วธ.ร่วมกับ 34 หน่วยงานจับมือสืบสาน “ประเพณีลอยกระทง” ปี 2567 ยกระดับงานด้วย 12 มาตรการ เน้นความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่องค์ความรู้ คุณค่าแต่ละท้องถิ่นให้หลากหลาย ยกระดับให้เป็น World Event และเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Winter Festival
กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดการประชุมคณะกรรมการการบูรณาการ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานลอยกระทง พุทธศักราช 2567 ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน มีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร วธ. และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และผ่านสื่อออนไลน์
นางสาวสุดาวรรณ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบูรณาการการจัดงานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2567 ครั้งที่ 1/2567 มีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กับ 34 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมได้รับทราบนโยบายของ วธ. ในการขับเคลื่อนงานประเพณีที่สอดคล้องกับ นโยบายรัฐบาลที่จะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว ส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ สนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) สร้างการรับรู้งานเฟสติวัลของไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ และนโยบายของ วธ. ในการส่งเสริมคุณค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่น ๆ ด้านวัฒนธรรมให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ยกระดับประเพณีลอยกระทงให้เป็น World Event ปีนี้จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานทั่วประเทศร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี สร้างความประทับใจ อำนวยความสะดวก ความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้เกิดความประทับใจกลับมาท่องเที่ยวไทยอีก สำหรับสถานที่จัดงานประเพณีลอยกระทงในปีนี้ ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญทั่วประเทศ เช่น วัดอรุณราชวราราม และอีกหลายจังหวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม ร้อยเอ็ด ลำปาง พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมกันเฉลิมฉลองวัฒนธรรมไทยในรูปแบบที่ทั้งสนุกสนานและยั่งยืน โดยที่ประชุมเห็นด้วยในการขอความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ อุบัติภัยจากพลุ และดอกไม้ไฟ อุบัติภัยจากโคมลอย รณรงค์ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่จัดงานประเพณีลอยกระทงและขณะขับขี่ยานพาหนะ การควบคุมป้องกันโรคติดต่อ ร่วมกันกำจัดขยะที่เกิดจากการสืบสานประเพณีลอยกระทง ตามแนวคิด Zero Waste การลดขยะให้เป็นศูนย์ เพื่อยกระดับให้ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สร้างสรรค์ และไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เชิญชวนคนไทยแต่งไทยหรือชุดท้องถิ่นมาร่วมงานประเพณีลอยกระทงและการประชาสัมพันธ์งานทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดต่าง ๆ
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้เน้นย้ำถึง 12 มาตรการสำคัญ ที่จะเปลี่ยนประเพณีลอยกระทงให้เป็นมากกว่าแค่การเฉลิมฉลอง แต่ยังคงรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในที่ประชุมมีมติเห็นชอบ โดยมีมาตรการสำคัญดังนี้
1. ส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากคุณค่าสาระของประเพณีลอยกระทง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ โดยใช้ทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่และยังคงความเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิม
2. ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและส่วนภูมิภาคต่าง ๆ พิจารณาจัดกิจกรรมในประเพณีลอยกระทง โดยเน้นเรื่องของคุณค่าสาระวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน การเปิดกว้างทางความคิด การเปิดรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์และเปิดรับความหลากหลายทางเพศ
3. รณรงค์ให้ประชาชนสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำเนื่องในเทศกาลประเพณีลอยกระทง เช่น การทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง การใช้วัสดุทำกระทงจากธรรมชาติ การทำกิจกรรมทางศาสนาและส่งเสริมการแต่งกายด้วยชุดไทย การแต่งกายด้วยชุดผ้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสนับสนุนศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินท้องถิ่นในการแสดงทางวัฒนธรรม เป็นต้น
4. ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่นและภาคประชาชนในการเผยแพร่สาระองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ
5. ส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชนในการสร้างความหวงแหนต่อประเพณีลอยกระทงในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
6. รณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีลอยกระทงโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การไม่คุกคามทางเพศ การเปิดรับความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
7. รณรงค์ให้ภาคประชาชนใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ในการร่วมกันเผยแพร่ความสวยงามของประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้
8. รณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามกฎจราจรและขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวังในช่วงเทศกาลประเพณีลอยกระทง
9. ดำเนินการจัดงานตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงการจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงเพื่อควบคุมและป้องกันโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ
10. รณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวตระหนัก ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ อุบัติภัยจากพลุ และดอกไม้ไฟ อุบัติภัยจากโคมลอย เป็นต้น
11. รณรงค์ให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและทุกภาคส่วน ร่วมกันกำจัดขยะที่เกิดจากการสืบสานประเพณีลอยกระทง ตามแนวคิด Zero Waste การลดขยะให้เป็นศูนย์ เพื่อยกระดับให้ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สร้างสรรค์ และไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ
12. รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม กำลังดำเนินการเก็บข้อมูลเทศกาลประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งจะช่วยยกระดับการจัดงานประเพณีลอยกระทงให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน