หน้าแรก Thai PBS อันตรายไร้สาย! เทคโนโลยีก่อความไม่สงบ AI – อุปกรณ์สื่อสาร

อันตรายไร้สาย! เทคโนโลยีก่อความไม่สงบ AI – อุปกรณ์สื่อสาร

49
0
อันตรายไร้สาย!-เทคโนโลยีก่อความไม่สงบ-ai-–-อุปกรณ์สื่อสาร
อันตรายไร้สาย! เทคโนโลยีก่อความไม่สงบ AI – อุปกรณ์สื่อสาร

“เพจเจอร์” เครื่องมือสื่อสารตกยุค ที่ในหลาย ๆ ประเทศเลิกใช้แล้ว กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธกลุ่มเฮสบอลเลาะห์ใช้สื่อสาร เกิดระเบิดทั่วประเทศเลบานอน ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บกว่า 3,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.ย. 2567)

แม้จะมีการคาดการณ์สาเหตุของการระเบิดในหลายประเด็น แต่มี 2 ข้อสันนิษฐานหลักที่มองข้ามไม่ได้ คือ การระเบิดมาจากการแฮ็กเข้าระบบปฏิบัติการของเพจเจอร์เพื่อทำให้เกิดความร้อนและความเสียหายที่ฮาร์ดแวร์อีกทอดหนึ่ง และการระเบิดมาจากการดัดแปลงฮาร์ดแวร์ในเพจเจอร์ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีการแทรกซึมผ่านการผลิตตั้งแต่ต้น

ข้อเท็จจริงสำคัญ แม้การก่อการร้ายโดยใช้ “อุปกรณ์การสื่อสาร” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พบว่า ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในยุค “Disruptive Technology” อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในการสั่งการ หลาย ๆ รูปแบบ และเป็นสิ่งที่หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ควรข้าม

ที่มา: Freepik

ที่มา: Freepik

“เทคโนโลยี” AI กับ ก่อความไม่สงบโลกยุคใหม่

แม้สถิติของ The Global Terrorism Database (GTD) จะชี้ให้เห็นอัตราการเสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบทั่วโลกในปี 2019 ว่ามีเพียงอัตราร้อยละ 0.05 จากสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก คิดเป็นอัตราส่วน 1:2,000 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การก่อความไม่สงบสร้างความหวาดกลัวและวิตกกังวลในประชาชนมากกว่าโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคปอดอุดตันเรื้อรัง ที่คร่าชีวิตมนุษย์เป็นอันดับที่ 1 ,2 และ 3 เสียอีก

โดยเฉพาะ การก่อความไม่สงบในโลกยุคปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนของการใช้เทคโนโลยีเพิ่มเข้ามาในการเป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบมากยิ่งขึ้น ข้อมูลของรายงานของ Global Internet Forum to Counter Terrorism (GIFCT) ที่ชื่อ Considerations of the Impacts of Generative AI on Online Terrorism and Extremism ระบุว่า การใช้งานดังกล่าวเน้นหนักไปที่ “Artificial Intelligence หรือ AI” เป็นสำคัญ ซึ่งมีวิธีการใช้งานทั้งหมด 4 ลักษณะ ได้แก่

