หน้าแรก Thai PBS 13 ข้อเสนอนโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” ครป.จี้นิรโทษกรรม

13 ข้อเสนอนโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” ครป.จี้นิรโทษกรรม

52
0
13-ข้อเสนอนโยบาย-“รัฐบาลแพทองธาร”-ครป.จี้นิรโทษกรรม
13 ข้อเสนอนโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” ครป.จี้นิรโทษกรรม

วันนี้ (8 ก.ย.2567) น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงข่าวข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี น.ส.แพทอง ธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา ในการแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทย ที่มีกำหนดที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย.2567

โดย ครป. มีความเห็นว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสานต่อและจัดทำนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นจริง ตามพันธสัญญาที่เคยให้ไว้กับรัฐสภา และแต่ละพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชนในช่วงของการเลือกตั้งที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ละเลยข้อเรียกร้องที่มาจากภาคประชาสังคม โดย ครป. มีข้อเสนอ ดังนี้

1. เร่งรัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างอิสระเสรี โดยที่มติคณะรัฐมนตรีให้มีการออกเสียงประชามติ ด้วยคำถามที่จะขอประชามติเป็นคำถามที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนสับสนซ่อนเงื่อน อาทิว่า “เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบันหรือไม่” ทั้งนี้ ให้มีการออกเสียงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังจะมีขึ้น คือ ก่อนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568

2. ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ให้แยกเป็นอิสระจากกันชัดเจน มีความสมดุลกันอย่างเหมาะสม ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ทั้งจากฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ มีความโปร่งใส และยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชน

3. ให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาองค์กรชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเรื่องการวางแผน จัดทำโครงการ การตั้งคำของบประมาณโดยตรง และพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น

ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ไม่จำเป็น จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โอนภารภิจ การงาน บุคลากร และงบประมาณส่วนภูมิภาคให้ท้องถิ่น เช่น งานตำรวจ งานสาธารณสุข งานการศึกษา งานเกษตรกรรม งานสาธารณูปโภคพื้นฐาน งานจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

4. ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดีการเมือง นักโทษที่ถูกกล่าวหาจากคำสั่งของคสช. ตลอดจนนักโทษทางความคิด ความเชื่อ หรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีเพราะเหตุผลทางการเมือง โดยอาจตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยในสถานการณ์เฉพาะหน้ารัฐบาลให้มีนโยบายปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้มีการประกันตัวสำหรับคดีการเมืองโดยทันที

5. เร่งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นับตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ รวมตลอดถึงกระบวนการพิจารณาคดีความในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นระบบในศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลทหารและระบบการจัดการดูแลผู้ต้องขังในราชทัณฑ์

6. เร่งรัดให้ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาการผูกขาดทางการค้า และสร้างการแข่งขันทางการค้าที่เสรีเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกหาสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ มีคุณภาพ และในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนแก้ไขปัญหาค่าแรงทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับค่าแรงที่เท่าเทียม ได้รับสวัสดิการที่ดี รวมทั้งจัดการแก้ปัญหาสาธารณูปโภค น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง โดยยุติการผลักภาระด้านต้นทุนแก่ประชาชนผู้บริโภค

7. เร่งทบทวนสัญญาและสัมปทานโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการผูกขาด เอื้อประโยชน์ และไม่เป็นธรรม อันทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์แล้ว ขอให้รัฐบาลได้ยุติสัญญาหรือสัมปทานนั้น ๆ ทันที ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาด

8. ให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อลดการถือครองที่ดินอย่างผูกขาดและเกินความจำเป็นไม่ว่าจะโดยรัฐหรือทุน โดยการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดินอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยเร่งปรับปรุงแผนที่ One Map ให้เสร็จโดยชัดเจนโดยมีส่วนร่วมจากประชาชนชุมชนเพื่อลดข้อพิพาทต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งกลไกให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาไร้ที่ทำกินของประชาชน

9. ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการจัดระบบโครงสร้างการจัดการภาวะอุทกภัยและภัยแล้ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกและยั่งยืน

10. เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับภาวะเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโลกร้อนและพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ผลิตที่กระบวนการผลิตส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ร่วมรับผิดชอบ และร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นวิกฤตการณ์ของโลกอยู่ในขณะนี้

11.มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง ได้อย่างอิสระ เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับสังคม เท่าทันกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศในสากลโลก ด้วยการวางสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา

