กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) แถลงยุทธการ “ปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” ระดมกำลังตำรวจไทย 16 วัน รวบผู้ต้องหากว่า 2,000 คน
ตามที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยกำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ซึ่งนโยบายข้อที่ 9 กำหนดว่า “รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนโดยการเพิ่มการศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์ อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อได้อย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์”
ปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “คดีออนไลน์” มีสถิติการรับแจ้งความประมาณ 1,000 เรื่องต่อวัน คนร้ายมีการพัฒนารูปแบบและกลโกงที่แปลกใหม่และหลากหลาย ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก จากสถิติในระบบรับแจ้งความออนไลน์ ห้วงตั้งแต่วันที่
1 มีนาคม 2565 ถึง 31 สิงหาคม 2567 (รวม 2 ปี 6 เดือน) มีผู้เสียหายแจ้งความประมาณ 6 แสนเรื่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยคดีประเภทหลอกลวงซื้อขายสินค้า เป็นคดีที่เกิดขึ้นมากที่สุด
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปอส.ตร.) จัดทำ “โครงการสืบสวนหาข่าวในยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” โดยระดมกำลังตำรวจทั้งนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 – 9 ตำรวจสอบสวนกลาง และตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการระดมกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งการกระทำความผิดเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 – 27 กันยายน 2567 (รวม 18 วัน) ตามนโยบายของรัฐบาล
วันที่ 26 ก.ย.67 เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. จึงได้เรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด ตร. เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และร่วมแถลงผลการปฏิบัติร่วมกัน ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังในทุกมิติ ทั้งด้านการป้องกันปราบปราม การสืบสวนสอบสวน การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (ศูนย์ Anti Online Scam Operation Center หรือศูนย์ AOC) ซึ่งบูรณาการการทำงานแบบ One Stop Service และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย รวมทั้งกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง สำหรับการระดมกวาดล้างในยุทธการ “ปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิด ในความผิด 3 ประเภท โดยมีผลการระดมกวาดล้างจับกุมในห้วงวันที่ 10 – 25 กันยายน 2567 (รวม 16 วัน) สรุปได้ดังนี้
ความผิดในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเภทต่างๆ จับได้รวม 874 ราย
ความผิดเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า จับได้รวม 544 ราย
ความผิดการพนันออนไลน์ จับได้รวม 690 ราย
สำหรับซิมผี และบัญชีม้า ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่คนร้ายใช้ในการหลอกลวงและรับโอนเงินจากเหยื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชน ได้ตรวจสอบการใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และบัญชีธนาคารของตนเองอย่างจริงจัง ดังนี้
หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ขอให้ท่านตรวจสอบว่า หากเคยลงทะเบียนใช้งานไว้ แต่ไม่ได้ใช้งาน
หรือเคยให้ผู้อื่นนำไปใช้ หรือสงสัยว่าจะมีผู้อื่นนำไปใช้ ขอให้รีบไปแจ้งยกเลิกการใช้หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวกับศูนย์บริการเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ หากไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้ว่าท่านใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ไว้กี่เลขหมาย ขอให้ไปแจ้งกับศูนย์บริการ ว่าท่านขอใช้เฉพาะหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่กับตัวท่าน และใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ส่วนหมายเลขอื่นๆ ที่มีชื่อท่านเป็นผู้ลงทะเบียน แต่ท่านไม่ได้ใช้งาน ขอให้ศูนย์บริการยกเลิกการให้บริการหมายเลขดังกล่าวทั้งหมด
บัญชีธนาคาร ขอให้ทำการตรวจสอบในลักษณะคล้ายกัน คือ หากเคยเปิดบัญชีธนาคารไว้ แต่ไม่ได้ใช้ หรือเคยให้ผู้อื่นนำไปใช้ หรือสงสัยว่าจะมีผู้อื่นนำไปใช้ ขอให้รีบไปปิดบัญชีดังกล่าวกับธนาคารเจ้าของบัญชี สาขาที่ท่านสะดวก หากไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้ว่าท่านได้เปิดบัญชีไว้กี่บัญชี ขอให้ไปแจ้งกับธนาคารว่าท่านขอใช้เฉพาะบัญชีธนาคารที่อยู่กับตัวท่าน และใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ส่วนบัญชีอื่นๆ ที่อาจจะมีชื่อท่านเป็นเจ้าของบัญชีแต่ไม่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขอให้ธนาคารปิดบัญชีดังกล่าวทั้งหมด
หากทำการตรวจสอบกับศูนย์บริการเครือข่ายโทรศัพท์ หรือธนาคารแล้ว ยังไม่สามารถดำเนินการยกเลิกการใช้ หรือปิดบัญชีได้โดยเหตุต่างๆ ขอให้ท่านไปที่สถานีตำรวจที่สะดวกเพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่า ท่านได้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ และบัญชีธนาคารที่แท้จริงในปัจจุบันเป็นหมายเลขหรือบัญชีใด เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า และความผิดคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และขอย้ำเตือนว่า อย่าได้หลงเชื่อผู้ให้ผลตอบแทนในการเปิดซิมผีและบัญชีม้า เพราะท่านอาจจะตกเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดและได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งมีอัตราโทษกำหนดไว้ดังนี้
ความผิดเกี่ยวกับ “ซิมผี”
– ยินยอมให้ผู้อื่นนำหมายเลขโทรศัพท์มือถือของตนเองไปใช้ในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– เป็นธุระจัดหา โฆษณา เพื่อซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานไว้แล้ว มีโทษ
จำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดเกี่ยวกับ “บัญชีม้า”
– เปิดบัญชี หรือยินยอมให้ผู้อื่นนำบัญชีของตนเองไปใช้ในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– เป็นธุระจัดหา โฆษณา เพื่อซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืมบัญชี เพื่อนำไปใช้ในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะดำเนินการระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า อย่างจริงจังต่อเนื่อง และจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีกในเดือนต่อๆ ไป
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ เพื่อรู้เท่าทันภัยออนไลน์ได้ ผ่านช่องทางต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาทิ www.เตือนภัยออนไลน์.com เฟซบุ๊กแฟนเพจ : ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท., ตำรวจสอบสวนกลาง, สืบนครบาล IDMB เป็นต้น และหากพี่น้องประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงในคดีออนไลน์ หรือต้องการคำปรึกษา หรือสอบถามเกี่ยวกับคดีออนไลน์ ขอให้โทรติดต่อที่สายด่วน 1441 ของศูนย์ AOC ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th