  1. โฆษณาชวนเชื่อและการให้ข้อมูลเท็จ โดยวิธีการใช้งาน Deepfake ดัดแปลงคำพูดหรือข้อความจากผู้นำให้มีการเอนเอียงไปในทางตรงกันข้ามกับที่เป็นจริง หรือให้งาน Generative AI เพื่อสร้างภาพถ่ายปลอมเร้าอารมณ์ผู้รับสาร อาทิ ใช้ Deepfake ปลอมเสียงโจ ไบเดน ให้เป็นผู้ต่อต้านชาวอาหรับ หรือใช้ Generative AI เพื่อสร้างภาพถ่ายเด็กชาวอาหรับได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากทหารตะวันตก สิ่งเหล่านี้เร้าอารมณ์และกระตุ้นความรู้สึกร่วมต่อผู้รับสารได้ง่ายมาก
  2. บทบาทเชิงรุกในการหาสมาชิก โดยวิธีการใช้ AI Chatbot ตรวจจับผู้ใช้งานในแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่มีแนวโน้มทางอุดมการณ์ไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งได้ผลดีกว่าการจัดตั้งทีมค้นหาสมาชิกเพื่อโน้มน้าวอย่างตรงไปตรงมาที่อาจทำให้ผู้รับสารรู้สึกหวาดวิตกกว่าการนั่งสนทนากับ Chatbot
  3. ยุทธภัณฑ์สั่งการด้วย AI โดยวิธีการสั่งการอาวุธสงครามระยะไกลผ่าน AI อาทิ การควบคุมโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ สำหรับการสอดแนมและข่าวกรอง วิธีการนี้นอกจากจะไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล การใช้ AI ควบคุมยังสามารถสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ เพื่อการเคลื่อนไหวด้วยตนเองของยุทธภัณฑ์ ทำให้ยากต่อการป้องกันและรับมือของฝ่ายรัฐ
  4. จัดตั้งกลุ่มเปราะบาง คล้ายกับข้อแรก แต่จะเน้นไปที่บรรดาผู้เยาว์และชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก เพราะการกลั่นกรองหรือใช้วิจารณญาณในการรับสารยังไม่เต็มที่ ทั้งยังห่างไกลต่อเทคโนโลยี ทำให้สามารถสอนและจัดตั้งได้ง่าย AI จะเข้ามาช่วยในเรื่องการออกแบบวิธีการสอนและจัดตั้งกลุ่มเหล่านี้ให้มีความจงรักภักดีต่อกลุ่มก่อความไม่สงบ เพื่อเป็นกำลังหน้าด่านในการสอดแนมและเป็นสายสืบในอนาคต

ที่มา: Freepik

ที่มา: Freepik

โดยอัตราความสำเร็จของการก่อการร้ายด้วย AI นั้น ในช่วงปี 2023 อยู่ที่ร้อยละ 50 จากความพยายามทั้งหมด 2,250 ครั้ง แพล็ตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ Perplexity AI ในอัตราร้อยละ 75 รองลงมา คือ Nova AI ที่ร้อยละ 54 ส่วน ChatGPT4 ที่ได้รับความนิยมลำดับต้น ๆ ของโลกนั้น ผู้ก่อความไม่สงบใช้งานและประสบความสำเร็จในอัตราร้อยละ 38 เท่านั้น

และจะเห็นได้ว่า 3 จาก 4 ลักษณะการใช้งานเป็นไปในลักษณะ “เชิงรับ” เน้นใช้ AI เพื่อสร้างหรือโน้มน้าวใจให้เข้ามาเป็นสมาชิกมากกว่า “เชิงรุก” แบบการสั่งการอาวุธโดรน

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลและสถิติที่ชี้ชัดว่า กลุ่มก่อความไม่สงบมีอัตราการใช้เทคโนโลยีมากเพียงใดเมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ แต่สิ่งที่บ่งชี้ถึงความอันตราย อาจพิจารณาได้จากความกังวลด้านการต่อต้านการก่อความไม่สงบทางเทคโนโลยี AI ที่เพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลของ The Economist พบว่า สมาชิกนาโต (NATO) มีการทุ่มงบประมาณต่อต้านการก่อความไม่สงบประมาณ 918,000 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วคิดเป็นกว่าร้อยละ 2 จากจีดีพีในแต่ละประเทศสมาชิก ยกว้นสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราร้อยละ 4-5 จากจีดีพีของประเทศ หากเทียบกับสัดส่วนงบประมาณด้านกิจการสาธารณะ (Public Services) โดยเฉลี่ยของแต่ละประเทศในโลก หรือประมาณร้อยละ 1.8 ของจีดีพี

ขณะที่ข้อมูลของ Global Terrorism Index 2023 ชี้ให้เห็นว่า รูปแบบการก่อความไม่สงบโดยหลักในช่วงปี 2012 – 2022 ยังคงเป็นรูปแบบดั้งเดิม คือ การวางระเบิดและการกราดยิง ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มมีการใช้อาวุธมีดและของมีคมเพิ่มมากขึ้นในอัตราร้อยละ 3 หมายความว่า แม้เทคโนโลยีจะมีการใช้เพื่อก่อความไม่สงบ แต่ไม่ได้มากพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ก่อความไม่สงบจะใช้งานเสมอไป