มีระบบการศึกษาที่เปิดกว้างให้อิสระกับนักเรียนนักศึกษา ให้มีความสามารถในการคิดเอง ทำเอง พัฒนาตนเอง จากความรู้ในระบบสารสนเทศที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง โดยการลงทุนอย่างจริงจังในระบบการศึกษา การพัฒนาครูผู้สอน การกระจายทรัพยากรทางการศึกษา และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาในทุกระดับ ทุกมิติ อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับภูมิสังคมวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

12. ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและเคารพในวัฒนธรรม วีถีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลายและยุติการสร้างความเกลียดชังต่อผู้มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ เพศสภาวะ และเพศวิถี

13. ร่วมมือกับอาเซียน ในการพัฒนา สิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ยุติบทบาทที่เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำสงครามเข่นฆ่าประชาชน โดยร่วมมือกับอาเซียนผลักดันให้ปฏิบัติตามฉันทมติอาเซียน 5 ข้อ

ปชช.เจ้าของอำนาจอธิปไตย

น.ส.ลัดดาวัลย์ ยืนยัน ไม่ได้คาดหวังต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลนำไปสู่การปฏิบัติจริงสักเท่าไหร่ และวันนี้ไม่ได้มาเรียกร้องให้รัฐบาลเขียนนโยบายลงในแผ่นกระดาษ เพื่อไปอ่านให้ล่องลอยไปในอากาศในรัฐสภา แต่วันนี้จะมาบอกให้รัฐบาลได้รู้ว่า นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่าต้องทำและไม่เคยได้กระทำในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่ประชาชน ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะทำให้มันเกิดขึ้น ดังที่ได้มีหลายกลุ่ม หลายขบวนประชาชนหลายหมู่เหล่า ได้ออกมายืนยัน ถึงแนวทางและนโยบาย ในการแก้ไขพัฒนาประเทศ เพื่อจะให้ประเทศไทยได้อยู่รอดปลอดภัยเป็นปกติสุขในท่ามกลางวิกฤตการณ์ของโลกที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นของการที่จะต้องทำให้นโยบายต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจริงให้ได้ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง และมันจะเกิดขึ้นได้ ด้วยประชาชนที่พร้อมใจกันทำให้มันเกิดขึ้น หากเราจะให้ประเทศนี้อยู่รอดอย่างยั่งยืนบนโลกใบนี้

“แลนด์บริดจ์” ความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่

นายสมบูรณ์ คำแหง รองประธาน ครป. และ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ เดินหน้าเมกะโปรเจคโดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ที่สานต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แต่สิ่งที่ต้องการให้ทบทวน คือการเดินหน้าแลนด์บริดจ์เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

จากการศึกษารายละเอียดโครงการนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศไทย เป็นโครงการที่จุดประสงค์ต้องการเชื่อมโยงการค้าขาย ถ้าสร้างเสร็จไม่มั่นใจว่าผู้ประกอบการ นักเดินเรือ มาใช้บริการ อาจจะทำให้สูญเสียทรัพยาการที่ดินกว่า 1 แสนไร่ และ อาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในการลงทุน และที่ยิ่งไปกว่านั้นโครงการนี้รัฐบาลใช้กฎหมายพิเศษ

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ทำหน้าที่ยกประโยชน์หรือยกฐานทรัพยากรของประเทศชาติให้กับกลุ่มทุนที่มาลงทุน 99 ปี

รัฐบาลใช้เวลาเกินควรจัดตั้งรัฐบาล 

นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธาน ครป. และ กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ระบุว่าประเทศไทยกำลังเจอปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย หนี้สินครัวเรือนสูง รวมถึง ทักษะแรงงานต่ำ SMEs ขาดสภาพคล่อง และ กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว

แต่ไม่ได้พูดถึงสาเหตุของเกิดปัญหาเหล่านี้ ซึ่งสาเหตุมากจากการใช้เวลามากเกินไปในการจัดตั้งรัฐบาล การตกลงกันของพรรคการเมือง การช่วงชิงอำนาจกันเกือบ 2 ปี ที่ปัญหาวนเวียน

และสาเหตุการจัดการอำนาจที่ไม่ลงตัว ทำให้เกิดปัญหาต่างประเทศไม่เชื่อมั่นในความเป็นประชาธิปไตย

รัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย และเป็นชุดที่สอง แต่นโยบายไม่ผูกพันกับนโยบายพรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งตอนหาเสียง นโยบายค่าจัางขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ที่ไม่ถูกบรรจุลงในนโยบายรัฐบาลแพทองธาร

