้เกิดปัญหา ให้เกิดความแตกแยกในพรรค … แบบนี้ไม่ใช่ลูกผู้ชายไม่ใช่กระบวนการ ทางการเมืองแบบตรงไปตรงมา และทำให้เกิดปัญหากับพรรคพลังประชารัฐ แต่ผ่านไปแล้วก็ไม่พูดถึง เราต้องทำงานต่อไป”
อ่านข่าว
“สนธิญา” ร้องสอบจริยธรรมนายกฯ ตั้ง “เฉลิมชัย-เดชอิศม์” เป็น รมต.
แฟนเก่าจุดไฟเผาร่างจนเสียชีวิต อาลัยนักวิ่งโอลิมปิกทีมชาติยูกันดา