หน้าแรก Voice TV นายกฯ แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมาชิกอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมภูมิภาคเอเชียตะวันออก

นายกฯ แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมาชิกอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมภูมิภาคเอเชียตะวันออก

53
0
นายกฯ-แพทองธาร-กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมาชิกอาเซียนและจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-เพื่อส่งเสริมภูมิภาคเอเชียตะวันออก
นายกฯ แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมาชิกอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมภูมิภาคเอเชียตะวันออก

นายกฯ แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมาชิกอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมภูมิภาคเอเชียตะวันออก เน้นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ สร้างความมั่นคงทางอาหาร การจัดการน้ำ และสร้างเสถียรภาพทางการเงินเป็นประเด็นสำคัญของไทย ในเวทีประชุม

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2567) เวลา 14.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three: APT) ครั้งที่ 27 โดยมีผู้นำประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมโดยภายหลังเสร็จสิ้น

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเลขาธิการอาเซียน ในการรายงานความคืบหน้า ความร่วมมือของ APT และขอบคุณสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่ง APT จะยังคงมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเน้นย้ำถึง 3 ประเด็นสำคัญในการส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และเจริญรุ่งเรือง ดังนี้

ประการแรก “การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ ”โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ ที่บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ที่ผู้บริหารยุคดิจิทัล สมัยใหม่ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับยุคดิจิทัล เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนโครงการของ APT เพื่อจัดการกับปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์และการหลอกลวงทางออนไลน์ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติกับประเทศคู่เจรจา+3 (ASEAN Senior Officials’ Meeting on Transitional Crime Plus Three: SOMTC+3) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว

 ประการที่สอง การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรน้ำ มีความสำคัญเร่งด่วนในการจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในฐานะที่ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) ไทยพร้อมสนับสนุนการขยาย APTERR เพื่อรองรับการสำรองอาหารหลักประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและความเชี่ยวชาญจากประเทศคู่เจรจา+3 โดยเฉพาะด้านการเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำ

สำหรับประการที่สาม นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน ผ่านการจัดตั้ง Rapid Financing Facility ภายใต้มาตรการริเริ่มที่จังหวัด เชียงใหม่ของไทย ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralism: CMIM) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน ตลอดจนการสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในกลไกของ APT ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นภายใต้โครงการ Asian Bond Markets Initiative   

นอกจากนี้ ในปี 2568 นี้ประเทศไทยจะเป็นประธานกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ซึ่งมีประเทศอาเซียน +3 เป็นสมาชิกทั้งหมด โดยประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเจรจาและความร่วมมือทางการเงินภายใต้กรอบ ACD เพื่อผลักดันการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาของสหประชาชาติ ต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ความพยายามร่วมกันของ APT จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศคู่เจรจา +3 โดยอาเซียนพร้อมสนับสนุนความร่วมมือไตรภาคีที่ดีอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันเชิงบวกที่ประสานพลังในกรอบ APT มากขึ้น นายจิรายุกล่าวสรุป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่