ทั้งนี้รัฐบาลมีเวลาเพียง 3 ปีในการบริหารประเทศ อยากเห็นรัฐบาลเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาปากท้อง สวัสดิการของประชาชน

จี้รัฐบาลให้ความสำคัญด้านมนุษยธรรม

นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. และ คณะทำงานนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ระบุว่าอยากให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญด้านมนุษยธรรมต่อแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งขับเคลื่อนในงานที่คนไทยไม่อยากทำ อยากให้ผ่อนผันแรงงานเหล่านั้นอยู่ในราชอาณาจักร การอนุญาตทำงาน โดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองบุคคล จนกว่าสถานการณ์ในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ

รวมถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาให้ประเทศไทยเข้าให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้

นอกจากนี้ให้รัฐบาลส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ โดยการเร่งทำกฎหมายระบุเพศของตัวเองได้ รองรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมสมบูรณ์แบบ

เลขา ครป. วิพากษ์ ครม.ชุดใหม่ยังมีมลทิน

นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และ ผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย กล่าวถึงข้อห่วงใยในรัฐบาล ว่า ครม.แพทองธาร 1 ต้องการปรับปรุงเรื่องจริยธรรม จึงได้นำปรับรัฐมนตรีเก่าที่มีข้อครหาออกไปหลายคน แต่ทั้งนี้ยังคงมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ยังมีมลทินในอดีตให้เข้ามาคุมกระทรวงคมนาคมเหมือนเดิมนั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็น ครม.หน้าตาใหม่ไร้มลทิน

โดยอ้างว่าเพราะเคยเป็นเจ้ากระทรวงเดิมที่เคยเกิดคดีทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ฉาว และคดีซื้อแอร์บัสการบินไทย

ส่วนโยบายของรัฐบาลหลายข้อตรงกับวิสัยทัศน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกรัฐมนตรีนั้น ซึ่งถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่มองไกล แต่หลายเรื่องเป็นโอกาสทางธุรกิจไม่ใช่โอกาสของประเทศ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์เต็มที่

ซึ่งมีความเห็นต่อวิสัยทัศน์เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนนั้น ต้องลดรายจ่ายประชาชนเพื่อลดหนี้สินครัวเรือน โดยลดภาษีบ้านและรถยนต์ ลดอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย ลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน โดยการปรับโครงสร้าง และแก้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม

รัฐบาลต้องทำเศรษฐกิจให้เติบโตแต่ไม่ปรับโครงสร้างไม่ได้ เพราะโครงสร้างกระจายรายได้ไทยเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก นโยบายเงินหมุนเวียนจากล่างขึ้นบนหรือดิจิทัลอลเล็ต จะทำให้กระเป๋าตังเจ้าสัวก้าวกระโดด ควรยกเลิกนโยบายประชานิยมแบบเติมเม็ดเงินหมุนเวียนที่กระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มทุนใหญ่ แต่คนไทยยังเต็มไปด้วยหนี้สิน

สำหรับกรณีนโยบายการนำพลังงานใต้ดินขึ้นมาใช้ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์ในฐานะหุ้นส่วนเหมือนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างตัวอย่างนอรเวย์ Fund และทำประโยชน์ให้ประเทศมหาศาลจากรายได้จากพลังงานของประเทศ ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรมหาศาล รวมถึงในพื้นที่พิพาทไทยกัมพูชา ถ้านำมาหาผลประโยชน์ให้กับประเทศและจัดตั้งเป็นกองทุนแบบนอรเวย์ จะดีกว่าระบบสัมปทานแบบเก่า ทรัพยากรไทยมีจำนวนมากมายที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายทรัพยากร และการแก้ปัญหาการผูกขาดทรัพยากร

ทั้งนี้ขอคัดค้านนโยบายกาสิโนถูกกฎหมายในไทย หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ครบวงจร ซึ่งถ้ามีควรไว้สำหรับต่างชาติ นักท่องเที่ยวเท่านั้นและมีการจัดเก็บภาษี เพราะถ้าอนุญาตให้คนไทยเล่นได้ทั้งหมดก็จะนำเข้าสู่ปัญหาหนี้สิน

อ่านข่าว :

เปิด 10 นโยบายเร่งด่วน “รัฐบาลแพทองธาร” ดิจิทัลวอลเล็ต-ลดราคาพลังงาน

นายกฯ พร้อมทำงานเพื่อประเทศ เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

วิป 3 ฝ่ายจ่อถกเวลาอภิปรายนโยบาย “วิสุทธิ์” ขอลดเวลาฝ่ายค้าน

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่