พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แสดงความยินดี 39 ปี สภาทนายความฯ ชูบทบาทสร้างความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรม-ช่วยขจัดความรู้สึกไม่เป็นธรรมในสังคม
วันนี้ (10 กันยายน 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบุญและเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในวันสถาปนาสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ครบรอบ 39 ปี โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยมี นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์, นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ อดีตนายกสภาทนายความฯ, นายวันชัย สอนสิริ พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา อดีตสมาชิกวุฒิสภา, และบุคคลต่างๆ เข้าร่วมในพิธีที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวกับผู้เข้าร่วมงานตอนหนึ่ง ว่า กระทรวงยุติธรรม มีบทบาทสนับสนุนสภาทนายความ ในการปกป้องสิทธิและอํานวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมภายใต้ “หลักนิติธรรม” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นร่างเดียวกับสภาทนายความ อีกทั้ง หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมมีการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกันในรูปแบบคณะกรรมการ อาทิ คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ, คณะกรรมการ ป.ป.ส., คณะกรรมการราชทัณฑ์, คณะกรรมการคุมประพฤติ ฯลฯ ซึ่งจะมีผู้แทนจากสภาทนายความ ร่วมพิจารณาในประเด็นสำคัญต่างๆ รวมถึง ตนในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ “สภานายกพิเศษ” ของสภาทนายความ ได้ร่วมประชุมสภาทนายความ จึงมีความผูกพันร่วมกันของทั้ง 2 องค์กร
กระทรวงยุติธรรม ยังได้สนับสนุนในเรื่องการของบประมาณแก่สภาทนายความเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ จากปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 104 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 134 ล้านบาท จนมาปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 158 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินมองได้ว่าเป็นเรื่องน้อยนิด เทียบไม่ได้กับการให้ความเป็นธรรม การทำหน้าที่ของสภาทนายความในการเป็น “เสาหลัก” ในกระบวนการยุติธรรม
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงอุปสรรคหนึ่งความท้าทายในกระบวนการยุติธรรม ยกตัวอย่าง คดีความอาญาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ และได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก นั่นคือ “ความล่าช้า” เพราะการเลื่อนนัดของบุคคลใดๆ จาก 5 ฝ่ายในกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย
1.ผู้พิพากษา
2.อัยการ
3.ทนายความฝ่ายจำเลย
4.พนักงานสอบสวน
5.พัสดี
ที่จะนำตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำเดินทางไปยังศาลต้องกลายมาเป็นบุคคลที่ต้องรอคอย ซึ่งในความท้าทายนี้ก็ต้องยอมรับไม่ว่าจะยากดีมีจน สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คนเรียกร้องก็คือ “ความยุติธรรม”
“สภาทนายความฯ” จะเป็นเสาหลัก จากความเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
“สภาทนายความฯ” จะเป็นเสาหลัก จากความเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงคิดว่า องค์กรแห่งนี้จะสามารถเข้าร่วมกันแก้ปัญหาความเป็นธรรมที่เหลื่อมล้ำที่มีอีกหลายเรื่องทับซ้อนกันอยู่ แม้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วอาจยังรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรม อาทิ ความแออัดในเรือนจำซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน หรือ “เสียเสรีภาพ แต่ไม่เสียอุดมการณ์” ที่กระทรวงยุติธรรมพยายามแก้ไข ในสัดส่วน 2.5 ตารางเมตรต่อคนหรือประมาณ 2 แสนคน จากจำนวนผู้ต้องขังจริงที่เกินสัดส่วนไปประมาณ 1 แสนคน จึงมีออกกฎกระทรวงให้โรงพยาบาลทำหน้าที่เป็นเรือนจำ ซึ่งจะใช้สำหรับคนเจ็บป่วย และอีกหนทาง คือ ที่คุมขังอื่น มีศักดิ์เท่ากับเรือนจำ เป็นสถานที่คุมขัง แต่ไม่ต้องการให้ถูกละเมิดสิทธิจากความแออัด และต้องการให้ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย
“เสียเสรีภาพ แต่ไม่เสียอุดมการณ์”
ด้วยจำนวน 77% จากผู้ต้องขังทั้งหมดกว่า 3 แสนคน ยังมีการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับซึ่งจะมีผลต่อโอกาสกระทำผิดทางกฎหมายลดจำนวนลงอีกด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องสร้างการสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ถือเป็นโอกาสในสิ่งท้าทายที่กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความร่วมกันแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