นั่งแทนลำดับ 12 ในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว สำหรับ “พ.ต.อ.ยุทธนา แพรดำ” หลังอยู่ในตำแหน่งรักษาอธิบดีดีเอสไอ เกือบ 10 เดือน แม้ดีเอสไอ ไม่ใช่กรมใหญ่ แต่ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่เคยปล่อยมือจากดีเอสไอ ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ รมว.กระทรวงยุติธรรม
แต่กลับให้ดีเอสไอ เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับสำนักนายกฯ ส่วนอีก 15 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม นอกจากจะมีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงควบคุม ยังอยู่ภายใต้การกำกับของ “รองนายกฯ” ที่ได้รับมอบหมาย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้มอบหมายให้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ กระทรวงยุติธรรม ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพียงหน่วยงานเดียวจากทั้งหมด ก่อนที่เศรษฐา จะตกจากเก้าอี้นายกฯ ดีเอสไอกำลังมีคดีร้อนจากปมคดีลักลอบนำเข้าหมู ไก่เถื่อน เป็นเหตุให้มีการเรียก “พ.ต.อ.สุริยา สิงหกมล” อธิบดีดีเอสไอ ในขณะนั้น เข้าไปหลายต่อครั้ง และในที่สุดก็นำมาซึ่งการเด้งอธิบดีดีเอสไอคนที่ 11 พ้นจากตำแหน่ง
เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ดีเอสไอ ยังเป็นหน่วยงานเดิม ที่รัฐบาลไม่ยอมปล่อยมือ โดยให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ทำหน้าที่กำกับดูแล กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
และไฟเขียวให้ “รองแพร” หรือ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ขยับเป็นอธิบดีดีเอสไอ โดยพ.ต.อ.ยุทธนา ถือเป็น “น้องเลิฟ” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และอดีตอธิบดีดีเอสไอ โดยก่อนที่จะโอนย้ายมาอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในยุคก่อตั้งเมื่อปี 2547 ทั้ง พ.ต.อ.ทวี และ พ.ต.ต. ยุทธนา เคยอยู่กองบังคับการปราบปราม หรือ กองปราบ ก่อนโอนย้ายมาดีเอสไอ เคยได้รับรางวัล พนักงานสอบสวนดีเด่นของ กองปราบปราม ต่อมาเมื่อโอนมาอยู่ดีเอสไอ ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2547 ในตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระดับ 6
พ.ต.ต.ยุทธนา เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 49 (นรต.49) ถือเป็นมือขวาคนหนึ่งของ พ.ต.อ.ทวี ในการทำคดีสำคัญ ๆ เคยถูกส่งลงไปประจำการที่ศูนย์ปฎิบัติการภาคดีเอสไอ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เติบโตมาตามลำดับเป็น ผอ.สำนักคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เคยรับผิดชอบคดีสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น คดีฟอกเงินบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คดีรถยนต์สำแดงราคาต่ำเพื่อเลี่ยงภาษี, คดีรถเมล์ NGV เป็นต้น
และยังร่วมทำคดีในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น คดีก่อการร้ายเมื่อปี 2553 คดีชุมนุม นปช.คนเสื้อแดง และคดี กปปส.การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง
ในปี 2557 ยุค “ธาริต เพ็งดิษฐ์” เป็นอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.ยุทธนา ในฐานะพนักงานสอบสวนใยขณะนั้น ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส. พร้อมแกนนำ กปปส. รวม 16 คน ในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา11(1) ต่อมาเมื่อขยับเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.ยุทธนา ได้เข้ามากำกับดูแลคดี คดีโกงหุ้นสตาร์ค (STARK) หมื่นล้านบาท, คดีปั่นหุ้นมอร์ (MORE) และคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ รวมทั้งคดีอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง
กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 ครม.มีมติแต่งตั้ง พ.ต.ต.ยุทธนา เป็นอธิบดีดีเอสไอ คนใหม่ ..ในวัย 53 ปี ถือว่า มีเส้นทางที่น่าจับตามองไม่น้อย
อ่านข่าว : โอกาส-รายได้-ความเสี่ยง ? เรื่องจริงที่ต้องรู้ก่อนเข้าทีม “ขายตรง”