วันนี้ (13 ก.ย.2567) การประชุมรัฐสภาในวาระการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. กทม.พรรคประชาชน เน้นไปที่นโยบายการกระจายอำนาจปลดล็อกกรุงเทพมหานคร โดยชี้ว่ารัฐบาลและโครงสร้างรัฐรวมศูนย์เป็นตัวถ่วงความเจริญและถ่วงรั้งคนกรุงเทพไม่ให้พัฒนา
โดยยก 5 ปัญหาเรื้อรัง ของคนกรุงเทพมหานคร 1.การจราจร ที่ตำรวจจราจรไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ กทม. จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหารถติดได้ รวมถึงสาเหตุการคมนาคมที่ไม่มีรอยต่อการเชื่อม ทั้งรถไฟรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชน ไม่มีตั๋วร่วม ทั้งที่เป็นหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย แต่ผลงานเดียวคือนำภาษีไปอุดหนุนค่าโดยสารแบบอัฐยายซื้อขนมยาย แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง
2.น้ำท่วม น้ำรอระบาย น้ำทะเลหนุนสูง แม้จะให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการลอกท่อแต่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ทำได้เพียงร้อยละ 70 ด้วยไม่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีขณะที่ภาคเอกชนทำได้ร้อยละ 90
3.ก่อสร้าง ไม่จบ ขุดแล้วขุดอีก ตกท่อ ถนนทรุด
4.สายสื่อสาร มาจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมพาดสายทิ้งบนเสา ลักลอบพาดสายบนเสาของการไฟฟ้า เปรียบเป็นเม็ดเงินกว่า 50 ล้านบาทต่อปีที่ถูกปล้นไป วันนี้ที่นายกรัฐมนตรีต้องเคลียร์คือการติดตามค่าเช่าพาดสาย เพื่อแก้ไขปัญหาสายสื่อสารในอนาคต
5.ที่อยู่อาศัย ราคาแพง การซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติที่ซื้อผ่านนอมินี ที่โยงไปถึงกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย เว็บพนัน บ่อน ค้ายา ฟอกเงิน ยกนโยบาย รัฐบาลชุดก่อน “ทรัพย์อิงสิทธิ์ 99 ปี” หรือให้ต่างชาติถืออาคารชุดคอนโดร้อยละ 75 โดยตอนนี้รัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ก่อนที่จะเสนอทางแก้ที่อยู่อาศัยแพงคือให้ปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การประเมินราคาราคาที่ดิน การเปิดเผยข้อมูลราคาซื้อที่ดินย้อนหลัง การจัดรูปที่ดิน เพื่อเกิดการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดกิจการเชิงพาณิชย์
“นี่คือวิธีการแก้ไขปัญหาและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฝั่งซัพพลายไซด์ที่รัฐบาลไม่เคยคิดจะแก้ สนใจอย่างเดียวคือกระตุ้นให้คนไปซื้อบ้านอยากจะระบายบ้านอย่างเดียวเป็นหลัก จนกระทั่งต้องเป็นหนี้และผ่อนไม่ไหว ที่เสนอไปเป็นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างระยะยาว เพียงแต่ว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องให้ความสำคัญจริงจังกับการแก้ไขปัญหาระยะยาวไม่ใช่การแก้ไขปัญหาฉาบฉวย” นายศุภณัฐกล่าว
นายศุภณัฐกล่าวต่อว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้เนื่องจากยังมีโซ่ตรวนล็อกคอคนกรุงเทพจากรัฐบาล ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องกระจายอำนาจและถ่ายโอนภารกิจให้กับกรุงเทพมหานครอย่างเต็มตัว และนำโมเดลไปใช้ในการกระจายอำนาจผลักดันจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
ทวงสัญญา ค่าแรง 600 บาท
นายเซีย จำปาทอง สส.พรรคประชาชน อภิปรายในประเด็นแรงงาน โดยแสดงความผิดหวังว่าใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลไม่มีเรื่องแรงงาน ทั้งที่ตอนหาเสียงแรงงานเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย พร้อมหยิบยกแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยวันแรงงาน 1 พ.ค.2566 มาอ้างถึง ที่ระบุว่า “รดน้ำที่ราก” ด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ปลดล็อกศักยภาพคนไทยผ่าน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ,สิทธิลาคลอด ฯลฯ นี่คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรีเคยให้คำมั่นสัญญากับกรมแรงงาน
“ยังจำสัญญาได้หรือไม่ หรือเป็นเทคนิคที่หลอกแรงงานให้ลงคะแนนให้เพียงเท่านั้น นอกจากเงินดิจิทัล 10,000 บาทแล้วยังไม่เห็นรัฐบาลทำได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องแรงงาน ไม่รู้ว่าถ้าลืม แกล้งลืม หรือเป็นเพราะเกรงใจกลุ่มนายทุนขุนศึกเจ้าสัว ผู้ยิ่งใหญ่กันแน่” นายเซียกล่าว
นายเซียยังถามถึงการตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีรัฐมนตรีแรงงานมาจากพรรคการเมืองเดิมแต่ไม่ได้มีนโยบายด้านแรงงาน พร้อมชี้หนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการอะไรให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมหยิบยกสถานการณ์ของกลุ่มแรงงานมาชี้เห็นว่าเลวร้ายลง เพราะมีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้น 517 โรงงาน และมีแรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 14,471 คน ในห้วง 1 ปีที่เข้ามาเป็นรัฐบาล
