วันนี้ (9 ก.ย.2567) ที่ประชุมวุฒิสภาที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่สภาฯ พิจารณาแล้วเสร็จ
น.ส.วิธาวีร์ ประทุมสวัสดิ์ สว.อภิปราย ตั้งคำถามถึงแผนการจัดเก็บรายได้ หากไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจะเดินหน้าต่ออย่างไร แผนการบริหารหนี้ โอกาสในการหารายได้เพิ่มและการจัดการความเสี่ยง
นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว.อภิปราย ระบุว่า งบประมาณมีปัญหาด้านรายจ่ายจะต้องปรับโครงสร้างบุคลากรภาครัฐในอนาคต โดยอ้างอิงสถิติกำลังพลภาครัฐในช่วง 2557-2567 หรือ 10 ปี ที่ผ่านมา ควรจะมีแผนที่จริงจังกับบูรณาการระบบราชการที่เป็นอยู่ขณะนี้ โดยข้อเสนอต่องบประมาณปี 2568 ให้มีการหยุดรับตำแหน่งบางตำแหน่ง ที่วางแผนจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอนาคต
รวมถึงรัฐไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบงานทั้งหมดแต่เปิดให้ หน่วยงานจ้างภายนอก (Outsource) เข้ามารับงาน เพื่อรัฐจะต้องไม่รับผิดชอบค่าบำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาลซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบระยะยาวและจะเป็นภาระทางการคลัง ซึ่งยังไม่เห็นการบูรณาการอย่างจริงจัง
นายนรเศรษฐ์ ยังกล่าวถึง ทางเลือกการลงทุนภาครัฐ 1 ใน 5 ของรายจ่ายลงทุนลงไปกับแค่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยชี้เห็นว่า การใช้งบประมาณมหาศาลในการทำนโยบายเช่นนี้ การแจกปลาให้ประชาชนทำให้กินอิ่มเพียงมื้อ หรือ สองมื้อแล้วก็หมดไป
หากจะดีกว่า ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะทำงบประมาณหลายแสนล้านบาทไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้ประเทศเป็นการสร้างธุรกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ และให้ประชาชนสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกว่าการแจกเงินเพียงอย่างเดียว
และให้ข้อสรุปในข้อสังเกตงบประมาณปี 2568 ว่า เหตุใดค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ไม่มีแผนแก้ไขที่จริงจัง การลงทุนโครงการระยะสั้น มากกว่าโครงสร้างพื้นฐาน
การทำงบประมาณเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข เข้าใจความจริงว่าระยะทำงานของรัฐบาลแต่ละชุดเต็มที่ 4 ปีเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญของผู้บริหาร ที่จะตัดสินใจในโครงการเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคตระยะยาวมากกว่าใช้เงินกับนโยบายที่เห็นผลระยะสั้นเพื่อให้ได้คะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น
นางอังคณา นีละไพจิตร สว.อภิปรายว่า มีนโยบายบางอย่างที่ยังจัดสรรงบประมาณไม่เป็นธรรมและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาล คือ การจัดทำนโยบายที่สอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ล่าสุดแผนฉบับที่ 5 ใช้ปี 2566-2570 ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิศักดิ์ศรีของประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งงบประมาณในปี 2568 มีบางกระทรวงที่จัดงบประมาณเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมแต่หน่วยงานอื่นไม่ได้จัดทำแผนสอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชน
ยกตัวอย่างกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 90,000 ล้านบาท แต่ถูกใช้ส่วนใหญ่กับงานด้านความมั่นคง และอ้างอิงว่าจากรายงาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง สังเกตจากมีคำร้องต่อกรรมการสิทธิ์และผู้ตรวจการแผ่นดิน
รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ ความจำเป็นที่ต้องการแตกต่างของเพศวัยและสภาพของบุคคล และหวังว่าในการจัดทำงบประมาณปีต่อไปจะให้หน่วยงานทุกหน่วยจัดงบประมาณที่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและแผนสิทธิมนุษยชน
นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว.อภิปรายถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขที่จะนำไปใช้จัดหาเครื่องหมายเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค เพื่อนำไปรักษาประชาชน จึงหวังว่าให้รัฐบาลพิจารณาในปี 2569 โดยจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยอย่างที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯเคยพูดเอาไว้ว่า ให้มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อม ๆ กัน
อ่านข่าว : สภาผ่านฉลุย ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 68 วงเงิน 3.7 ล้านล้านบาท