วันนี้ (30 ก.ย.2567) การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของวุฒิสภา ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จในวันนี้ มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่วุฒิสภา จะเห็นชอบตามที่กรรมาธิการวิสามัญเสนอ
โดยให้กำหนดเสียงการออกประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้นหรือ Double Majority หมายถึงการออกเสียงนั้น ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงต้องออกมาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด และผลลัพธ์จะต้องเป็นเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ
นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้แปรญัตติเพิ่ม ซึ่งกรรมาธิการเห็นด้วยและแก้ไขตาม แม้ว่ากรรมาธิการในสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎรจะสงวนความเห็นตามร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ
ยืนยันไม่ได้เป็นการยื้อการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะหากจะมีผู้เสนอทำประชามติก็สามารถทำได้
โดยใช้กฎหมายประชามติฉบับปัจจุบัน ซึ่งตามหลักการก็ผ่านการทำประชามติมาแล้ว 2 ครั้ง คือรัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 ก็ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะการทำประชามติปี 2550 ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 45 ล้านคน ก็มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึง 29 ล้านคน
ส่วนปี 2559 ผู้ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 50 ล้านคน ก็มีคนที่ออกมาใช้สิทธิ์มากถึง 31 ล้านคน ดังนั้นเห็นว่าเสียงข้างมากสองชั้นไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นหลักที่ชอบธรรม
สำหรับการออกเสียงประชามติร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกจากการปรับให้มีการใช้เสียงผ่านประชามติข้างมาก 2 ชั้นตามเดิมแล้ว ยังมีการปรับแก้มาตรา 3 แก้ มาตรา 10 ให้ทำประชามติอยู่ในวันเดียวกับวันเลือกตั้งทั่วไป หรือวันเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น กรณีครบวาระ
ส่วนมาตรา 4 กำหนดให้ผู้เข้าชื่อเสนอการทำประชามติไม่น้อยกว่า 50,000 คนสามารถชวนผู้มีสิทธิ์ ร่วมเข้าชื่อผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้
ขณะเดียวกัน มาตรา 6 กำหนดให้การทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยมีวิธีป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนเข้าถึงได้สะดวก โดยมาตรา 8 กำหนดให้การทำข้อมูลเผยแพร่นั้นต้องมุ่งหมายให้ประชาชนมีความเข้าใจเท่านั้นห้ามชี้นำให้มีการออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ด้านนายนิกร จำนง กรรมาธิการฯ สัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎร กล่าว่า หากวุฒิสภา เห็นชอบตามร่างกรรมาธิการก็จะต้องส่งเรื่องกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 ต.ค.นี้ ว่า สภาจะเห็นชอบตามร่างของวุฒิสภา หรือจะยืนยันตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร
หากยืนยันตามร่างของสภาก็จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมกันขึ้นมาพิจารณาศึกษาฝ่ายละ 10 คน คือวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้กรอบพิจารณาไม่เกิน 45 วันนับจากวันที่ตั้งกรรมาธิการ
อ่านข่าวอื่นๆ
ผลตรวจทอง “แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์” ต่ำกว่ามาตรฐาน-จ่อออกหมายจับ