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถิติของ Global Terrorism Database 1970-2015 จะพบว่า การก่อการร้ายด้วย “อาวุธเคมี” กลับมีอัตราการเพิ่มขึ้นแทบจะที่สุดในรอบ 40 ปี หรือร้อยละ 5 จากจำนวนการก่อความไม่สงบทั้งหมดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 สู่ร้อยละ 30 จากจำนวนการก่อความไม่สงบทั้งหมดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2010 หรือเพิ่มขึ้นในอัตรา 6 เท่า ซึ่งมาตรการป้องกันและปราบปรามที่รัฐทุ่มงบประมาณต่อการก่อความไม่สงบและวิธีการการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจริงนั้น “ไม่สัมพันธ์กัน”

ที่มา: Freepik

ที่มา: Freepik

“ล้วงข้อมูล-ปล่อยไวรัส” เครื่องมือก่อการร้าย “ทางกายภาพ”

สำหรับอันตรายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้ายโดยใช้เทคโนโลยีนั้น แม้จะมี “ผลลัพธ์” ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและความมั่นคงส่วนบุคคล แต่ไม่ได้ทำอันตราย “ทางกายภาพ” เช่น การใช้มัลแวร์หรือแรนซัมแวร์เพื่อดึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ สร้างความวิตกกังวลในโลกออนไลน์ของผู้ก่อความไม่สงบ และไม่ได้ทำให้ผู้คนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต

จากสถิติ GTD ตั้งแต่ปี 1970 – 2021 ชี้ให้เห็นว่า เหยื่อเสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบด้วย “ระเบิด” มากที่สุด จำนวน 695,094 คน จากจำนวนผู้เสียชีวิต 1,866,840 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 37.23 จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบทั้งหมด (รองลงมานั่นคือเสียชีวิตด้วย “อาวุธ” จำนวน 680,869 คน) หมายความว่า การก่อความไม่สงบไม่ว่าอย่างไรย่อมต้องคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ความเสียหายทางกายภาพอยู่เสมอ

ส่วนสถิติของ Chicago Council Survey ระบุว่า การก่อความไม่สงบในฐานะ “ภัยคุกคามขั้นรุนแรง” มีอัตราการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ลดจากอัตราร้อยละ 84 ในปี 1998 ลงมาอยู่ในอัตราร้อยละ 58 ในปี 2022 หรือมีอัตราลดลงกว่าร้อยละ 1.45 เท่าในระยะเวลา 24 ปี

ที่มา: Chicago Council Survey

ที่มา: Chicago Council Survey

สอดคล้องกับข้อมูลของ GTD ที่ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา อัตราเกิดการก่อความไม่สงบต่ออัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิต มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการก่อความไม่สงบด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ ในการระเบิดหรือใช้อาวุธมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

หมายถึง การก่อความไม่สงบเผชิญกับปัญหา 2 ประการ คือ การใช้ AI เพื่อการก่อการร้ายไม่ได้ส่งผลกระทบทางกายภาพ ส่วนการก่อความไม่สงบที่ส่งผลกระทบทางกายภาพแบบเดิม ๆ ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี

เพจเจอร์ “โจทย์” ก่อการร้ายทางกายภาพ

ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลเพียงใด แต่เพจเจอร์ยังคงถูกใช้งานอยู่ โดยเฉพาะบรรดาแพทย์ หน่วยกู้ภัย หรือเครือข่ายการค้ายาเสพติด ด้วยว่า เพจเจอร์ใช้งานโครงข่ายคลื่นวิทยุความถี่สูง (Ultra High Frequency: UHF) ในการรับส่งสัญญาณ และเป็นคลื่นที่มีความเสถียรอย่างมาก จนการแฮ็กเพื่อดักฟังหรือดูดข้อมูลแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ดังนั้น เพจเจอร์จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่กลุ่มก่อความไม่สงบเลือกใช้ เหตุผลมีความปลอดภัยและหากต้องใช้ในการปฏิบัติการลับ ๆ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ หรือกลุ่มต่อต้านไม่สามารถล้วงข้อมูลได้

