‘ทวี สอดส่อง’ รมว.ยุติธรรม เปิดงานสัมมนานานาชาติ สัปดาห์การระงับข้อพิพาททางเลือก ประจำปี พ.ศ. 2567 (Thailand ADR Week 2024) ชี้ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก ต้องทันท่วงที และเป็นธรรม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความยุติธรรม
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนานานาชาติ สัปดาห์การระงับข้อพิพาททางเลือก ประจำปี พ.ศ. 2567 (Thailand ADR Week 2024) วันนี้ (18 ก.ย.2567) โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ นางสาวมัชฌิมธร คัมภิรานนท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ ร่วมให้การต้อนรับ รวมทั้งได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก อาทิ อียิปต์ นิวยอร์ก ลอนดอน เจนีวา สิงคโปร์ ฮ่องกง และศรีลังกา ฯลฯ โดยมีผู้แทนองค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า งานสัมมนาสัปดาห์การระงับข้อพิพาททางเลือก ได้จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2561 ว่าด้วยเรื่อง โอกาสใหม่ ๆ สำหรับ การบูรณาการระบบการระงับข้อพิพาททางเลือก ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับ คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในเรื่องการบูรณาการจะรวมหัวข้อ กลไกกระบวนการระงับข้อพิพาท ระหว่างรัฐกับนักลงทุนต่างชาติ, ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการระงับข้อพิพาททางเลือก และการบูรณาการกฎหมาย ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งยังคงมีความสำคัญเช่นเดิมอย่างที่เคยเป็นเมื่อปี พ.ศ. 2561 ภายหลังนั้น โลกได้เปลี่ยนแนวความคิดของเราที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาททางเลือก คือ โลกภายหลังโรคระบาดยังไม่ปลอดภัยจากภยันตรายโดยสิ้นเชิงจากโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นว่าสภาวการณ์เช่นนั้น ย่อมก่อให้เกิดปัญหาการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาต่าง ๆ และสถานการณ์ฉุกเฉินอาจก่อให้เกิดอุปสงค์จำนวนมากสำหรับสินค้าบางชนิดโดยฉับพลัน สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ต้องการการตอบสนองอย่างเข้มแข็งจากกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก เพื่อการระงับข้อพิพาทได้อย่างทันท่วงที และอย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก จึงต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ใหม่ๆ ดังกล่าว
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกได้ตอบสนองต่อเหตุการณ์เหล่านี้ในสองแง่มุม ในทางแรกคือ การพัฒนาเทคโนโลยีและนำมาปรับใช้กับกลไกการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วงโรคระบาดโควิด-19 ตลอดจนโลกยุคภายหลังได้ย้ำเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงความต้องการทางเทคนิคที่ซับซ้อนเพื่อจัดให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีได้เสมือนจริง พร้อมด้วยกระบวนการที่ชอบธรรมและการป้องกันข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ สิ่งเหล่านี้ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกระบวนการอนุญาโตตุลาการและการประนอมข้อพิพาท ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความยุติธรรมแล้ว ความแพร่หลายของเครื่องมือและกลไกต่างๆ ดังกล่าว ยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการได้อีกทางหนึ่ง
อีกหนึ่งปัจจัยประกอบที่สำคัญยิ่ง คือการเปลี่ยนแปลงของสภาวะสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าว การระงับข้อพิพาททางเลือกสามารถพัฒนาในเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ โดยในเรื่องนี้ การปรับตัวของกระบวนพิจารณาคดีสามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาคดีแต่ละคดี อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้การจัดกระบวนการระงับข้อพิพาทสามารถเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งเกิดผลต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยคดีอนุญาโตตุลาการนอกศาลที่ไทยมีจำนวนกว่า 3,000 คดี ในปีที่ผ่านมา
“การอนุญาโตตุลาการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมีประสิทธิภาพของกระบวนพิจารณาคดีอนุญาโตตุลาการนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกัน ผลลัพธ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากภัยโรคระบาดเป็นรากฐานสำคัญของงานสัมมนาในปีนี้ ในหัวข้อ แนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ในการระงับข้อพิพาททางเลือก : การกำหนดอนาคตของกระบวนการระงับข้อพิพาทผ่านการพัฒนาในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค
ประการแรก 1) คือ การชี้ให้เห็นถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายและธรรมเนียมต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคซึ่งควบคุมและส่งผลกระทบต่อกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกในโลกยุคหลังโรคระบาด
ประการที่ 2) เพื่อเสนอแนะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกให้ตอบสนองต่อแนวโน้มต่างๆ ที่พึงมี
‘งานสัมมนาครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้มีการรวมตัวกันระหว่างท่านผู้พิพากษา ผู้กำหนดนโยบาย สถาบันอนุญาโตตุลาการ ผู้ประกอบวิชาชีพการระงับข้อพิพาททางเลือก นักวิชาการ และผู้ใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทในเวทีเดียวกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญซึ่งจะกำหนดแนวทางสำหรับการระงับข้อพิพาททางเลือกต่อไป ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเช่นเดียวกัน’ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว