หน้าแรก Voice TV ปลัด สธ.เผย อุทกภัย-ดินโคลนถล่ม ‘เชียงใหม่-เชียงราย’ เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 136 ราย

ปลัด สธ.เผย อุทกภัย-ดินโคลนถล่ม ‘เชียงใหม่-เชียงราย’ เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 136 ราย

85
0
ปลัด-สธ.เผย-อุทกภัย-ดินโคลนถล่ม-‘เชียงใหม่-เชียงราย’-เสียชีวิต-16-ราย-บาดเจ็บ-136-ราย
ปลัด สธ.เผย อุทกภัย-ดินโคลนถล่ม ‘เชียงใหม่-เชียงราย’ เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 136 ราย

อุทกภัย-ดินโคลนถล่ม ‘เชียงใหม่-เชียงราย’ เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 136 ราย รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 6 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง บุคลากรทางการแพทย์รับผลกระทบ 417 ราย จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขพร้อมทีมกู้ชีพ/กู้ภัย 167 ทีม ออกเยี่ยมบ้าน ตรวจรักษา ให้สุขศึกษา

วันนี้ (14 กันยายน 2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-13 กันยายน 2567 ว่า พบมีสถานการณ์ใน 2 จังหวัด ได้แก่ 

1.เชียงใหม่ คือ อ.แม่อาย และ อ.ฝาง ผู้ได้รับผลกระทบสะสม 2,978 ครัวเรือน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 109 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 3 ราย เสียชีวิตสะสม 6 ราย รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านท่ามะแกง ซึ่งยังต้องปิดให้บริการ มีการเปิดศูนย์พักพิง 7 แห่ง (แม่อาย 6 แห่ง ฝาง 1 แห่ง) 

2.เชียงราย ได้แก่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.เมือง ผู้ได้รับผลกระทบ 24,925 ครัวเรือน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 308 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 133 ราย เสียชีวิตสะสม 10 ราย รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.แม่สาย รพ.สต.โป่งผา รพ.สต.สามัคคีใหม่ รพ.สต.ป่ายาง และ รพ.สต.รอบเวียง แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ มีการเปิดศูนย์พักพิง 22 แห่ง (เมือง 12 แห่ง  แม่สาย 7 แห่ง แม่จัน เวียงชัย และแม่ฟ้าหลวง อำเภอละ 1 แห่ง)

‘ภาพรวมทั้ง 2 จังหวัดมีผู้เสียชีวิตสะสม 16 ราย สาเหตุมาจากดินถล่ม พลัดตกน้ำ/จมน้ำ และถูกกระแสน้ำพัด ผู้บาดเจ็บสะสม 136 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 6 แห่ง บุคลากรทางการแพทย์ได้รับผลกระทบรวม 417 ราย ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) แล้วทั้ง 2 จังหวัด ส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ (ชุดตรวจโรคฉี่หนู รองเท้าบูท ยากันยุง) รวม 9,000 ชุด’ นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลสุขภาพประชาชน มีการจัดทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (MERT) ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับอำเภอ (Mini MERT) หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทีมสุขภาพจิต (MCATT) ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม (SEhRT) หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (CDCU) ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) และทีมกู้ชีพกู้ภัย รวม 167 ทีม แบ่งเป็น เชียงใหม่ 52 ทีม และเชียงราย 115 ทีม ให้การเยี่ยมบ้าน 192 ราย ตรวจรักษา 1,662 ราย ให้สุขศึกษา 2,443 ราย สุขภาพจิต 784 ราย ส่งต่อผู้ป่วย 30 ราย มอบชุดดูแลสิ่งแวดล้อม 168 ราย โดยโรคและภัยสุขภาพที่พบส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า รองลงมาเป็นอาการทางระบบกล้ามเนื้อ/กระดูก ระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อจากไวรัส เป็นต้น ยังไม่พบการระบาดของโรคที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย โดยในส่วนจังหวัดเชียงราย ขณะนี้สถานการณ์น้ำเริ่มลดลง ได้ให้เร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังปัญหาโรคระบาด

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 13-18 กันยายน 2567 จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น และตกหนักมากบางพื้นที่ อ.จอมทอง และ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขัง ได้กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ พร้อมสื่อสารเตือนภัยประชาชนทั้งโรคที่มากับน้ำท่วมและภัยสุขภาพ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู รวมถึงบริหารจัดการกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ให้ขาดยา และดูแลกลุ่มเปราะบาง ส่วนที่จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำยังสูงขึ้น ล่าสุดได้รับรายงานสถานบริการได้รับผลกระทบ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลหนองคาย และโรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ ตัองปรับการให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ไว้รองรับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่