จากสถิติของ Pagers Market Report 2024 ชี้ให้เห็นว่า อัตราการเติบโตทางตลาดของเพจเจอร์อยู่ที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี สอดคล้องกับสถิติของ Coolest-gadgets ระบุว่า เพจเจอร์ประเภท “Walkie-talkie” ที่ผู้ก่อความไม่สงบนิยมใช้งาน มีอัตราการเติบโตร้อยละ 9 ซึ่งส่วนมากอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก และมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 49 จากเพจเจอร์ทุกประเภท

แม้จะมีความปลอดภัยด้านการแฮ็ก แต่ด้วยความที่เพจเจอร์นั้นเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม การผลิตมีจำนวนน้อยมาก มีผู้ประกอบการไม่กี่รายที่ดำเนินกิจการ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดการแทรกซึมเข้าไปดัดแปลงแก้ไข “ฮาร์ดแวร์” ให้มีความปลอดภัยลดลงได้ สิ่งนี้เรียกว่า “การโจมตีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Attack)”

จากเหตุระเบิดของเพจเจอร์ มีการตรวจพบ วัตถุระเบิดขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 10-20 กรัม ซุกซ่อนอยู่ในฮาร์ดแวร์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เพจเจอร์จะผลิตออกมาในลักษณะไร้ความปลอดภัยเช่นนี้ จึงเป็นไปได้ว่า มีการทำอะไรบางอย่างตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต

และเมื่อขั้นตอนแรกผิดปกติมาตั้งแต่ต้น ทำให้การแฮ็กเข้าระบบเพจเจอร์เพื่อจุดชนวนระเบิดจึงไม่ใช่เรื่องยาก สอดคล้องกับข้อมูลจาก The Wall Street Journal ที่ระบุว่า มีการจุดชนวนระเบิดด้วยข้อความตัวเลขประสมตัวอักษรที่ผู้แฮ็กใส่ไว้ล่วงหน้า และจะทำงานก็ต่อเมื่อมีการกดใช้งานของผู้ใช้ในครั้งถัดไป

เฝ้าระวัง “เทคโนโลยี”ใช้ก่อการร้ายในไทย

การใช้เทคโนโลยีตกยุค เป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบและสังหารผู้คน เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกตะวันออก แต่สำหรับประเทศไทย ไม่เคยพบว่ามีใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เช่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงพบว่า การใช้อาวุธประเภทปืนและระเบิดลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่

เช่น การจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ด้วยการการลากสายไฟและแบตเตอรี่วิทยุสื่อสาร รีโมทคอนโทรล ในการจุดระเบิด ส่วนระบบตั้งเวลา ได้แก่ ใช้นาฬิกาตั้งเวลาแบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้วงจรตั้งเวลาแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเวลาจากโทรศัพท์มือถือ ตั้งเวลาจากระบบการเผาไหม้ (ยากันยุง) เป็นต้น

พรสวรรค์ อุดมฤทธาวุธ เปิดเผยข้อมูลในวิทยานิพนธ์ การวิเคราะห์รูปแบบและวิธีก่อเหตุระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไว้ว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปี 2552-2553 การระเบิดที่ใช้ “การจุดระเบิด” รวมทั้งหมดจำนวน 545 ครั้ง คิดเป็นอัตราร้อยละ 26.1 จุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือมีมากที่สุดด้วยจำนวน 142 ครั้ง ส่วนการใช้วิทยุสื่อสารซึ่งนับรวมเพจเจอร์ walkie-talkie เข้าไปด้วย มีจำนวน 59 ครั้ง คิดเป็นอัตราร้อยละ 10.8

แต่จากสถิติการประสบความสำเร็จของการก่อความไม่สงบด้วยเหตุระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ในปี 2552-2553 พบว่า มีเพียง 56 ครั้ง และสร้างความเสียหายได้เพียง 22 ครั้ง หมายความว่า ร้อยละของความสำเร็จนั้นต่ำกว่าร้อยละ 4 เลยทีเดียว

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่