นอกจากนี้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานก็ลดลง ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นนโยบายหรือกิจกรรมส่งเสริมสหภาพแรงงาน ทั้งนี้นายกได้แถลงนโยบายว่าจะเร่งเจรจา ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA และเตรียมเข้าเป็นสมาชิกองค์การ OECD ประเทศไทยจะลงนามเมื่อไหร่
ดังนั้น จึงอยากถามนายกรัฐมนตรีว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำตกลงจะเอาอย่างไร เพราะนอกจากไม่มีในคำแถลงนโยบายแล้ว ซึ่งในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการชี้แจงว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทโดยเร็วที่สุด แต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจึงไม่แน่ใจว่าโดยเร็วนี่เมื่อไหร่ ชาตินี้หรือชาติหน้า หรือชาติไหน ต่อมามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแต่ปรับเฉพาะบางจังหวัด เฉพาะโรงแรม 4 ดาวและมีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป และ ล่าสุดรัฐมนตรีได้ออกมาบอกว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแค่บางกลุ่มอาชีพ บางไซต์ของสถานประกอบการ แต่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะปรับเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ บริหารแบบนี้บอกได้เลยว่า 3 ปีไม่มีเจ๊ามีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
นายเซีย กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาสูญเปล่าไปกับคำพูดขายฝัน ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข มิหนำซ้ำยังปล่อยให้ปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีก แล้วเกิดขึ้นต่อเนื่องและอีก 3 ปีที่เหลือ เราจะหวังอะไรจากรัฐบาล ส่วนเรื่องกฎหมายลาคลอดตอนนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญจริงๆ ก็ขอให้พรรคฝั่งรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายด้วย
ดังนั้นหวังว่านายกรัฐมนตรีจะให้คำตอบที่ชัดเจน พี่น้อง แรงงานจะได้รู้ว่าจริงใจ กับแรงงานอย่างที่เคยสัญญาไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูก พี่น้องแรงงานสาปแช่ง และเป็นตราบาปติดตัวไปตลอด หลอกลวงให้พี่น้องแรงงานลงคะแนนให้ แต่กลับไม่สนใจเมื่อมีอำนาจ หากไม่ทำตามที่สัญญาไว้พี่น้องแรงงานจะมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้อย่างไร
นโยบายพัฒนาแรงงานไร้แผนชัดเจน
สอดคล้องกันนายสหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน อภิปรายในประเด็นเดียวกัน ถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรม EV อุตสาหกรรม Semi-conductor และในส่วนของอุตสาหกรรม Soft power ที่พูด กว้างๆ เรื่องวัฒนธรรมโดยยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักว่าจะเน้นด้านไหน
ดังนั้น สะท้อนไปยังนโยบายของรัฐบาลนั้น คือแผนการพัฒนาแรงงานของรัฐบาลนั้นขาดแผนที่ชัดเจน ขาด Master plan ทำให้การพัฒนานั้นอาจจะเป็นไปไม่ได้ ตามเป้าหมายใหญ่โตที่พูด
รัฐบาลมีฐานข้อมูลกลางหรือไม่ว่าแรงงานอิสระส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมไหน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ขาดข้อมูลกลาง ก็จะพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างสะเปะสะปะ แรงงานอิสระมีความหลากหลายสูงมาก มีทั้งแรงงานตามฤดูกาล รับจ้างทั่วไป แรงงานในการผลิต แรงงานก่อสร้าง แรงงานในภาคบริการ แต่ว่าแต่ละคนอยู่ในอุตสาหกรรมไหนกันบ้างเรากลับไม่มีข้อมูลเลย
“ผมไม่อยากจะปรามาสโครงการซอฟต์พาวเวอร์ ผมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้นั้นดีและควรที่จะต้องมีคนทำให้ดี แต่ที่ผมอยากจะเน้นย้ำคือท่านต้องอย่าลืม ว่าประเทศที่เขาเริ่มส่งออกซอฟต์พาวเวอร์หรือมีซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งนั้น ซอฟต์พาวเวอร์เองก็เป็นเศรษฐกิจรองที่หนุนเศรษฐกิจหลักอีกทีหนึ่ง” นายสหัสวัตกล่าว
นายสหัสวัต ยังกล่าวว่า รัฐบาลเองไม่เข้าใจปัญหาของแรงงานโดยเฉพาะในมิติการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่ได้ทำนโยบายโดยตั้งอยู่บนข้อมูล เมื่อไม่มีข้อมูล ก็ไม่สามารถออกนโยบายที่เหมาะสมและตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง มองไม่เห็นความเป็นไปได้ เป็นนโยบายที่คิดเองเออเอง ไม่ใช่คิดใหญ่ทำเป็น แต่คิดใหญ่ ทำไม่ได้ เพราะไม่มี Master plan ค่อยๆ คิดๆ ค่อยๆทำ แล้วสุดท้ายผลก็จะออกมาสะเปะสะปะ
ตนอยากเห็นแผนพัฒนาฝีมือแรงงานที่ชัดเจนที่จะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้จริง จากอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังจะตาย มาสู่อุตสาหกรรมใหม่ มีความมั่นคงทางรายได้ มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ไม่เคยสอดคล้องกัน ทั้งนโยบาย งบประมาณ และการปฏิบัติ แบบที่เป็นมา หากการพัฒนาฝีมือแรงงานล้มเหลวและไม่เกิดขึ้นจริง อาจทำให้มีคนตกงานเพิ่มนับล้านคน และเราต้องนำเข้าแรงงานมีฝีมือจากที่อื่นมาแทน นั่นเป็นเรื่องที่ตนไม่อยากให้เกิดที่สุด
อ่านข่าว :
รัฐบาลดัน “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” หวังดึงนักลงทุน – สร้างงาน