‘ทวี สอดส่อง’ รมว.ยุติธรรม เคลียร์ชัดๆ ไม่ได้ขัดอำนาจองค์กรอิสระ แค่อยากให้มีขอบเขตและนิยามการตรวจสอบที่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็น ‘ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’ และ ‘มาตรฐานจริยธรรม’
วันนี้ (21 กันยายน 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่า ‘เห็นด้วย’ กับมาตรฐานจริยธรรม และการตรวจสอบพฤติกรรมตลอดจนการทุจริตของนักการเมือง แต่ทุกอย่างควรมีถ้อยคำเป็นรายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ไม่คลุมเคลือที่ประชาชนทุกคนเข้าใจและยึดถือปฏิบัติได้เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ 2 ครั้ง ในห้วง 2 วันที่ผ่านมา คือ วันที่ 18 และ 19 กันยายน 2567 โดยในการสัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งแรก มีคำสำคัญที่ถูกนำไปเสนอข่าวอย่างกว้างขวาง คือ ไม่ควรให้เรื่องจริยธรรมเกิดการตีความได้อย่างไม่มีขอบเขต จนกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของบางคนบางฝ่ายในการใช้ตีความให้เกิดผลร้ายทางการเมือง ส่วนการให้สัมภาษณ์ครั้งหลัง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยกตัวอย่างทำนองว่า แม้แต่ผู้พิพากษาเองอาจเคยเป็นผู้กระทำความผิดตอนที่เป็นเด็กก่อนอายุ 18 ปี มีประวัติอาชญากร แต่ก็สามารถเป็นผู้พิพากษาได้ เพราะ มีกฎหมายปกป้องเด็กเอาไว้ หากเด็กและเยาวชนกระทำผิดก่อนอายุ 18 ปี ไม่ให้บันทึกประวัติ จึงเหมือนเป็นการล้างโทษสามารถรับราชการเป็นตุลาการก็ยังได้ ซึ่งภายหลังคำสัมภาษณ์เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีบางฝ่ายหยิบบางช่วงบางตอนไปโจมตีและทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ล่าสุด พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ชี้แจงโดยย้ำว่า เห็นด้วยกับการตรวจสอบจริยธรรม รวมถึงพฤติกรรมส่อทุจริตต่าง ๆ แต่ต้องมีนิยามที่ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดการตีความมากเกินไปจนไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่อง “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “มาตรฐานจริยธรรม” ซึ่งวันนี้ถูกนำมาเป็นประเด็นทำลายล้างทางการเมืองอย่างกว้างขวาง
ส่วนการที่ตนยกตัวอย่างผู้พิพากษาเคยทำผิดเมื่อครั้งที่เป็นเยาวชนนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง และไม่ได้ต่อว่าใคร เพียงแต่ต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า ทุกเรื่องควรมีขอบเขตที่ชัดเจน อย่างเช่น การกระทำผิดในวัยเด็ก หรือช่วงที่เป็นเยาวชน พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว คุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชน ห้ามมิให้เปิดเผยหรือนำประวัติการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนป้องกันการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมแก่เด็กหรือเยาวชน ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้เด็กคนหนึ่งที่เคยกระทำผิดไม่ถูกเปิดเผยประวัติยังสามารถรับราชการในหน่วยงานรัฐต่างๆ บางคน เป็นถึงผู้พิพากษาได้ และทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมได้ ตนยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าทุกเรื่องควรมีขอบเขต นิยาม และบรรทัดฐานที่ชัดเจนเท่านั้น
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ‘องค์กรอิสระไม่ควรมีอำนาจมากเกินไป ควรอยู่ในจุดสมดุล แม้ว่าองค์กรอิสระมีไว้เพื่อถ่วงดุล แต่ควรอยู่ในกรอบที่มีความชัดเจน จะได้ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะสุดท้ายผลร้ายก็จะตกอยู่ที่องค์กรอิสระนั้นๆ เอง ส่วนการตรวจสอบทุจริต หรือการกระทำผิดนั้น ตนเห็นด้วยแน่นอน และไม่ได้คัดค้านแต่ประการใด’