‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม. เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันภาษามือโลกและงานสัปดาห์หูหนวกโลก ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “Sign Up for Sign Language Right” ร่วมรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ใช้ภาษามือ
วันนี้ (28 กันยายน 2567) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันภาษามือโลกและงานสัปดาห์หูหนวกโลก ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “Sign Up for Sign Language Right” ร่วมรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ใช้ภาษามือ โดยมี นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวง พม. คณะผู้บริหารสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และผู้แทนภาคีเครือข่ายคนพิการหูหนวก เข้าร่วมงาน ณ บริเวณลานจอดรถเดอะสตรีท (The Street) รัชดา กรุงเทพฯ
‘วราวุธ’ รมว.พม. ระบุ รัฐบาลมีนโยบายยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดการเลือกปฏิบัติ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสร้างเสริมโอกาสให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการหูหนวกและคนหูตึงจะต้องเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและบริการของรัฐ พร้อมกันนี้ยังมีการสร้างเสริมศักยภาพคนพิการหูหนวก และสร้างความเข้มแข็งขององค์กรคนหูหนวก ภายใต้นโยบายและทรัพยากรของรัฐที่เอื้ออำนวยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และดำรงชีวิตได้อย่างเสมอภาคกับทั่วไปในสังคม
งานวันนี้สามารถเป็นต้นแบบของการจัดการเข้าถึงระหว่างคนทั่วไปกับคนพิการหูหนวก เราได้เห็นความพยายามเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง และลดอุปสรรคในการสื่อสาร เพื่อพิสูจน์ว่าคนพิการหูหนวกมีความสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเองผ่านกิจกรรม อาทิ การแสดง การประกวดภาษามือ ความสามารถด้านการทำงานวิชาการ การออกบูธแสดงผลงานและความสามารถในการประกอบอาชีพด้วย
ยิ่งได้สัมผัสคนพิการหูหนวกบ่อยๆ ทำให้ผมคิดว่าคนหูหนวกไม่ได้เป็นคนพิการ เพียงแต่เราไม่เข้าใจภาษาของเขาเท่านั้น ในขณะเดียวกันพี่น้องคนหูหนวกนั้นมีความได้เปรียบในการทำงานบางพื้นที่และในบางลักษณะงาน ผมจึงตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ได้รับตำแหน่ง รมว.พม. แล้วครับ ว่าเราจะต้องช่วยกันพัฒนาภาษามือของไทย ทำให้คนไทยรวมถึงพี่น้องคนพิการและพี่น้องคนหูหนวกนั้น ได้เข้าใจภาษามือมากขึ้น เพราะวันนี้พี่น้องคนหูหนวกหรือพิการทางการได้ยิน มีอยู่ประมาณ 4 แสนกว่าคน แต่มีคนเข้าใจภาษามือเพียงแค่ 1 แสนคนเท่านั้น ดังนั้นยังเหลืออีกประมาณ 3 แสนกว่าคน ที่จำเป็นต้องเรียนรู้และสื่อสารกับคนภายนอก และเมื่อทำได้อย่างนั้นแล้ว พี่น้องคนหูหนวกจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย พัฒนาเศรษฐกิจไทย เพราะวันนี้คำว่าความสำเร็จทางธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าต้องมีกำไรมากอีกต่อไป แต่หมายถึงการพัฒนาธุรกิจไปข้างหน้า ทำให้สังคมเดินไปข้างหน้า โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง