วันนี้ (27 ก.ย.2567) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หลังเกิดเหตุอุทกภัย จ.เชียงราย
โดยทันทีที่นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางมาถึงในเวลา 16.00 น. ได้ร่วมติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 5 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยประกอบด้วย จ.ลำปาง พะเยา สุโขทัย เชียงใหม่ และหนองคาย
นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดตามข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ทั้งในเรื่องน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ที่มีปัญหาอยู่ต่อเนื่องและมีการสั่งการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูและการสาธารณสุขต่างๆ ที่ต้องตามมา
นอกจากยังมีการรับบริจาคเงินและสิ่งของต่างๆ จากทางภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชน ต้องขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ช่วยเหลือประชาชนกันอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะขอความช่วยเหลือไปทางไหนก็ตามา ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งปกครอง มั่นคง และอาสาสมัคร ทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีระบุว่า ตนมาในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาล มาตรวจราชการและมาประชุมในพื้นที่ จ.เชียงราย โดยในช่วงเย็นนี้จะไปให้กำลังใจ และไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงราย
ส่วนวันพรุ่งนี้จะมีการลงพื้นที่ที่ อ.แม่สาย และไปต่อที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของน้ำที่เข้ามาในพื้นที่ จ.เชียงราย ที่ค่อนข้างหนัก รวมถึงดินโคลนถล่ม เป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับความลำบาก รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดการจ่ายค่าเยียวยาให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด ซึ่งได้รับรายงานว่า มีบางส่วนได้รับเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 3,000 ครอบครัว และหลังจากนี้จะค่อยๆพิจารณาตามความเหมาะสม และมีอีกหลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่สำรวจความเสียหายที่ใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง
ส่วนพื้นที่ที่ดินโคลนติดค้างในบ้านเรือนได้มีการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน แบ่งโซนความรับผิดชอบ เพื่อความทั่วถึงและชัดเจน ว่าส่วนใดได้รับการดูแลไปแล้วบ้าง และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ พร้อมขอให้ส่วนราชการอื่นๆสนับสนุนเครื่องจักรและเครื่องมือ อัตรากำลังพล เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง และขอบคุณทางกรุงเทพฯที่ส่งเครื่องจักรมาให้ ในการช่วยเหลือกำจัดดิน
ขณะที่กระทรวงการคลังเตรียมเรื่องซอฟท์โลน สำหรับการฟื้นฟูกิจการ และซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายกลุ่ม Micro SME ขึ้นไป รวมไปถึงบุคคลธรรมดา และการกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดและซ่อมแซมให้กับผู้ประสบภัยจำนวนมาก รวมถึงสินค้าธงฟ้าในราคาประหยัด เพื่อให้ประชาชน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ สำหรับประชาชนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆที่ยังมีน้ำท่วม รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมประชุมในครั้งนี้เพื่อสรุปสถานการณ์ หาแนวทางเยียวยาฟื้นฟูต่อไป
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ตั้ง ศปช.ปฏิบัติการส่วนหน้า หรือ ศปช.ส่วนหน้า เพื่อเป็นศูนย์สั่งการ และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย เป็นประธาน และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เป็นที่ปรึกษา และให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษก ให้ปฏิบัติงานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีส่วนกลางช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยให้มีการระดมพลผ่านทางกระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับอาสาสมัคร และหน่วยงานเอกชนต่างๆ
ส่วนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขต อ.เมือง และ อ.แม่สาย ให้กระทรวงมหาดไทย ให้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ (zoning) เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชุมติดตามผลการดำเนินงานและปัญหา อุปสรรค ต่างๆจากหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบแต่ละโซนทุกวัน เพื่อรายงานไปยัง ศปช. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหา ให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ต่อไป โดยทางรัฐบาลขอตั้งเป้าหมายในพื้นที่ที่ได้เริ่มเยียวยาแล้วภายในวันที่ 20 ต.ค.2567 นี้ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน
สำหรับระบบเตือนภัย ขอให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเร่งรัดดำเนินการทั้งในพื้นที่นี้ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยงให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปีหน้า
อ่านข่าว :